เราคงต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกอาชีพมีข้อจำกัด ความกดดัน และความท้าทายในแบบของตัวเอง แต่ในโลกยุคใหม่หลายอาชีพสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยผ่อนแรงเพื่อให้ได้งานที่ดีขึ้นด้วยเวลาที่น้อยลง เช่น เกษตรกรใช้โดรนหว่านปุ๋ย หรือ AI ที่เข้ามาช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น จนทำให้ข้อจำกัดบางอย่างหายไป
สำหรับอาชีพ ‘นักกีฬา’ แม้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะมาในรูปแบบของเสื้อผ้า รองเท้า หรืออุปกรณ์กีฬา แต่สิ่งเดียวที่ทำให้พวกเขากลายเป็นนักกีฬามืออาชีพตัวจริงได้ก็คือ การฝึกซ้อม
สถิติโลกทุกประเภทกีฬาล้วนเกิดขึ้นจากการฝึกฝนอย่างหนักของนักกีฬา บางเกมการแข่งขันใช้เวลาแข่งเพียงไม่กี่นาทีตัดสินแพ้-ชนะ แต่กว่าพวกเขาจะพร้อมลงสนามแข่งอย่างที่เห็น ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก ฝ่าฟันอุปสรรคนับไม่ถ้วน และคงมีจำนวนไม่น้อยที่เริ่มต้นเส้นทางนักกีฬาอาชีพภายใต้ข้อจำกัดมากมาย เช่นเดียวกับ ครีม-ใบสน มณีก้อน นักมวยสากลหญิงทีมชาติ ที่ผ่านการพ่ายแพ้มาหลายสังเวียน ยอมแลกหมัดกับทุกข้อจำกัด จนสามารถคว้าตั๋วไปโอลิมปิก 2020 ในฐานะนักมวยสากลสมัครเล่นอายุน้อยที่สุด
แม้ใบสนจะเติบโตในครอบครัวที่ทำอาชีพค้าขายผลไม้ควบคู่ไปกับการเปิดค่ายมวยเล็กๆ แต่เธอก็ไม่ได้มีต้นทุนมากไปกว่าคนอื่น “ตอนเด็กๆ มีโรคประจำตัว เป็นหอบหืดและภูมิแพ้ ต้องเข้าโรงพยาบาลตลอด พ่อก็คงอยากให้เราแข็งแรงเลยชวนไปออกกำลังกาย ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าอยากเป็นนักมวย แค่คิดว่าไปเล่นสนุกๆ พี่สาวก็ต่อยอยู่ด้วย ปรากฏว่าซ้อมไปสักพักดันชอบ พ่อคงเห็นแววเลยส่งขึ้นชก น่าจะประมาณ 10 ขวบ จำได้แม่นเลยเพราะแพ้ หลังจากนั้นพ่อก็เริ่มฝึกเหมือนเราเป็นนักมวยคนหนึ่ง ตื่นมาวิ่งก่อนไปโรงเรียน กลับมาก็ซ้อมต่อ ออกหมัด เตะเป้า ทำแบบนี้ทุกวัน มีแข่งก็ไป แพ้ก็กลับมาซ้อมใหม่ ข้อจำกัดอย่างหนึ่งในตอนนั้นคือ เรามีอุปกรณ์ซ้อมน้อยมาก ถึงจะเป็นค่ายมวยแต่ก็เป็นค่ายเล็กๆ ที่ยังขาดอุปกรณ์ที่จำเป็น เพราะราคาสูง อย่างเป้าล่อมีแค่คู่เดียวก็ต้องแบ่งกันใช้และผลัดกันซ้อม ใช้ลานเล็กๆ ข้างบ้านนั่นแหละเป็นที่ฝึกซ้อม”
ใบสนไม่เคยอ่อนข้อให้กับข้อจำกัดและอุปสรรคใดๆ แม้จะต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่น ส่งผลให้อดีตมวยรองกลายเป็นดาวเด่น กวาดชัยชนะทุกสังเวียน จนถูกทาบทามให้ขึ้นชกบนเวทีไทยไฟต์ตอนอายุ 15 ปี
“เป็นโอกาสที่ดีมากๆ เพราะนี่เป็นรายการใหญ่ และตอนนั้นไม่มีนักมวยหญิงได้ขึ้นชกไทยไฟต์ เราเป็นรุ่นแรกๆ ที่ได้ขึ้นชก แต่ก็ต้องซ้อมหนักมากๆ จนแอบร้องไห้บ่อยๆ คือ ใจมันสู้นะ แต่ร่างกายมันไม่ไหว ต้องตื่นตี 5 ครึ่ง วิ่ง 10 กิโลเมตร กลับมากระโดดเชือก เตะเป้า เตะกระสอบ กว่าจะเสร็จก็เกือบ 10 โมง ตกเย็นก็ซ้อมแบบนี้อีกรอบ ทำแบบนี้ทุกวัน ยิ่งช่วงที่ใกล้ขึ้นชกต้องปรับตารางให้หนักกว่านี้ โชคดีที่ตอนนั้นย้ายมาอยู่ค่ายมวยในกรุงเทพฯ พวกอุปกรณ์ฝึกซ้อมมันพร้อมกว่า เลยฝึกได้เยอะ ช่วยพัฒนาฝีมือได้มาก”
หลังออกหมัดบนเวทีไทยไฟต์ไม่ทันไร สมชาย พูลสวัสดิ์ ประธานฝ่ายพัฒนาเทคนิคสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย ก็ยื่นโอกาสให้เธอได้ท้าทายตัวเองบนสังเวียนมวยสากล “เป็นคนชอบท้าทายตัวเอง เลยตอบรับโอกาสนั้น และนั่นเป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางอาชีพของเราไปเลย เราได้ไปแข่งชิงแชมป์เยาวชนเอเชีย ติดทีมชาติ ได้ไปโอลิมปิก ทุกอย่างมันเร็วมาก ภายในระยะเวลาเพียง 3-4 ปี เหมือนฝันเป็นจริง แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่โหดมากเช่นกัน”
เนื่องจากมวยสากลต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา ฟุตเวิร์กจึงสำคัญมาก ใบสนจึงต้องเรียนรู้ปรับวิธีการซ้อม เริ่มต้นฝึกจังหวะการออกหมัดเพื่อทำแต้มไปพร้อมๆ กับเรียนรู้กฎกติกาการแข่งขันมวยสากล และเรียนรู้ที่จะพ่ายแพ้ในสนามที่ใหญ่ขึ้น
ใช้เวลาไม่ถึงปี ใบสนสามารถคว้าเหรียญทองแรกในชีวิต บนเวทีชิงแชมป์เยาวชนเอเชีย 2019 ที่ประเทศมองโกเลีย พ่วงด้วยรางวัลนักมวยยอดเยี่ยมของทัวร์นาเมนต์ ก่อนจะโอกาสขยับเลเวลไปสู้ศึกบนเวทีโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น และจับตาไว้ให้ดี เพราะนี่อาจจะเป็นปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเธอที่จะได้เข้าร่วมทีมชาติไทยไปคว้าเหรียญชัยในการแข่งขันซีเกมส์ที่เวียดนาม และเอเชียนเกมส์ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน
“หลังจบโอลิมปิก เรานำจุดอ่อนของตัวเองมาพัฒนาและปรับตารางซ้อมใหม่ ตั้งเป้าไว้ว่าโอลิมปิกที่ปารีสต้องคว้าเหรียญกลับมาให้ได้ และตอนนี้ยังต้องเตรียมความพร้อมลงแข่งซีเกมส์และเอเชียนเกมส์ในปีนี้ด้วย เพราะการเป็นนักกีฬาอาชีพมันเต็มไปด้วยความท้าทาย ต้องพัฒนาตัวเองตลอดและเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ โอกาสที่ได้มายิ่งทำให้ต้องพยายามให้มากขึ้น เพื่อให้เขาเห็นว่าเราทำได้”
ใบสนยังบอกด้วยว่า ในฐานะที่เธอก็เป็นคนหนึ่งที่เริ่มต้นด้วยข้อจำกัดมากมาย จึงเข้าใจดีว่าโอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์กีฬา การเข้าถึงการแข่งขัน สนามฝึกซ้อม หรือผู้ฝึกสอน มีความสำคัญอย่างมาก “กีฬาควรเป็นสิ่งที่เยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีข้อจำกัด มีแค่พรสวรรค์และความพยายามใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป โดยเฉพาะนักกีฬา การมีอุปกรณ์ที่ดี สถานที่ฝึกซ้อม หรือโค้ช ทั้งหมดนี้จะช่วยให้นักกีฬาคนหนึ่งพัฒนาตัวเองได้ไกล รวมถึงสร้างโอกาสและแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้อีกมาก”
ดูเหมือนว่าความเชื่อของเธอจะสอดคล้องกับแนวคิดของ Under Armour (อันเดอร์ อาร์เมอร์) แบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา ที่เชื่อว่า ‘กีฬาเป็นมากกว่าเกมการเล่น’ แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความร่วมมือและทีมเวิร์ก ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้เล่น ลดความเครียด และช่วยเสริมสร้างจิตใจให้แข็งแรง สร้างโอกาสที่ไม่สิ้นสุดและสำคัญอย่างยิ่งแก่สังคม นำไปสู่แคมเปญระดับโลก ‘Gift of The Game’ ที่ยกระดับการเข้าถึงโอกาสทางการกีฬาให้เยาวชนทั่วโลก และนั่นทำให้ใบสนเป็นหนึ่งในนักกีฬาไทยที่ได้รับการสนับสนุนจาก Under Armour
“สำหรับเรา โครงการ ‘Gift of The Game’ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะมอบโอกาสให้กับเด็กที่ไม่มีต้นทุน ให้เขาสามารถทำความฝันให้สำเร็จ ทุกวันนี้ยังมีเยาวชนที่มีความสามารถอีกไม่น้อยที่ขาดโอกาส และพวกเขาสมควรได้รับโอกาสนั้น
“ถ้าอนาคตเยาวชนไทยไม่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงอุปกรณ์ สนามแข่ง สถานที่ฝึกซ้อม ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในการก้าวเข้าสู่วงการนักกีฬาอาชีพ พวกเขาจะมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาทักษะมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยจะมีนักกีฬาเก่งๆ ไปแข่งระดับโลกเยอะขึ้น และเราจะได้เห็นเยาวชนที่เก่งในด้านที่ตัวเองชอบอีกมาก เราอยากเห็นเด็กรุ่นใหม่ร่วมสร้างชื่อเสียงให้กับวงการกีฬาไทยในเวทีโลก”
‘Gift of The Game’ มีเป้าหมายหลักไปที่การสร้างเส้นทางเพื่อเพิ่มโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในโปรแกรมกีฬาที่มีการจัดการอย่างเหมาะสม มีโครงสร้างและกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน และยังเป็นตัวกลางที่จะเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างโค้ช ผู้ฝึกสอน องค์กร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชน มาร่วมกันขจัดอุปสรรคที่จะเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงกีฬา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงระยะยาว
เมื่อแบรนด์เองก็เชื่อว่า ‘ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมในกีฬา’ จึงเพิ่มศักยภาพด้วยการมอบโซลูชัน ทรัพยากร รวมถึงเครื่องมือที่จะทำให้นักกีฬาก้าวไปสู่จุดที่ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งประกาศพันธกิจที่จะสร้างโอกาสทางการกีฬาให้แก่เยาวชนหลายล้านคนทั่วโลกภายในปี 2030
ที่ผ่านมา Under Armour ริเริ่มโครงการในภูมิภาคอเมริกาเหนือ รวมไปถึงเพิ่มการสนับสนุนให้กับ UA Next โปรแกรมกีฬาสำหรับผู้หญิงในระดับรากหญ้า มอบโอกาสเพิ่มเติมทั้งในและนอกสนามให้แก่นักกีฬาที่เป็นนักศึกษาในกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมชุมชนคนผิวดำในอเมริกา (Historically Black Colleges and Universities: HBCUs)
นอกจากนี้ยังผลักดันให้เยาวชนแสดงความสามารถในสนาม ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับ Curry Brand พลิกโฉมสนามบาสเกตบอลรักเคอร์ พาร์ก (Rucker Park) ในชุมชนฮาร์เล็ม เมืองนิวยอร์กซิตี้ ไปจนถึง Project Rampart โครงการสนับสนุนนักกีฬาที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนในเมืองบัลติมอร์
ด้าน Under Armour Thailand ตั้งเป้าผลักดันและสนับสนุนให้เด็กไทยเข้าถึงโอกาสในการฝึกซ้อมและการแข่งขันตลอดปี นำร่องผ่านการจัดกิจกรรมการแข่งขันบาสเกตบอลสำหรับเยาวชน Curry 3 ON 3 Thailand 2022 ที่จะเกิดขึ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2022 สอดคล้องไปกับความตั้งใจของแบรนด์ระดับโลก ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของแรงผลักดันและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน
จะเห็นได้ว่าโอกาสในการเข้าถึงเกมกีฬาของเยาวชนทั่วโลกจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีต่อพวกเขาเอง ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์กับผู้คน ท้ายที่สุดแล้วมันคือโอกาสที่จะต่อยอดไปได้ไม่สิ้นสุด เพราะเกมกีฬาคือพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นทั้งในและนอกสนามให้แก่เยาวชน แต่ตอนนี้เยาวชนหลายล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญอุปสรรคจากสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ส่งผลต่อเส้นทางการเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนเงินทุน เวลา การเดินทาง ไปจนถึงอุปสรรคทางสังคมและสภาพจิตใจ