เงินบาทในช่วงเช้าวันนี้ (20 ตุลาคม) อ่อนค่าลงแตะระดับ 38.47 บาทต่อดอลลาร์ช่วงสั้นๆ ซึ่งเป็นสถิติการอ่อนค่าสูงสุดในรอบกว่า 16 ปีครั้งใหม่ (นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 ที่ 38.46 บาทต่อดอลลาร์) ก่อนจะทยอยแข็งค่าขึ้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 38.40 บาทต่อดอลลาร์
โดยเงินบาทในวันนี้อ่อนค่าลงเช่นเดียวกับเงินเยน เงินหยวน และสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ตามแรงหนุนที่แข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ จากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ โดยบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ขยับขึ้นเหนือระดับ 4.10% ไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี เมื่อคืนที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
ส่งผลให้ตลาดทยอยเพิ่มน้ำหนักให้กับโอกาสความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% เป็นครั้งที่ 5 ในการประชุมเดือนธันวาคม ต่อเนื่องจากที่น่าจะปรับขึ้น 0.75% ในการประชุมเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ สัญญาณขายสุทธิพันธบัตรต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติอาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ทำให้ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น กว้างมากขึ้น กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงแตะระดับ 149.86 เยนต่อดอลลาร์
นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธันวาคม) ปรับตัวลดลงหลุดโซนแนวรับ ลงสู่ระดับ 1,632 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ การปรับตัวลงของราคาทองคำอาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนยังคงเลือกที่จะเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลวธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) โดยตลาดประเมินว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.3 แสนราย ซึ่งยังเป็นระดับที่สะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังมีความแข็งแกร่งอยู่ (แต่หากยอดดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจนแตะระดับ 4 แสนรายขึ้นไป จะสะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น)
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว มองว่าผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed หลังเริ่มมีเจ้าหน้าที่ Fed หลายท่านออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับที่อาจสูงกว่าคาดการณ์ดอกเบี้ย หรือ Dot Plot ล่าสุด ส่วนรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนยังคงอยู่ในความสนใจของตลาด และอาจช่วยพยุงไม่ให้ตลาดปรับตัวลงแรงได้ หากรายงานผลประกอบการโดยรวมออกมาดีกว่าคาด
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาพตลาดที่กลับมากังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อีกครั้ง จนอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านสำคัญก่อนหน้าที่ระดับ 38.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในช่วงนี้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.00% ต่อเนื่อง ก็อาจยิ่งกดดันให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวของไทยเผชิญแรงเทขายจากบรรดานักลงทุนต่างชาติมากขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งฟันด์โฟลวนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงไหลออกจากตลาดบอนด์ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาทในช่วงนี้ (ยอดขายบอนด์สุทธิกว่า 1 หมื่นล้านบาทนับตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์)
นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาทองคำก็อาจทำให้เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลวธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้เช่นกัน ทั้งนี้ เรามองว่าแนวต้านสำคัญของเงินบาทอาจยังคงอยู่โซน 38.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าวอาจเห็นบรรดาผู้ส่งออกมาทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น ส่วนผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติที่มีสถานะ Short เงินบาท ก็อาจทยอยขายทำกำไรสถานะ Short เงินบาทในโซนดังกล่าวได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก