ในที่สุดแล้วรางวัลบัลลงดอร์ก็ถึงเวลาเปลี่ยนมือจาก คริสเตียโน โรนัลโด และ ลิโอเนล เมสซี สู่คนอื่นเสียทีครับ หลังทั้งคู่ผลัดกันครอบครองมายาวนานกว่า 10 ปี
ผู้กล้าที่ไปยึดรางวัลนี้จาก 2 ยอดนักเตะผู้เหนือมนุษย์กลับมาให้ปุถุชนธรรมดาๆ ได้ครอบครองอีกครั้งคือ ลูกา โมดริช จอมทัพทีมชาติโครเอเชีย จากผลงานพาทีม ‘ตาหมากรุก’ ทะลุเข้าชิงฟุตบอลโลกได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แม้จะจบด้วยการเป็นเพียงรองแชมป์ก็ตาม
นอกเหนือจากนั้นคือการเป็นจอมทัพที่นำ ‘ราชันชุดขาว’ เรอัล มาดริด พิชิตโทรฟีแชมเปี้ยนลีก โดยสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ 3 สมัยติดต่อกันเป็นทีมแรกนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนชื่อจากยูโรเปียน คัพ เมื่อปี 1992
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกฝ่ายจะเห็นดีเห็นงามที่ลูกฟุตบอลทองคำใบนี้กลายเป็นสมบัติของโมดริชครับ และมันนำไปสู่คำถามสำคัญของการมอบรางวัลนี้
ว่าในวันนี้ ‘บัลลงดอร์’ ยังมีมนต์ขลังอยู่ไหม?
คำถามนี้เกิดขึ้นอีกครั้งในปีนี้ เมื่อมีข่าวว่าเมสซีหลุดโผจากการเป็น 1 ใน 3 ผู้เล่นยอดเยี่ยมของโลกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งเป็นปีแรกที่เขาได้ขึ้นโพเดียมในฐานะ 1 ใน 3 นักฟุตบอลที่เก่งที่สุดในปีนั้น
และเป็นรางวัลที่ 2 แล้วที่เมสซีไม่ติดอันดับท็อปต่อจากรางวัล FIFA The Best ซึ่งประกาศผลไปเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา
คนในวงการหลายคนไม่อยากเชื่อในสิ่งที่ได้ยิน โดยเฉพาะคนในวงการฟุตบอลสเปน นอกจาก เอร์เนสโต วัลเวร์เด โค้ชทีมบาร์เซโลนา แล้ว ยังมี บิเซนเต เดล บอสเก ที่ตั้งคำถามถึงมนต์ขลังของรางวัลบัลลงดอร์อย่างตรงไปตรงมา
เพราะพวกเขาเชื่อว่าด้วยผลงานของเมสซีในรอบปีที่ผ่านมา ไม่ได้แย่จนถึงกับจะทำให้หลุดจากการเป็นแคนดิเดตที่มีโอกาสได้รับรางวัล
พูดให้ชัดกว่านั้นคือ ในกลุ่มพวกที่ได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัล มีใครจะเก่งเท่าเมสซีไหม?
กระแสของบัลลงดอร์มาติดลบเพิ่มขึ้น เมื่อมีข่าวหลุดก่อนหน้าถึงวันประกาศว่าปีนี้ผู้ชนะคือ โมดริช ผู้ที่ได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยม The Best มาก่อน โดยมี โรนัลโด เข้าป้ายเป็นอันดับ 2 และ อองตวน กรีซมันน์ เป็นอันดับ 3
คราวนี้เหล่าผู้สนับสนุนโรนัลโดก็ไม่พอใจ เช่นเดียวกับกองเชียร์ของกรีซมันน์ ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการนำฝรั่งเศสคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมาครองได้ที่รัสเซียก็ไม่เห็นด้วย
มันเกิดคำถามที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ว่า พวกเขาด้อยกว่าตรงไหน?
เมื่อแชมป์เดียวที่ได้ของโมดริชคือแชมเปี้ยนลีกกับเรอัล มาดริด ทีมที่ไม่ได้แชมป์ลาลีกาและเผชิญกับปัญหาฟอร์มการเล่นตกต่ำอย่างหนักในฤดูกาล 2018-2019
อันที่จริงสถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดครับ มีหลายต่อหลายครั้งที่เราได้เห็นการมอบรางวัลให้กับนักเตะที่ไม่ถึงขั้นสมควรจะได้รับ
เมสซีเองก็เคยถูกคำครหาแบบนี้มาก่อน เช่นเดียวกับโรนัลโด
แต่สำหรับโมดริช มันมีเหตุผลที่ทำให้เขาได้รับคะแนนจากคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งล้วนเป็นผู้สื่อข่าวที่ทรงคุณวุฒิจากทั่วโลก (รวมถึงประเทศไทยด้วย)
หลักเกณฑ์พิจารณาที่สำคัญที่สุดของบัลลงดอร์นั้นเรียบง่ายครับ
ข้อแรกคือผลงานส่วนตัวและผลงานส่วนรวมในปี 2018
ข้อที่สองคือระดับชั้นของผู้เล่น ทั้งในแง่ของทักษะและความใสสะอาดในการเล่น
และข้อที่ 3 คือเส้นทางการเป็นนักฟุตบอลของเขา
ใน 3 ข้อนี้ไม่ได้มีข้อใดที่บอกว่านักฟุตบอลที่มีทักษะดีที่สุด เก่งที่สุด หรือทำประตูได้มากที่สุดจะเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลนี้
เมสซียังคงเป็นคนสำคัญที่ขาดไม่ได้ของบาร์เซโลนา แต่กับทีมชาติอาร์เจนตินา เขาสอบตกอย่างน่าเศร้า เช่นเดียวกับ โรนัลโด ที่แม้จะโดดเด่นเป็นส่วนตัว แต่ผลงานส่วนรวมโดยเฉพาะทีมชาติเป็นตัวฉุดรั้งเขาอยู่
กรีซมันน์ผ่านปีที่เติบใหญ่ขึ้นมากและพิสูจน์ตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยมในฟุตบอลโลก แต่เขาไม่ได้เล่นด้วยฟอร์มนี้ตลอดทั้งปี
คนอื่นๆ เล่า? คีเลียน เอ็มบัปเป้ เปล่งประกายและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ แต่เด็กเกินกว่าจะครอบครองรางวัลอันทรงเกียรติ ส่วน ราฟาแอล วาราน แกร่ง แต่มันยากที่จะมอบรางวัลนี้ให้ ขณะที่ โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ ความมหัศจรรย์ของเขาหยุดลงที่นัดชิงแชมเปี้ยนลีกในกรุงเคียฟแล้ว
สำหรับ โมดริช สิ่งที่ทำให้เขาชนะใจกรรมการได้ไม่ใช่เรื่องของทักษะการเล่นที่หวือหวา ความรวดเร็วปราดเปรียว หรือการยิงประตูแบบถล่มทลาย
แต่เป็นความกล้าหาญ ความรับผิดชอบ ความพึ่งพาได้ ไม่ว่าจะในสถานการณ์แบบใดก็ตาม ซึ่งเราได้เห็นชัดในนัดชิงแชมเปี้ยนลีกไปจนถึงในฟุตบอลโลกที่รัสเซีย แม้บทบาทของเขาจะไม่ใช่บทที่เปรี้ยงปร้างที่สุด แต่เป็นบทที่มีความสำคัญมากที่สุด
มันสมองของเขา หากไม่ใช่ก็นับว่าใกล้เคียงกับคำว่าเป็นนักฟุตบอลที่มี Football Intelligence สูงที่สุดในเวลานี้
มากกว่านั้นคือ โมดริชไม่ได้มีแค่สมอง แต่เขามี ‘หัวใจ’ ในการเล่นด้วย
ตรงนี้คือสิ่งที่ทำให้เขาเอาชนะใจกรรมการจากทั่วโลกได้
ดังนั้นถึงจะมีการตั้งเครื่องหมายคำถามจากเหล่าคนที่รักเมสซีและโรนัลโด รวมถึงคนที่เชื่อว่ารางวัลในปีฟุตบอลโลกควรจะตกอยู่ในมือของคนที่อยู่ในทีมแชมป์โลก (ซึ่งไม่เกิดขึ้นมา 8 ปี หรือ 3 สมัยแล้ว) แต่คะแนนที่โมดริชได้รับมากถึง 753 คะแนน ทิ้งห่างโรนัลโดที่ได้ 476 คะแนน และกรีซมันน์ที่ได้ 414 คะแนนมากพอสมควร ก็แสดงให้เห็นถึงความชัดเจน
รางวัลของโมดริชยังเป็นการนำบัลลงดอร์เดินหน้าสู่ยุคใหม่ ยุคสมัยหลังเมสซี-โรนัลโดที่ปกครองรางวัลนี้มาอย่างยาวนาน จนเหมือนจะนานเกินไปในบางความรู้สึก
ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ความจริงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะบัลลงดอร์เป็นรางวัลที่นำไปสู่การถกเถียงกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในปีที่ไม่มีผู้ที่สมควรได้รับรางวัลอย่างชัดเจน ซึ่งในปีนี้เป็นความรู้สึกคล้ายกับในปี 2001 ที่ ไมเคิล โอเวน อดีตดาวยิงลิเวอร์พูลในขณะนั้นได้รางวัลไปครองแบบเจ้าตัวก็ยังไม่เข้าใจว่าได้มาได้อย่างไร
เพียงแต่สิ่งที่นิตยสาร France Football ในฐานะเจ้าของรางวัลต้องพยายามอย่างหนักคือ การยืนยันถึงความโปร่งใสในการเลือกของคณะกรรมการ เหตุผลในการเลือกที่ต้องตอบให้ได้ว่าทำไมนักฟุตบอลคนดังกล่าวจึงคู่ควรต่อรางวัล รวมถึงเรื่องการป้องกันข่าวหลุด (ซึ่งความจริงก็หลุดเกือบทุกปี แต่ปีนี้แรงเป็นพิเศษตรงที่เมสซีหลุดโผ) ทางผู้จัดต้องพยายามเก็บงำความลับเอาไว้ให้ได้จนถึงพิธีมอบรางวัล แม้ว่ามันจะยากแค่ไหนก็ตาม
เพราะสิ่งเหล่านี้คือ ‘คุณค่า’ และคือ ‘มนต์ขลัง’ ของรางวัลนี้
ตลอดมาบัลลงดอร์คือรางวัลเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนักฟุตบอลอาชีพ เป็นรางวัลที่ทุกคนฝันถึง หากจะบอกว่ามนต์ขลังของมันได้ถูกทำลายลงในปีนี้ บางทีก็อาจเป็นการกล่าวหาที่รุนแรงเกินไปสักหน่อย
ความจริงแล้วอาจเป็นแค่การตัดสินนั้นอาจไม่ตรงใจ ไม่ได้มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่านั้น
อย่างน้อยบัลลงดอร์วันนี้ก็ไม่น่ามีการแทรกแซงเหมือนการประกาศรางวัล ฟีฟ่า บัลลงดอร์ ในช่วงที่จับมือกับฟีฟ่า และการให้คะแนนนั้นมาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ได้เปิดให้โหวตโดยแฟนบอลเหมือนรางวัลปุสกัส อวอร์ด ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ง่าย
สำหรับปีนี้ เพื่อการเข้ายุคใหม่ France Football ยังได้นำเสนอ 2 รางวัลใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่าง รางวัล ‘โกปา’ (Kopa Trophy) หรือรางวัลนักฟุตบอลดาวรุ่งยอดเยี่ยมของโลก ซึ่งตั้งชื่อตาม เรย์มงด์ โกปา ตำนานดาวยิงทีมชาติฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่ โดยผู้ที่ได้รางวัลนี้ไปครองคือ คีเลียน เอ็มบัปเป้ นักเตะจอมมหัศจรรย์คนใหม่ที่ถูกมองว่ามีโอกาสจะแซงหน้าทุกคนเป็นนักฟุตบอลที่เก่งที่สุดในโลก
และส่วนอีกรางวัลนั้นน่าปรบมือให้ในความตั้งใจดีคือ รางวัลบัลลงดอร์สำหรับสตรี หรือ Ballon d’Or Feminin ที่มอบรางวัลนักฟุตบอลหญิงที่ทำผลงานได้ดีที่สุด
รางวัลนี้ตกเป็นของ อดา เฮเกอร์เบิร์ก ศูนย์หน้าสาวดาวยิงวัย 23 ปีที่นำสโมสร โอลิมปิก ลียง (หนึ่งในสโมสรหญิงที่เก่งที่สุดเวลานี้) คว้าทั้งแชมป์ลีก และยังป้องกันแชมป์ยุโรปได้ 3 สมัยติดต่อกัน โดยเป็นคนทำประตูให้ทีมชนะในนัดชิงชนะเลิศด้วย
แต่น่าเศร้าที่ในระหว่างการพูดคุยบนเวทีช่วงมอบรางวัลเกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าจดจำขึ้น เมื่อพิธีกรบนเวที มาร์ติน โซลวีก พูดหยอกขอให้เฮเกอร์เบิร์กเต้นแบบ Twerk (ส่ายเอว) บนเวทีให้ดู ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทันที เพราะเข้าทำนองการข่มขู่และเหยียดหยามทางเพศ
ถึงจะมีการรีบเคลียร์กัน โดยโซลวีกได้ขอโทษ และทางเฮเกอร์เบิร์ก (ซึ่งหลังจากนั้นได้ให้เกียรติคนในงานด้วยการเต้นกับ ดาวิด ชิโนลา อดีตสตาร์ชาวฝรั่งเศสบนเวทีเบาๆ) ยืนยันว่าไม่ติดใจ รู้ว่าเป็นการหยอกเล่น และตนยินดีจะเต้นฉลองบัลลงดอร์หญิงคนแรก แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้จัดงานคงต้องระมัดระวังอย่างมากในอนาคตในท่าทีและการปฏิบัติต่อนักเตะสุภาพสตรี
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของบัลลงดอร์ประจำปี 2018
ปีที่ลูกฟุตบอลทองคำได้กลับมา ‘เริ่มต้น’ ใหม่อีกครั้งอย่างเสมอภาค และหวังว่าจะกลับมาสง่างามได้อีกครั้งในอนาคต
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
- จุดกำเนิดของบัลลงดอร์เกิดขึ้นในปี 1956 โดย กาเบรียล อาโนต์ บรรณาธิการนิตยสาร France Football มีความตั้งใจที่ชวนเพื่อนนักข่าวในวงการเลือกนักฟุตบอลชาวยุโรปที่เล่นในยุโรปและทำผลงานได้ยอดเยี่ยมที่สุดในรอบปีนั้น เพื่อมอบรางวัลพิเศษให้เป็นเกียรติยศในฐานะ ‘นักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของยุโรป’
- เซอร์สแตนลีย์ แมตธิวส์ ปีกพ่อมดในตำนานชาวอังกฤษของทีมแบล็กพูล เป็นนักฟุตบอลคนแรกที่ได้รับรางวัลบัลลงดอร์
- บัลลงดอร์มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี 1995 เมื่อมีการเปลี่ยนคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับการโหวต จากที่ต้องเป็นนักฟุตบอลชาวยุโรปเท่านั้น เป็นนักฟุตบอลชาติใดก็ได้ที่เล่นให้สโมสรในยุโรป และในปีนั้นเอง จอร์จ เวอาห์ ยอดศูนย์หน้าชาวไลบีเรียของทีมเอซี มิลาน (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งไลบีเรีย) คือนักฟุตบอลที่ไม่ใช่ชาวยุโรปคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้
- แต่ความจริงก่อนหน้านั้นในปี 1957 อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน นักเตะชาวอาร์เจนตินาของทีมเรอัล มาดริด เคยได้รับรางวัลนี้มาแล้ว แต่เป็นเพราะเวลานั้น ดิ สเตฟาโน ถูกพิจารณาในฐานะนักเตะสเปน (ในการประกาศรางวัลปีแรก ดิ สเตฟาโน ก็ได้รางวัลที่ 2)
- อย่างไรก็ดี การโหวตยังจำกัดในวงผู้สื่อข่าวจาก 52 ประเทศในยุโรป จนถึงปี 2007 จึงมีการเปลี่ยนให้ผู้สื่อข่าวจากทั่วโลกโหวต โดยเพิ่มเป็น 96 คนในขณะนั้น และในปัจจุบัน 195 คน (ชาติละ 1 คน)
- ระบบการให้คะแนนไม่ซับซ้อน ผู้ให้คะแนนแต่ละคนจะสามารถโหวตได้ 3 อันดับ โดยอันดับที่ 1 จะได้ 5 คะแนน อันดับที่ 2 ได้ 3 คะแนน และอันดับที่ 3 ได้ 1 คะแนน
- ในอดีตการมอบรางวัลบัลลงดอร์จะทำที่สำนักงานของนิตยสาร France Football เพื่อบันทึกภาพไว้สำหรับขึ้นปกนิตยสาร
- รางวัลบัลลงดอร์เคยถูกควบรวมเข้ากับรางวัลการประกาศผลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของฟีฟ่าเมื่อปี 2010 เนื่องจากมีการมองว่าเป็นรางวัลที่ซ้ำซ้อนกัน แต่สุดท้าย France Football ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับฟีฟ่า กลับมาจัดงานประกาศรางวัลของตัวเองเหมือนเดิมเมื่อปีกลาย
- คริสเตียโน โรนัลโด และ ลิโอเนล เมสซี ได้รับรางวัลสูงสุดคนละ 5 สมัย แต่ในทำเนียบแล้ว โรนัลโดได้อยู่เหนือกว่าเมสซี เนื่องจากในปีนี้ได้ที่ 2 เป็นครั้งที่ 6 ขณะที่เมสซีเคยเป็นที่ 2 อยู่ 5 ครั้ง และที่ 3 อีก 1 ครั้ง