×

‘เงินบาท’ อ่อนค่าสุดในเอเชีย ลดลง 10% จากต้นปี แบงก์ต่างชาติมองเป้าหมายเปิดประเทศสิงหาคม ‘ท้าทายอย่างมาก’

26.07.2021
  • LOADING...
เงินบาท

ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 10% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดในเอเชีย ส่วนหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของโควิด แต่อีกสาเหตุสำคัญคือ การพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวมากเกินไป ท่ามกลางความท้าทายอย่างมากกับเป้าหมายเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในเดือนสิงหาคม

 

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาเซียนของโนมูระกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากสำหรับประเทศไทยที่จะเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ในขณะที่ยังคงต่อสู้กับการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิดภายในประเทศ 

 

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ค่าเงินบาทซึ่งเคยเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในเอเชียก่อนเกิดการระบาดใหญ่ กลับอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2564 และกลายเป็นสกุลเงินที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในปีนี้ในภูมิภาค

 

โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน ตามข้อมูลของ Refinitiv Eikon ขณะที่ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นลดลงเกือบ 7% ริงกิตมาเลเซียลดลง 5% ในขณะที่เงินดอลลาร์ออสเตรเลียลดลง 4.43% 

 

“เมื่อพิจารณาตามมูลค่าแล้ว ค่าเงินบาทค่อนข้างอ่อนค่าและไม่สอดรับกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย (แม้ว่าจะลดลง) หรืออัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำ” วิษณุ วราธาน หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์ของธนาคารมิซูโฮ กล่าวกับ CNBC

 

ย้อนกลับไปในปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด ขณะนั้นมีความกังวลเกี่ยวกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งได้รับแรงหนุนจากดุลการค้าที่สูง ค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาแพงขึ้น และทำให้ดึงดูดลูกค้าต่างประเทศได้น้อยลง

 

อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทไทย รวมถึงสกุลเงินในภูมิภาคอาเซียน ไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่าเป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิดเพียงสาเหตุเดียว เนื่องจากทุกประเทศทั่วโลกล้วนกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา และในบางภูมิภาคก็ได้รับผลกระทบที่หนักหนากว่าอาเซียนมาก แต่สาเหตุหลักที่ทำให้สกุลเงินในอาเซียนอ่อนค่านั้นเกิดจากภาคการท่องเที่ยวที่ย่ำแย่ ได้ทวีคูณความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศไทย 

 

ยูเบน พาราคูเอลส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาเซียนของโนมูระ ให้ความคิดเห็นผ่าน CNBC ว่า ประเทศไทยต้องการเปิดประเทศอีกครั้งอย่างเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคม ซึ่งคิดว่าอาจจะทะเยอทะยานเกินไป อาจจะไม่เกิดขึ้น

 

โดยข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเพียง 34,000 คน เทียบกับ 39 ล้านคนในปี 2562 

 

ทั้งนี้ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องพึ่งพาเงินดอลลาร์เพื่อการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวคิดเป็นประมาณ 11% ของ GDP ของไทยในปี 2562 ก่อนเกิดโรคระบาด

 

ฉะนั้นการที่นักท่องเที่ยวน้อยลงจึงหมายถึงความต้องการค่าเงินบาทที่ลดลง

 

ทั้งนี้ ยูเบนเคยให้ความคิดเห็นเมื่อปลายปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า การที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวมากเกินไปจะเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับประเทศ เนื่องจากมีความพยายามเปิดเมืองและเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวในขณะที่ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ 

 

โดยเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ประเทศไทยได้เริ่มโครงการนำร่องที่เรียกว่า Phuket Sandbox ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยไม่ต้องกักตัว แต่หลังจากเปิดได้เพียงสัปดาห์เดียวก็พบผู้ติดเชื้อ 1 ราย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตามรายงานของ Associated Press ในสิ้นสัปดาห์แรกของการเปิด Phuket Sandbox พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ 27 ราย 

 

“ฉันคิดว่ามันจะเป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่ และพวกเขามีเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมาก พวกเขาต้องการเปิดประเทศอีกครั้งอย่างเต็มรูปแบบภายในเดือนตุลาคม ซึ่งฉันคิดว่าอาจจะไม่เกิดขึ้น” พาราคูเอลส์กล่าว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising