×

BAM เพิ่มงบซื้อหนี้เป็นมากกว่า 1 หมื่น ลบ. จับตางบ Q1 อ่อนแอ

โดย efinanceThai
14.05.2020
  • LOADING...

‘บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์’ ประกาศเพิ่มงบซื้อหนี้เสียปีนี้ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท  จากเดิมวางงบ 7 พันล้านบาท หลังคาดการณ์ธนาคารพาณิชย์จะแห่ขายหนี้เสียมากขึ้น พร้อมยอมรับรายได้ปีนี้ชะลอตัวจากปีก่อน หลังลูกค้าขอปรับโครงสร้างหนี้ ‘โบรกเกอร์’ มองงบไตรมาส 1/63 อ่อนแอ หลังไม่มีการขายสินทรัพย์และมีภาระภาษีฉุด แต่เซอร์ไพรส์ตลาดหลังถูกเข้าคำนวณดัชนี MSCI รอบใหม่ 

 

เพิ่มงบซื้อหนี้ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท

บรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยกับ ‘สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย’ ว่า ปีนี้บริษัทได้เพิ่มงบซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) เป็นมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่วางไว้ 7 พันล้านบาท จากปีก่อนใช้งบซื้อหนี้ 1.2 หมื่นล้านบาท ล่าสุดบริษัทซื้อหนี้จากสถาบันการเงินมาแล้ว 6 พันล้านบาท เงินที่จะนำไปซื้อจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัท

 

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ยอมรับว่าการซื้อหนี้เข้ามาบริหารอาจต้องใช้เวลามากขึ้น จากเดิมเมื่อซื้อหนี้มาแล้วจะสามารถเจรจากับลูกหนี้ได้ทันที แต่สถานการณ์ปัจจุบันทำให้บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บหนี้ไว้ให้นานมากขึ้น หรือมากกว่า 1 ปี เพราะต้องช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตั้งหลักเพื่อที่จะกลับมาผ่อนชำระได้ ดังนั้นการเก็บทรัพย์ไว้นานขึ้น จึงอาจทำให้รายได้ที่เคยรับรู้หายไปหรือลดลง

 

รายได้ปีนี้ชะลอ

บรรยงยอมรับว่า รายได้ปีนี้จะลดลงจากปีก่อน ที่มีรายได้ 12,256.87 ล้านบาท เนื่องจากลูกค้าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อความสามารถในการผ่อนชำระ

 

ปัจจุบันมีลูกค้าได้เข้ามาขอปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ลดการผ่อนชำระค่างวด หรือลดดอกเบี้ยจำนวนมาก โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทมีการเติบโตทางด้านสินทรัพย์และรายได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งปีก่อนสินทรัพย์เติบโต 7-10% รายได้เติบโต 7-10% เช่นกัน  

 

“ปีนี้รายได้คงไม่โต เพราะเราต้องช่วยลูกค้าในยามที่ลำบาก แน่นอนการลดค่างวด ลดดอกเบี้ย กระทบรายได้ กระทบผลการดำเนินงานของเราอยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าในยามที่ลูกค้าดีขึ้น เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว รายได้เราก็จะกลับมาเป็นปกติ อีกอย่างปีก่อนเรามีรายได้พิเศษก้อนใหญ่มา 5 พันล้านบาท ทำให้ฐานปีก่อนสูงมากกว่าปกติ” บรรยงกล่าว

 

จ่อออกหุ้นกู้ 2 หมื่นล้านบาทลดต้นทุน

บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำเงินมาซื้อหนี้ และบริหารต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลง ซึ่งการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้จะต้องได้รับการอนุมัติจากการประชุมผู้ถือหุ้นที่จะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้

 

“เราไม่ได้ออกทีเดียว 2 หมื่นล้านบาท แต่เป็นการขอวงเงินไว้ และจะทยอยออกหุ้นกู้เป็นล็อตๆ เพื่อนำเงินที่ได้ไปซื้อหนี้ เพราะเชื่อว่าแบงก์จะขายหนี้ออกมามากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่เราจะเข้าไปประมูล และอีกส่วนหนึ่งเราจะไปรีไฟแนนซ์ หรือทำให้ต้นทุนทางการเงินเราถูกลง เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง” บรรยงกล่าว

 

โบรกฯ มอง Q1/63 งบอ่อนแอ

บล.ทิสโก้ คาดผลประกอบการไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 577 ล้านบาท ลดลง 82% YoY และ 65% QoQ เนื่องจากไม่มีการขายสินทรัพย์ และมีภาษี 20% รวมถึงเศรษฐกิจที่อ่อนแอ นอกจากนี้มีการตั้งสำรอง 1.8 พันล้านบาท จาก IFRS9 แต่จะเป็นรายการพิเศษไม่ผ่านงบกำไรขาดทุน แต่จะมีรายการ Greenshoe 3.2 พันล้านบาท ทำให้ส่วนของเจ้าของเพิ่มขึ้น 1.4 พันล้านบาท และไม่คาดว่า BAM จะรับรู้ภาษีรอการตัดบัญชีในไตรมาสนี้ แต่คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นครึ่งปีหลังนี้ ทำให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นในอนาคตหนุนผลประกอบการ และด้วยการซื้อสินทรัพย์ราคาถูกเพิ่มขึ้น 

 

ยังแนะนำให้ ‘ซื้อ’ โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 29 บาท เนื่องจากราคาหุ้นที่ไม่แพง และ การย่อตัวเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าสะสม

 

บล.ทรีนีตี้ คาดกำไรไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 684 ล้านบาท อ่อนตัว 59% QoQ และ 79% YoY โดยในไตรมาสนี้มีประเด็นสำคัญ คือการปรับเปลี่ยนมาตรฐานบัญชี ซึ่งทำให้คาดว่าจะเห็นรายได้จาก NPL เพิ่มขึ้น เนื่องจากภายใต้ TFRS9 จะต้องรับรู้รายได้ตามเกณฑ์คงค้าง (EIR) จาก NPL ที่มีหลักประกัน จากที่เมื่อก่อนจะรับรู้รายได้เมื่อได้รับกระแสเงินสด (เช่น รับชำระหนี้ หรือขายทอดตลาดหลักประกัน) เท่านั้น

สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 2/63 อาจเห็นผลกระทบที่มากขึ้น เนื่องจากในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้กรมบังคับคดีที่บริษัทประมูลขายทรัพย์หลักประกันต้องหยุดให้บริการชั่วคราว ซึ่งอาจสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงเดือนมิถุนายน ทำให้ในช่วงดังกล่าวบริษัทจะไม่สามารถนำทรัพย์หลักประกันไปประมูลขายได้ และกระทบกระแสเงินสดจาก NPL ในส่วนของการขาย NPA จึงคาดว่าจะเห็นผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

 

หากสถานการณ์คลี่คลายลง คาดว่าจะเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในครึ่งปีแรกทำให้ปรับประมาณการกำไรปี 2563 ลง 20% จากประมาณการก่อนหน้า เหลือ 4,138 ล้านบาท (-37%YoY) ยังไม่ได้รวมผลบวกจาก DTA ส่วนที่เหลืออีกราว 5.9 พันล้านบาทเข้ามาในประมาณการ เนื่องจากยังไม่แน่ชัดว่าจะรับรู้รายการดังกล่าวเมื่อใด โดยจากประมาณการใหม่จึงปรับราคาเป้าหมายลงเหลือ 24.5 บาท และปรับคำแนะนำเป็น ‘ถือ’

 

เข้า MSCI เซอร์ไพรส์ตลาด 

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุ การประกาศ MSCI Rebalance ไทยถูกปรับลดน้ำหนักลงสู่ 2.36% จาก 2.39% คิดเป็นเม็ดเงินราว -56 ล้านเหรียญ โดยสำหรับ MSCI Thailand Index หุ้นที่ถูกนำเข้าคำนวณ ได้แก่ AWC, BAM, KTC ขณะที่หุ้นที่หลุดจากการคำนวณคือ BANPU มีผลวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ 

 

โดย BAM ถูกเข้าคำนวณดัชนี MSCI ถือว่าเซอร์ไพรส์ตลาด + เห็นสัญญาณ NPL เพิ่มสูงขึ้น เอื้อประโยชน์ต่อการสะสมพอร์ตหนี้ NPL เพิ่ม 

 

สำหรับ Earnings Outlook: BAM เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมบริหารหนี้ NPL ด้วย Market Share สูง 44% และทิ้งห้างเบอร์ 2 ที่อยู่เพียง 19% และมีฐานเงินทุนแกร่ง เอื้อต่อการสะสมพอร์ตหนี้ NPL ช่วงถัดไป พร้อมมี Hidden Assets จากหลักประกันที่ช่วยลดความเสี่ยง โดยมีมูลค่าสูง 2 แสนล้านบาท เทียบ Market Cap 7.9 หมื่นล้านบาท โดยประเมินกำไรปีนี้แม้ลดลง 32% จากรายได้ลดลง เพราะปีก่อนมีรายได้ก้อนใหญ่จากลูกหนี้ใหญ่ชำระหนี้และเสียภาษีมากขึ้น และคาดกำไรปี 2021F จะกลับมาโต 6% (กำไร 1H อ่อนตัวจากผลโควิด-19 และกลับมาทยอยฟื้น 2H) 

Valuation: เป็นหุ้น Defensive ที่เหมาะสมกับช่วงภาวะปัจจุบัน และซื้อขาย P/BV 2.0 ต่ำกว่ากลุ่มมาก

 

เรียบเรียง: 

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com  

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

 


ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising