กสิกรไทยปรับคาดการณ์ค่า เงินบาท ณ สิ้นปี 2565 เป็น 37.50 บาทต่อดอลลาร์ จากเดิมที่มองว่าจะอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ ตามทิศทางของเงินดอลลาร์ที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากการเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) พร้อมประเมินว่าเงินบาทในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้าจะผันผวนรุนแรง มีความเป็นไปได้ที่จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางอ่อนค่าไปถึง 39 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่ากลับมาอยู่ที่ระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์
กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ห้องค้ากสิกรไทยได้มีการปรับคาดการณ์ค่าเงินบาทในช่วงสิ้นปีนี้จาก 35.00 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 37.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากขณะนี้ตลาดเชื่อค่อนข้าง 100% แล้วว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนหน้า และยังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นต่อเนื่องอีก 0.75% ในการประชุมเดือนธันวาคม หลังจากเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ปรับลดลงช้ากว่าที่คาด ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานก็ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไม่ตกขบวน! ไทยพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR และ MOR 0.25% พร้อมขยับดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุด 0.50%
- เตรียมตัวไว้! ตั้งแต่ 15 พ.ย. นี้ ‘ฝากเงินผ่านตู้’ ต้องยืนยันตัวตนผ่านบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม และบัตรเครดิต เพื่อป้องกันการฟอกเงิน
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
“การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ รวมถึงเงินบาท เราคงเลี่ยงแรงกดดันดังกล่าวไม่ได้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายในประเทศของไทยอย่างการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดี โดยปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้ว 6.5 ล้านคน จะเป็นปัจจัยที่ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ แม้อาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวก” กอบสิทธิ์กล่าว
กอบสิทธิ์ระบุว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องจับตาดูเพราะอาจเป็นแรงหนุนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้คือการผ่อนคลายนโยบาย Zero-COVID ของจีน ซึ่งล่าสุดจีนได้ส่งสัญญาณดังกล่าวผ่านการลดจำนวนวันกักตัวสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศจาก 10 วัน เหลือ 7 วัน โดยกำหนดให้เป็นการกักตัวที่โรงแรมเพียง 2 วัน อีก 5 วัน สามารถกักตัวที่บ้านได้ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่นักท่องเที่ยวจีนบางส่วนอาจเริ่มเดินทางเข้ามาในประเทศไทย นอกจากนี้การเข้าซื้อหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาปรับเพิ่มขึ้นในรอบ 5 ปี ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้
อย่างไรก็ดี หากมองไปในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า คาดว่าเงินบาทจะผันผวนรุนแรงและมีโอกาสเคลื่อนไหวไปได้ในสองทิศทางจากหลายปัจจัยที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ และการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed นโยบาย Zero-COVID ของจีน รวมถึงแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินหยวนและเยนที่สามารถส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้
“เงินบาทในขณะนี้เมื่ออยู่บนทางแยกที่จะไปในทิศทางใดก็ได้ ถ้า Fed ขึ้นดอกเบี้ยต่อ เงินเยนทะลุ 150 เยนต่อดอลลาร์ เงินหยวนขึ้นไปแถวๆ 8 หยวนต่อดอลลาร์ โอกาสที่เราจะได้เห็นเงินบาทอ่อนค่าไปที่ 39 บาทต่อดอลลาร์ คงไม่ใช่เรื่องยาก ขณะเดียวกันถ้าจีนผ่อนคลายนโยบายโควิด นักท่องเที่ยวมามากขึ้น นักลงทุนต่างชาติมองว่าหุ้นไทยน่าลงทุน เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตในขณะที่โลกเข้าสู่ภาวะถดถอย บาทก็อาจกลับมาแข็งที่แถวๆ 36-37 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน” กอบสิทธิ์กล่าว
กอบสิทธิ์กล่าวว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย แนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก