×

BAM ปั้นแผน Holding Company แตกบริษัทลูกทำธุรกิจใหม่ หวัง ‘โกดังพักหนี้’ ช่วยธุรกิจท่องเที่ยว

08.03.2021
  • LOADING...
BAM ปั้นแผน Holding Company แตกบริษัทลูกทำธุรกิจใหม่ หวัง ‘โกดังพักหนี้’ ช่วยธุรกิจท่องเที่ยว

บัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษา การจัดตั้งกลุ่มบริษัท (Holding Company) เพื่อขยายการทำธุรกิจบริหารจัดการหนี้ครบวงจร และลดข้อจำกัดที่เกิดจากพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 (พ.ร.ก. AMC) 

 

ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาทำผลการศึกษาตั้ง Holding Company ราว 8 เดือน (น่าจะเห็นราวสิ้นปี) และจะนำส่งเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ BAM หากบอร์ดอนุมัติจะเสนอต่อผู้ถือหุ้นในวาระถัดไป โดยรูปแบบของการทำ Holding Company จะมีการแยกส่วนงานใน BAM ออกมาตั้งบริษัทลูก เช่น ส่วนการประเมินราคา การขายหนี้ NPL/NPA การบริหารสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ซึ่งปัจจุบันส่วนงานนี้ต้องตัดขายให้บริษัทภายนอก

 

“ปี 2564 นี้ คาดว่าจะทำผลการศึกษาเสร็จ ซึ่งต้องรอดูข้อกฎหมายต่างๆ จากที่ผ่านมาเราติดเรื่อง พ.ร.ก. AMC ที่ทำให้ลงทุนในบริษัทอื่นไม่ได้ แต่เราก็ต้องคิดแผนทั้งหมดว่าถ้าเป็น Holding Company แล้วจะโตอย่างไร เลยมีการจ้างที่ปรึกษามาดูทุกเรื่อง”

นอกจากนี้จะมีการจ่ายปันผลปี 2563 ที่ 90% ของกำไรสุทธิ คิดเป็นอัตราหุ้นละ 0.5125% ส่วนเป้าหมายของปี 2564 นี้คาดว่าผลเรียกเก็บ (รายได้) 17,452 ล้านบาท และปีนี้ตั้งงบลงทุนซื้อสินทรัพย์ NPL/NPA เข้ามาบริหารจัดการ 9,000 ล้านบาท จากปัจจุบัน BAM มีทรัพย์แบ่งเป็นหนี้เสีย (NPL)ในความดูแล 85,102 ล้านบาท คิดเป็นภาระหนี้รวม 484,881 ล้านบาท และส่วนทรัพย์เพื่อรอการขาย (NPA) 21,574 รายการ (มูลค่าประเมิน 62,571 ล้านบาท)

 

ทั้งนี้ในส่วนของ BAM ช่วงก่อนโควิด-19 จะมีจุดคุ้มทุน (Break Even) ในการซื้อทรัพย์เข้ามาบริหารที่ 5 ปี แต่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 7 ปี จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายการปรับให้จุดคุ้มทุนอยู่ที่ 5 ปี จึงมองเรื่องการปรับรูปแบบองค์กร เช่น Holding Company 

 

นอกจากนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้การขายทรัพย์สินบางประเภทอาจยังไม่ได้ราคา แต่บริษัทยังเดินหน้าซื้อทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยคัดเลือกเซกเตอร์ที่จะเติบโตได้ในอนาคต รวมถึงปีนี้ยังตั้งงบราว 200 ล้านบาท เพื่อรีโนเวตในการขายทรัพย์ ซึ่งจะมีความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ ในอนาคต เช่น บริษัทวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ เพื่อหาทางสร้างกำไรอย่างมีประสิทธิภาพ

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีแผนงานด้านดิจิทัล (BAMD) ที่จะเสร็จกลางปี 2565 ส่วนเป้าหมาย 5 ปี (ปี 2564-2568) จะมีผลเรียกเก็บเงินสด (รายได้) ในปี 2564 นี้ โดย BAM ตั้งเป้าหมายผลเรียกเก็บที่ 17,452 ล้านบาท, ปี 2565 อยู่ที่ 18,953 ล้านบาท, ปี 2566 อยู่ที่ 20,510 ล้านบาท, ปี 2567 อยู่ที่ 22,199 ล้านบาท, ปี 2568 อยู่ที่ 24,036 ล้านบาท 

 

ส่วนกรณี Asset Warehousing หรือโกดังพักหนี้ มองว่าเป็นการแก้ปัญหาในช่วงวิกฤตที่ดี แต่ยังต้องดูวิธีการที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้จริง เพราะปัจจุบันมองว่าผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง และหลายรายไม่มีหลักทรัพย์ที่สามารถค้ำประกันเพิ่มเติมได้  

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X