×

เงินบาท เปิดตลาดแข็งค่าที่ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ คาดสัปดาห์นี้ผันผวนหนักจากการทยอยรับรู้ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

07.03.2023
  • LOADING...

ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ (7 มีนาคม) ที่ระดับ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ กรุงไทยคาด สัปดาห์นี้ยังผันผวนสูงจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และการส่งสัญญาณของ Fed ประเมินเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.25-35.25 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.60 บาทต่อดอลลาร์

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways โดยแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ายังมีอยู่ แต่การอ่อนค่าอาจไม่รุนแรงมาก ทั้งนี้ ควรจับตาความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หลังดัชนี SET ได้ย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับสำคัญ ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอการขายหุ้นไทย นอกจากนี้ราคาทองคำก็เริ่มแกว่งตัวใกล้โซนแนวต้านสำคัญ ซึ่งถ้าราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อได้ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ในส่วนเงินดอลลาร์ มองว่าตลาดจะยังไม่คลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ Fed หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ออกดีกว่าคาด ทำให้เงินดอลลาร์มีโอกาสผันผวนแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจถูกชะลอลงได้ ในกรณีที่ประธาน ECB ส่งสัญญาณสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นได้

 

โดยยังคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

พูนเปิดเผยอีกว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินฝั่งเอเชียปรับตัวขึ้นได้ดี โดยเฉพาะค่าเงินฝั่งเอเชีย หลังรายงานดัชนี PMI ของจีนในเดือนกุมภาพันธ์นั้นออกมาดีกว่าคาด ในสัปดาห์นี้มองว่าควรระวังตลาดการเงินอาจผันผวนสูง โดยเฉพาะในช่วงทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลการจ้างงานในฝั่งสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed โดยเฉพาะการแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเจอโรม พาวเวลล์

 

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

 

  • ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงาน โดยสิ่งที่ต้องจับตาใกล้ชิดคือความต้องการแรงงานโดยรวม (Demand for Labor) ซึ่งจะสะท้อนผ่านยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTS Job Openings) และยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls: NFP) โดยเรามองว่าหากยอดตำแหน่งงานเปิดรับและ NFP รวมแล้วออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด (10.5 + 0.2 = 10.7 ล้านตำแหน่ง) ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมองว่าภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ซึ่งถ้าหากอัตราการเติบโตของรายได้ (Average Hourly Earnings) ปรับตัวขึ้นสูงกว่าคาด (สูงกว่า +4.7%y/y หรือสูงกว่า +0.3%m/m) ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ Fed มากขึ้น หรือเพิ่มโอกาส Fed ขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.75% ในช่วงไตรมาสที่ 3 ได้ (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ตลาดให้โอกาสเพียง 38%)

 

ในกรณีดังกล่าวประเมินว่ามีโอกาสที่จะเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะหุ้นเทคและหุ้นสไตล์ Growth อาจปรับตัวลงได้ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed โดยไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของประธาน Fed ต่อสภาคองเกรส ซึ่งคาดว่าจะยังคงย้ำจุดยืนว่าภารกิจจัดการอัตราเงินเฟ้อของ Fed ยังไม่เสร็จสิ้น และจำเป็นจะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและอาจคงไว้ที่ระดับสูงตลอดทั้งปีนี้ จนกว่าจะมั่นใจว่าสามารถคุมปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงได้สำเร็จ นอกจากนี้ประธาน Fed อาจไม่ได้แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือคงมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีโอกาสที่จะรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ในปีนี้ได้

 

  • ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB โดยเฉพาะถ้อยแถลงของประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของ ECB ในปีนี้ ซี่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดมองว่า ECB อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) จากระดับล่าสุดที่ 2.50% จนแตะระดับสูงกว่า 3.75% ได้

 

  • ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของผู้ว่าการ BOJ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ โดยประเมินว่า BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.10% พร้อมกับคงเป้าบอนด์ยีลด์ 10 ปีญี่ปุ่นที่ระดับ 0.00%+/-0.50% (ยังคงทำ QE ต่อ) ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า BOJ อาจเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ในปีนี้ หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงและจะมีการเปลี่ยนผู้ว่าฯ BOJ ในช่วงไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ดี สำหรับธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ตลาดมองว่า RBA จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 3.60% จนกว่า RBA จะมั่นใจว่าสามารถคุมปัญหาอัตราเงินเฟ้อได้สำเร็จ (อัตราเงินเฟ้อและภาพเศรษฐกิจชะลอลงต่อเนื่องอย่างชัดเจน) ส่วนธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.75% ต่อ หลัง BNM อาจมองว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องและการขึ้นดอกเบี้ยก่อนหน้าอาจเพียงพอที่จะคุมปัญหาเงินเฟ้อ โดยที่ไม่กดดันการเติบโตเศรษฐกิจจนเกินไป

 

  • ฝั่งไทย – ตลาดมองว่าภาพการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจะช่วยหนุนให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52 จุดได้ ทั้งนี้ ประเมินว่าแม้การบริโภคในประเทศยังคงฟื้นตัวได้ดีตามภาพเศรษฐกิจโดยรวม และมีส่วนช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ฐานราคาสินค้าของเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าพลังงานและเนื้อสัตว์ในเดือนกุมภาพันธ์ จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนกุมภาพันธ์ชะลอลงสู่ระดับ 3.9% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI จะยังคงสูงกว่าระดับ 2%
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising