วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเร็ว และแข็งกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค เนื่องจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศ โดยปัจจัยภายนอกมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เงินบาทและเงินสกุลกลุ่มประเทศเกิดใหม่ผันผวนสูง ขณะนี้ ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องและเร็วขึ้นเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่ง อาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงและการปรับตัวของผู้ประกอบการได้
ธปท. จะเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามธุรกรรมที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้ไทยเป็นแหล่งพักเงินระยะสั้น เพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท ขณะที่ปัจจัยภายนอกยังคาดการณ์ได้ยาก และจะส่งผลให้ค่าเงินสกุลประเทศเกิดใหม่ผันผวนได้ต่อเนื่อง ภาคเอกชนจึงควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยช่วงที่เงินบาทแข็งค่า เป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้มีภาระหนี้หรือค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระเป็นสกุลเงินต่างประเทศ รวมทั้งธุรกิจสามารถนำเข้าสินค้าและเครื่องจักร หรือเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศด้วยต้นทุนค่าเงินที่ถูกลง
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบที่ 4 ของปีนี้ คาดว่า กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% เนื่องจากหนี้ภาคครัวเรือนที่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นการเร่งตัวขึ้น 3 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว และแนวโน้มของคุณภาพหนี้เริ่มมีสัญญาณถดถอยลง เชื่อว่าปัจจัยนี้จะทำให้ กนง. มีความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงิน และคงติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กนง. จะยังคงติดตามผลลัพธ์ของมาตรการ Macro และ Micro Prudential ทั้งมาตรการสินเชื่อบ้านใหม่ รวมทั้งมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ (Credit Underwriting Standards) ด้วย ซึ่ง กนง. ยังคงให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินในระยะยาวเป็นหลัก ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศปรับสูงขึ้น ทำให้สำนักเศรษฐกิจต่างพากันปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลง โดยโจทย์หลักของการดำเนินนโยบายการเงินยังคงอยู่ที่การจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านความเปราะบางของระบบการเงินที่อาจส่งผลต่อระบบการเงินไทย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล