×

ผอ.หอศิลปกรุงเทพฯ เปิดใจหลังถูกไล่ออก เผยกรรมการบางคนมองหอศิลปฯ เป็นธุรกิจมากกว่าพื้นที่แสดงศิลปะ

24.09.2019
  • LOADING...
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD เปิดเผยสาเหตุการถูกไล่ออกจากตำแหน่งว่า ตำแหน่งผู้อำนวยการหอศิลปฯ มีวาระ 4 ปี โดยตนเริ่มงานวันที่ 1 มีนาคม 2561 จากนั้นในวันถัดไป (2 มีนาคม 2561) คณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ชุดที่รับเขาเข้าทำงานก็หมดวาระ

 

การทำงานลักษณะเหมือนทดลองงานเป็นสัญญา 6 เดือน จากนั้นเดือนสิงหาคม 2561 ก็ต่อสัญญาอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2562

 

ทั้งนี้การประเมินครั้งล่าสุดตนคาดว่าจะเป็นการต่อสัญญายาวไปจนครบวาระ แต่เมื่อถึงวันประเมินตนก็ไม่ผ่านการประเมินจากคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ชุดใหม่ ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 

 

“มีกรรมการท่านหนึ่งบอกกับผมตรงๆ เลยว่า ไม่พอใจที่ผมให้สัมภาษณ์ด่า กทม. ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งเขาบอกว่าผมเรียนรู้ช้า” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตรกล่าว

 

ปวิตร กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนไม่เคยใช้คำไม่สุภาพในการพาดพิงถึง กทม. เพียงแต่บทบาทของผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ คือคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างกรรมการมูลนิธิฯ และเครือข่ายศิลปินซึ่งแสดงออกอย่างเต็มที่ ดังนั้นต้องรักษาสมดุล หากไม่ทำอะไรเลยฝั่งเครือข่ายศิลปินก็จะไม่พอใจ

 

ส่วนการบริหารหอศิลปกรุงเทพฯ ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องงบประมาณเมื่อ กทม. เลิกจ่ายเงินอุดหนุนประมาณ 45 ล้านบาทต่อปีตั้งแต่ปี 2561 ดังนั้นหอศิลปกรุงเทพฯ ต้องใช้เงินจากรายได้ที่หาเองและเงินบริจาค จากเดิมที่เคยมีรายได้สองทางก็เหลือทางเดียว 

 

พื้นที่หอศิลปกรุงเทพฯ ถูกออกแบบมาให้เป็นพื้นที่สาธารณะและใช้เงินอุดหนุน เพราะมีพื้นที่หารายได้น้อยมากประมาณ 10% แต่การบริหารงานก็กำลังลงตัว โดยปีนี้ใช้งบประมาณไปเพียง 23% ของที่ตั้งไว้ 

 

ปวิตร กล่าวด้วยว่า ตนไม่ได้เรียกร้องอะไรนอกจากขอดูรายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเอง หากมีข้อผิดพลาดก็จะได้ถอดบทเรียนไปใช้ในการบริหารงานด้านศิลปวัฒนธรรมที่อื่นๆ ในอนาคต แต่นี่ขอไป 24 วันแล้วยังไม่ได้อะไรกลับมา

 

เมื่อถามว่าหากมีการเปิดรับสมัครตำแหน่งนี้อีกครั้งจะกลับไปสมัครหรือไม่

 

ปวิตร กล่าวว่า ถึงสมัครไปเขาคงไม่รับเพราะเดินมาถึงจุดแตกหักแล้ว อีกทั้งทัศนคติของตนกับกรรมการมูลนิธิฯ ก็เข้ากันไม่ได้ ในการประชุมมีกรรมการมูลนิธิฯ บางคนมีทัศนคติมองหอศิลปกรุงเทพฯ เป็นเชิงพาณิชย์มากกว่าเป็นพื้นที่แสดงศิลปะ อาทิ มีข้อเสนอให้นำร้านกาแฟสตาร์บัคส์เข้ามาทั้งที่มีร้านกาแฟเดิมอยู่แล้วถึง 4 ร้าน รวมถึงเสนอให้ติดป้ายแสดงสินค้ารอบหอศิลปกรุงเทพฯ เหมือนห้างมาบุญครอง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising