×

นักวิเคราะห์มองว่าบาทอ่อนมาจากดอลลาร์แข็ง-ทองคำลงเป็นหลัก ปมประธานบอร์ดแบงก์ชาติมีน้ำหนักน้อย

13.11.2024
  • LOADING...
บาทอ่อน

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าบาทอ่อนค่ามาจากปัจจัยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าและราคาทองคำลงเป็นหลัก ส่วนประเด็นความอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยมีน้ำหนักน้อย ประเมินธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) และ ธปท. มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยมุมมองว่า ประเด็นความอิสระของ ธปท. อาจมีผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง แต่น้ำหนักส่วนใหญ่มาจากมุมมองของผู้เล่นในตลาด ซึ่งต่างเชื่อว่า Fed จะลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า Dot Plot พอสมควร จากนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมกับราคาทองคำที่ลดลง

 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่ โดยระบุว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงน้ำหนักส่วนใหญ่มาจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า

 

“ถ้าเทียบกับในอดีต ดัชนีดอลลาร์สหรัฐที่ 106 เงินบาทเคยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่วันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ยังถือว่าไม่ได้อ่อนเท่าช่วงก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่ โดยมองว่าการเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐบาทขึ้นอยู่กับดอลลาร์สหรัฐมากกว่าบาท

 

“ช่วงนี้ที่เงินบาทอ่อนค่า เพราะดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ทรัมป์ได้รับชัยชนะ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย Fed และการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ส่วนความอิสระของ ธปท. อาจมีผลให้เงินบาทอ่อนค่าบ้าง แต่ไม่ใช่เหตุผลหลัก” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ ดร.พิพัฒน์ ระบุว่า “เราไม่เชื่อว่าเงินบาทจะแข็งไปเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจุบันไทยไม่ได้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดเยอะ (Current Account Balance) ก่อนหน้านี้ไทยเคยเกินดุล 7-8% แต่วันนี้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพียง 1-2% เท่านั้น นอกจากนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ ดอกเบี้ยก็ยังค่อนข้างกว้าง”

 

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ

 

ดร.พิพัฒน์ คาดการณ์ว่า Fed มีโอกาสจะลดดอกเบี้ยอีกครั้งในวันที่ 12-13 ธันวาคม อย่างไรก็ตาม เมื่ออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ใกล้ระดับ 1% การลดดอกเบี้ยก็จะเริ่มยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะยิ่งทรัมป์ได้รับชัยชนะทำให้สหรัฐฯ มีแนวโน้มขาดดุลการคลังมากขึ้น Fed ยิ่งจะไม่กล้าลดซ้ำลงไปอีก

 

ขณะที่ ดร.กอบศักดิ์ มองว่า Fed น่าจะลงอีก 0.25% ในปีนี้ เนื่องจากต้องรอดูอีกทีว่าเมื่อทรัมป์รับตำแหน่งแล้วจะทำได้เร็วแค่ไหน ส่วนแนวโน้มในปีหน้ามีความไม่แน่นอนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น นโยบายลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลของทรัมป์อาจทำให้เศรษฐกิจโตเร็วขึ้น ทำให้ความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยของ Fed น้อยลง ขณะที่การขึ้นภาษีนำเข้าก็อาจทำให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นได้

 

สำหรับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ดร.พิพัฒน์ มองว่ามีการสื่อสารที่ค่อนข้างระมัดระวังมากจากการย้ำว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ผ่านมาเป็นเพียงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเท่านั้น (Recalibrate) จะไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวัฏจักรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (Easing Cycle)

 

อย่างไรก็ดี ดร.พิพัฒน์ มองว่ายังมีเหตุผลให้ กนง. ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยอยู่ ตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวไม่ค่อยดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใส่เข้ามาแล้วยังไม่รู้สึก อัตราการขยายตัวของสินเชื่อในระบบธนาคารไทยพาณิชย์ต่ำ และหนี้เสียสูงขึ้น

 

ดร.พิพัฒน์ มองอีกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยยังลงได้อีก 2 ครั้ง พร้อมประเมินว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นกลาง (Neutral Rate) อยู่ที่ 1.75% ทั้งนี้ กนง. จะประชุมอีกครั้งในวันที่ 18 ธันวาคมนี้

 

“ถ้าย้อนกลับไปช่วงปี 2015-2019 ก่อนโรคโควิด เงินเฟ้อไทยอยู่ที่ราว 0.7% ขณะที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 3.5% ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5% เท่านั้น แต่วันนี้เงินเฟ้อเท่าเดิมแต่อัตราการเติบโตเศรษฐกิจต่ำลง หมายความว่านโยบายการเงินปัจจุบันเข้มกว่าเดิมเยอะ แม้จะเข้าใจ ธปท. ว่าห่วงเสถียรภาพทางการเงินและหนี้ครัวเรือน แต่การเก็บดอกเบี้ยไว้สูงอาจไม่ช่วยหนี้ครัวเรือนได้ขนาดนั้น” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

 

ขณะที่ ดร.กอบศักดิ์ มองว่า กนง. ยังลดดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ พร้อมระบุว่า “ไม่มีใครรู้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางของไทยอยู่ตรงไหน สามารถอยู่ได้ตั้งแต่ 2-2.5% เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X