บาทอ่อนค่าเฉียด 36 บาทต่อดอลลาร์แล้ว! หลังสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดเดิมพันแบงก์ชาติอาจลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ นักวิเคราะห์เตือน หากบาททะลุแนวต้าน 36 บาท อาจปิดฉากเทรนด์การแข็งค่าตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อนหน้า
วันนี้ (12 กุมภาพันธ์) พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.90 บาทต่อดอลลาร์ นับว่าทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า พร้อมมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 35.45-36.15 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.80-36.00 บาทต่อดอลลาร์
“สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง ท่ามกลางมุมมองของตลาดที่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ส่วนเงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใส” พูนระบุ
โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ใกล้ระดับ 35.90 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 35.83-35.97 บาทต่อดอลลาร์) เงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้างตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของราคาทองคำ (โฟลวธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว) หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะไม่รีบลดดอกเบี้ย
สำหรับในสัปดาห์นี้ พูนแนะนำให้ควรจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI รวมถึงยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ และอังกฤษ และติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed อย่างใกล้ชิด
ทะลุแนวต้าน 36 บาท อาจปิดฉากเทรนด์การแข็งค่าก่อนหน้านี้
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท Krungthai GLOBAL MARKETS มองว่าโมเมนตัมฝั่งอ่อนค่ายังคงอยู่ โดยต้องจับตาแนวต้านเชิงจิตวิทยา 36.00 บาทต่อดอลลาร์ เพราะการอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวจะปิดฉากเทรนด์การแข็งค่าตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลวนักลงทุนต่างชาติที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินบาทได้พอสมควรในช่วงนี้
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้นเรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้ นอกจากนี้หากตลาดประเมินว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่า Fed ก็อาจกดดันเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้
Krungthai GLOBAL MARKETS คงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม เช่น Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward