Bloomberg รายงานว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าต่อเนื่องไปทดสอบแนวต้าน หรือระดับอ่อนค่าที่สุดเมื่อปีที่แล้วที่ราว 37.23 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางแรงกดดันต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เพิ่มขึ้น
โดยตั้งแต่ต้นปี (YTD) เงินบาทอ่อนค่าลงเกือบ 7% แล้ว ทำให้เป็นหนึ่งในสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดของเอเชีย โดยนักวิเคราะห์บางคนยังมองว่า อาจเห็นเงินบาทไปทดสอบแนวต้านหรือระดับอ่อนค่าที่สุดเมื่อปีที่แล้วที่ราว 37.23 บาทต่อดอลลาร์ หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันพุธที่ 10 เมษายนนี้
แม้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนจะคาดการณ์ว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมที่ 2.5% แต่ตลาดก็ยังเฝ้าระวังความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลดดอกเบี้ย หลังการประชุม กนง. ครั้งก่อนในเดือนกุมภาพันธ์ คณะกรรมการ 2 ท่านลงคะแนนให้ลดอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางการกดดันจากฝั่งรัฐบาล รวมไปถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เรียกร้องให้ กนง. จัดการประชุมนัดพิเศษฉุกเฉินในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยขอบบนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ 5.5% อยู่ราว 3%
Moh Siong Sim นักกลยุทธ์อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจาก Bank of Singapore Ltd. กล่าวว่า “ความไม่แน่นอนจากนโยบายทางการคลังและปัจจัยลบต่างๆ อาจยังคงส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทในระยะเวลาอันใกล้นี้
อย่างไรก็ตาม “ข้อมูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจล่าสุด ซึ่งยังคงอ่อนแอเกินกว่าจะปลอบโยนได้ และอาจเป็นเหตุผลให้ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนเมษายน แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงความรู้สึกกดดันทางการเมืองที่เพิ่มเข้ามาในการตัดสินใจก็ตาม”
นอกจากนี้ค่าเงินบาทยังอาจถูกคุกคามจากการส่งสัญญาณจาก Fed ว่าไม่รีบร้อนจะลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะสงบลง
เงินบาทก็ได้รับแรงกดดันจากกระแสเงินทุนไหลออก เนื่องจากกองทุนทั่วโลกได้ขายหุ้นไทยไป 1.9 พันล้านดอลลาร์แล้วในปีนี้ (จนถึงวันที่ 3 เมษายน) ท่ามกลางความกังวลว่าเศรษฐกิจที่ซบเซาจะทำให้กำไรของบริษัทลดลง
ขณะที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เผยว่า ตั้งแต่ต้นปี (YTD) กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ของนักลงทุนต่างชาติไหลออกสุทธิ (Net Sell) ไปแล้ว 44,087 ล้านบาท (จนถึงวันที่ 8 เมษายน)
Nicholas Chia นักกลยุทธ์มหภาคของธนาคาร Standard Chartered Bank SG กล่าวว่า “เราคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าอีกผ่านส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่กว้างขึ้น และการรับรู้ถึงความเป็นอิสระของธนาคารกลางที่กำลังถูกคุกคาม”
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่ไม่สามารถละเลยได้ที่เงินบาทอาจทดสอบระดับต่ำสุดของปี 2566 อีกครั้ง โดยข่าวดีในสหรัฐฯ จึงเป็นข่าวร้ายสำหรับเงินบาท
อ้างอิง: