×

วิกฤตเด็กจบปริญญาตรีหางานทำไม่ได้มากที่สุด

09.03.2022
  • LOADING...
วิกฤตเด็กจบปริญญาตรีหางานทำไม่ได้มากที่สุด

เชื่อไหมว่าในจำนวนผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน หรือคนที่ยังไม่เคยหางานทำได้เกือบครึ่งหนึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี 

 

ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยสถานการณ์การว่างงานในไตรมาส 4 ของปี 2564 มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 6.3 แสนคน แต่ข้อมูลที่น่าตกใจคือ ตัวเลขการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดแพร่ระบาด โดยผู้ว่างงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่จบการศึกษาในสาขาด้านสังคมศาสตร์ ธุรกิจ การบริหาร และพาณิชย์

 

เด็กจบปริญญาตรีหางานทำไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ช่วงปลายปี 2562 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2563 มีเด็กจบระดับอุดมศึกษาที่ว่างงานและไม่เคยมีงานทำมาก่อนอยู่ประมาณเกือบ 80,000 คน และค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นจนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 120,000 คน 

 

และถ้าเราดูกลุ่มผู้ว่างงานที่ไม่เคยมีงานทำมาก่อนจำนวนกว่า 380,000 คน จะพบว่าส่วนใหญ่ถึง 49.3% คือผู้ที่จบระดับอุดมศึกษา รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 15.9%, มัธยมศึกษาตอนต้น 15.7%, ชั้นประถมศึกษาและต่ำกว่านั้น 9% ส่วน ปวส. 7% และ ปวช. เพียง 2.9% 

 

แน่นอนว่าปัญหาการว่างงานที่หนักหนาขนาดนี้มาจากผลกระทบของโควิด แต่อันที่จริงปัญหาของเด็กที่จบปริญญาตรีแต่หางานทำไม่ได้เกิดขึ้นมานานก่อนมีโควิด และแย่ลงอีกเมื่อเจอโควิดถล่มซ้ำ 

 

ทักษะดิจิทัลและ Soft Skill นายจ้างต้องการ แต่มหาวิทยาลัยอาจไม่ได้สอน

เทคโนโลยีทำให้โลกนี้เปลี่ยนไป และโควิดก็เป็นตัวเร่งให้โลกเปลี่ยนเร็วขึ้น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เขาสำรวจโดยการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ และวิเคราะห์ Big Data จากการประกาศหางานออนไลน์มากกว่า 5 แสนตำแหน่ง พบว่านอกจากทักษะวิชาชีพเฉพาะแล้ว ทักษะที่นายจ้างต้องการมากขึ้นอย่างชัดเจนนับตั้งแต่เกิดโควิด คือทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะดิจิทัล และทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ตัวอย่างเช่น อาชีพช่างเทคนิค มีจำนวนนายจ้างที่ต้องการลูกจ้างที่มีทักษะภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตถึง 1 เท่าตัว 

 

นอกจากนี้สิ่งที่นายจ้างต้องการคือพนักงานที่มี Soft Skill เช่น ความสามารถในการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัวได้เร็ว ทักษะเหล่านี้พบว่าคือสิ่งที่ยังหาเรียนรู้ได้ยากในมหาวิทยาลัยไทย

 

บัณฑิตจบใหม่หลายคนต้องทำงานต่ำกว่าทักษะที่เรียนมา

หลายคนอาจจะโต้แย้งว่า ในโลกยุคใหม่เด็กจบใหม่หลายคนไม่จำเป็นต้องทำงานประจำรับเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท เพราะมีอาชีพใหม่ๆ มากมาย เช่น ทำธุรกิจ ขายของออนไลน์ หรือยูทูเบอร์ แต่ถ้าเราศึกษาในภาพใหญ่จะพบว่าเด็กจบใหม่ทุกคนไม่สามารถประสบความสำเร็จแบบนั้นได้ทั้งหมด พวกเขายังต้องหางานประจำทำ และยอมทำงานที่ต่ำกว่าทักษะที่เรียนมา

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ อาชีพไรเดอร์ ไม่ได้บอกว่าเป็นอาชีพที่ไม่ดีนะครับ ไรเดอร์เป็นอาชีพอิสระที่มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ กว่า 54% ของไรเดอร์มีรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือน แต่ข้อมูลที่น่าสนใจคืออาชีพไรเดอร์มีคนขับแบบเป็นงานประจำที่จบปริญญาตรีถึง 20% ซึ่งข้อมูลนี้มันอาจสะท้อนถึงความสูญเปล่าของเวลา 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย

 

นอกจากนี้ข้อมูลช่วงปี 2562-2563 ยังมีคนหนุ่มสาวอายุ 15-24 ปี จำนวนมากกว่า 1.4 ล้านคนที่ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้เรียน หรือไม่ได้ฝึกฝนทักษะต่างๆ เลยในช่วงวัยที่ควรจะฝึกฝนมากที่สุด

 

มหาวิทยาลัยรัฐปรับตัวช้า เพราะรายได้มหาวิทยาลัยไม่ผูกกับการมีงานทำของผู้เรียน

ถามว่าปัญหาเด็กจบใหม่ขาดทักษะที่นายจ้างต้องการในโลกยุคใหม่เกิดจากอะไร จากงานวิจัยพบว่า เกิดจากคุณภาพการเรียนการสอนที่แตกต่างกันในมหาวิทยาลัย ถ้าเราดูข้อมูลจะเห็นว่าบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยวิจัย ซึ่งประกอบไปด้วย จุฬาฯ, มหิดล, เกษตรศาสตร์, ธรรมศาสตร์, เชียงใหม่, ขอนแก่น, สงขลานครินทร์, พระจอมเกล้าธนบุรี และเทคโนโลยีสุรนารี ได้เงินเดือนเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาคือมหาวิทยาลัยเอกชน ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่ามหาวิทยาลัยเอกชนต้องปรับตัวและปรับหลักสูตรให้ตรงตามความต้องการของนายจ้างเพื่อดึงดูดให้มีนักศึกษามาสมัครเรียน ต่างจากมหาวิทยาลัยรัฐบาลที่ไม่จำเป็นต้องปรับตัวมาก เพราะได้รับเงินสนับสนุนรายปีจากรัฐบาล ดังนั้นปัญหาคือ มหาวิทยาลัยรัฐปรับตัวและปรับหลักสูตรได้ช้า เพราะไม่มีแรงกดดันมาก ทุกปีก็ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอยู่แล้ว ทำให้รายได้ของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่ได้ผูกกับการมีงานทำหรือรายได้ของผู้เรียน 

 

เสนอเปิดเผยรายได้เฉลี่ยของบัณฑิตจบใหม่ให้ผู้เรียนตัดสินใจก่อนเลือกเรียน

สิ่งที่งานวิจัยของ TDRI เสนอคือการเปิดเผยรายได้เฉลี่ยของบัณฑิตจบใหม่ในแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นข้อมูลและตัดสินใจก่อนเลือกว่าจะเรียนที่ไหน

 

ข้อมูลที่ TDRI ต้องไปประสานขอมา พบว่าในหลักสูตรเดียวกันของมหาวิทยาลัยรัฐ 2 แห่ง มีบัณฑิตจบใหม่ที่มีรายได้เฉลี่ยแตกต่างกัน ข้อเสนอในระยะแรกคือ ต้องเปิดเผยข้อมูลนี้ให้เป็นสาธารณะเพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ ส่วนในระยะยาวถ้าเป็นไปได้ควรจะใช้สิ่งนี้เป็นหนึ่งในเกณฑ์ชี้วัดการจัดสรรงบประมาณของรัฐ ทำให้เกิดการแข่งขันพัฒนาหลักสูตรคล้ายกับมหาวิทยาลัยเอกชน

 

ถ้าดูตัวอย่างของต่างประเทศเขาไปไกลมากแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยเพอร์ดู ที่สหรัฐอเมริกา เขาให้เรียนก่อน แล้วถ้าจบไปมีงานทำค่อยจ่ายเงินค่าเรียนในรูปแบบจ่ายคืนเป็นส่วนแบ่งรายได้ ถ้าไม่มีงานทำก็ยังไม่ต้องจ่าย โมเดลนี้หลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เอาไปใช้สำหรับการเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตร ซึ่งจะทำแบบนี้ได้เขาต้องมั่นใจในหลักสูตรของเขามากว่าจบไปมีงานทำแน่นอน

 

เสนอรัฐอัดฉีดเงินเพิ่มสกิล อย่าช่วยแค่ค่าครองชีพอย่างเดียว

นอกจากนี้ในโลกที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต คือเรียนจบปริญญาตรีแล้วมาทำงานก็ต้องเรียนรู้เพิ่มอีก รัฐบาลสิงคโปร์เขามีโครงการที่เรียกว่า SkillsFuture ให้เครดิตเป็นเงินสำหรับคนที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป นำไปเรียนในคอร์สต่างๆ ที่โครงการรับรอง และในช่วงโควิด สิงคโปร์เขาให้เพิ่มอีก 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพราะรู้ว่าทักษะใหม่ๆ จำเป็นมากในโลกหลังโควิด

 

ในเมืองไทยเรามีนโยบายอัดฉีดเงินให้ประชาชนโดยตรงอยู่แล้ว แต่กระจุกอยู่กับด้านค่าครองชีพ ยังไม่ให้ความสำคัญกับด้านการศึกษา TDRI เสนอให้รัฐบาลแจกเงินคนอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกคน คนละ 6,000 บาท ทุก 3 ปี เพื่อให้เลือกฝึกทักษะที่ต้องการได้จากสถาบันที่ผ่านการรับรองคุณภาพ โดยอาจจะพัฒนาคูปองเป็น NFT หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้บล็อกเชนในอนาคตเพื่อกันไม่ให้ขายสิทธิไปให้ผู้อื่น

 

วิกฤตการว่างงานอาจจะแก้ไขและดีขึ้นได้ตามการฟื้นตัวของเศรษกิจหลังจากนี้ แต่วิกฤตเด็กจบปริญญาตรีแต่ยังหางานทำไม่ได้มากที่สุด คือระเบิดเวลาของสังคมไทยที่รอวันปะทุเป็นปัญหาใหญ่ ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปในอนาคตเราอาจจะได้เห็นนักลงทุนย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่าเด็กไทยของเราไม่เก่งพอ

ชมคลิปรายการ KEY MESSAGES: ทำไมเด็กจบใหม่ ตกงานมากที่สุด | KEY MESSAGES

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X