×

สรุปกรณี #บ้านป่าแหว่ง จากจุดเริ่มต้นต่อสู้คัดค้าน สู่การได้คืนพื้นที่ ที่ยังไม่ถึงฉากสุดท้าย

03.05.2022
  • LOADING...
บ้านป่าแหว่ง

แฮชแท็ก #หมู่บ้านป่าแหว่ง กลับขึ้นมาปรากฏบนพื้นที่โซเชียลมีเดียอีกครั้งอย่างเงียบๆ อาจเป็นเพราะเรื่องราวความเคลื่อนไหวค่อยๆ ถูกเรื่องร้อนอื่นๆ กลบไปกว่า 3 ปี นับแต่ปลายปี 2561 ที่มีข่าวว่าจะมีการคืนพื้นที่ จนในที่สุดก็สามารถต่อสู้จนสามารถได้พื้นที่กลับคืนกันจริงๆ เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา

 

กว่า 4 ปีที่เรื่องดังกล่าวถูกทำให้แดงขึ้นมา จนนำไปสู่การขุดคุ้ยเรื่องราวมากมาย นับตั้งแต่ปี 2540 ที่สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ได้ทำเรื่องขอกองทัพบกใช้พื้นที่ก่อสร้างบ้านพักตุลาการ ซึ่งเดิมทีเมื่อปี 2500 กรมที่ดินได้ออกเอกสารหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือ นสล. เลขที่ 394/2500 เพื่อให้ใช้ในราชการกระทรวงกลาโหม กองทัพภาคที่ 3 จึงไปขึ้นทะเบียนการใช้ประโยชน์ต่อกรมธนารักษ์ 

 

จากนั้นทางกระทรวงยุติธรรมขอเข้าไปทำโครงการการก่อสร้างบ้านพักและสำนักงาน 

 

ต่อมากระทรวงการคลังได้อนุมัติให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้พื้นที่ก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5, บ้านพักและอาคารชุดสำหรับข้าราชการตุลาการ จนได้เริ่มโครงการเมื่อปี 2556 

 

โครงการเหมือนจะได้เดินไปตามปกติ แต่เรื่องกลับถูกนำไปสู่ความสนใจของสาธารณชนจนเกิดการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ต่อมามากมาย

 

THE STANDARD จึงขอชวนทุกคนกลับมาย้อนดูความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอีกครั้ง ว่าเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ อะไรบ้างก่อนมาถึงวันนี้ 

 

– 9 มิถุนายน 2559

สาธารณชนเห็นภาพถ่ายทางอากาศเชิงดอยสุเทพ และการตั้งคำถามดังๆ “มีใครทราบไหมครับว่า หมู่บ้านที่กำลังก่อสร้างบนดอยสุเทพใกล้ห้วยตึงเฒ่านี้ เป็นของใคร…”

 

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ ‘หมอหม่อง’ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา เชียงใหม่ โพสต์รูปเป็นภาพถ่ายทางอากาศพื้นที่ก่อสร้างแห่งหนึ่งบริเวณเชิงดอยสุเทพ ตั้งคำถามว่า “มีใครทราบไหมครับว่า หมู่บ้านที่กำลังก่อสร้างบนดอยสุเทพใกล้ห้วยตึงเฒ่านี้ เป็นของใคร หน่วยงานใด รุกล้ำเขตอุทยานหรือไม่ แหม ท่าจะเป็นบ้านพักที่วิวสวยมากนะ” 

 

โดยระบุว่าพบโครงการก่อสร้างบ้านพักที่มีทั้งบ้านเดี่ยวและอาคารชุดรวมหลายสิบหลังบนพื้นที่ป่าที่ถูกแผ้วถางเป็นบริเวณกว้างบริเวณเชิงดอยสุเทพ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยภาคประชาชนได้ตรวจสอบข้อมูล พบว่าเป็นโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5

 

– กุมภาพันธ์ 2561 

ดร.ทนง ทองภูเบศร์ นักวิชาการอิสระ ทำแคมเปญรณรงค์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 คืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพใน change.org สำหรับ 1 ใน 4 เหตุผลสำคัญที่เรียกร้องคือ ‘เมื่อรัฐยังมีกลไกเข้าใช้พื้นที่ป่าธรรมชาติได้ตามอำเภอใจ และก็อ้างว่าทำถูกกฎหมายแล้ว เป็นเรื่องที่อันตราย เพราะไม่สามารถไว้วางใจได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกับโครงการนี้อีก ต้องมาทบทวนกลไกการเข้าใช้พื้นที่ป่าธรรมชาติ’

 

จนถึงวันนี้ก็ยังมีผู้สนับสนุนกว่า 1.2 แสนชื่อ

 

– 26 กุมภาพันธ์ 2561

เพจเฟซบุ๊ก ‘ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน’ ได้โพสต์เกี่ยวกับที่มาของที่ดินบริเวณเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นสถานที่ก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ ตลอดจนระยะเวลาการดำเนินงานและจำนวนเงินที่ใช้

 

– 20 มีนาคม 2561 

พล.อ. เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น สั่งชะลอโครงการ

 

– 5 เมษายน 2561

ที่เชียงใหม่ ตัวแทนของเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ รวม 16 องค์กร เข้าประชุมกับผู้บัญชาการ มทบ.33 ในวันเดียวกัน ณ กรุงเทพมหานคร พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่มีการก่อสร้างต่อ คงไม่มีการรื้อถอน ซึ่งอาจจะปรับเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ต่อไป 

 

– 10 เมษายน 2561 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำผลการพูดคุยระหว่างตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้านการก่อสร้าง รวมถึงคำชี้แจงของศาลยุติธรรม เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมระบุว่า พื้นที่อาคารสำนักงานสามารถตกลงกันได้ แต่ยังมีปัญหาพื้นที่บ้านพักที่ใช้งบประมาณรัฐดำเนินการจนใกล้เสร็จ หากรื้อทิ้งก็เสียดาย และอาจเสี่ยงถูกผู้รับเหมาฟ้องร้องดำเนินคดี 

 

– 29 เมษายน 2561

ชาวเชียงใหม่พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรกว่า 44 องค์กร ร่วมกันจัดกิจกรรม ‘วันประกาศเจตนารมณ์ประชาชน ทวงคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ’  

 

– 26 สิงหาคม 2561 

ที่เชียงใหม่ มีการเคลื่อนไหวใหญ่ครั้งที่สอง ในชื่อ ‘รวมพลังหัวใจสีเขียว ทวงสัญญาป่าแหว่ง’

 

หนนี้มีเครือข่ายกว้างขึ้น ทั้ง ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ, บัณรส บัวคลี่ โดยมีเครือข่ายสนับสนุนจากกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่เป็นแกนนำระดับหัวกะทิของประเทศ เช่น ด.ต. พิชิต ตามูล, บรรจง นะแส นำมวลชนเข้าร่วม รวมถึงพระมหาบุญช่วย สิรินธโร เลขาธิการเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ ที่ชี้ว่าพระสงฆ์เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพราะเป็นการร่วมปกป้องผืนป่าที่ตั้งของดอยสำคัญ พระบรมธาตุดอยสุเทพ มีคุณค่าทางจิตใจและจิตวิญญาณ 

 

– 27 สิงหาคม 2561 

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รายงานข่าว นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการชุมนุมทวงสัญญาให้รื้อบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ของตัวแทนเครือข่ายด้านอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม พาดหัว ‘รัฐบาลหนุนย้ายบ้านพักตุลาการไปอยู่ที่ใหม่ ย้ำทุกอย่างชัดเจน แต่ต้องใช้เวลา แนะผู้ชุมนุมทวงสัญญารื้อบ้านพักทำความเข้าใจ’

 

วิวาทะสำคัญจากข่าวนี้คือการนำเสนอเนื้อความตอนหนึ่งว่า ‘หากการออกมาคัดค้านได้ดำเนินการตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นโครงการก่อสร้าง ก็จะไม่ทำให้เรื่องยืดยาวหรือต้องสูญเสียงบประมาณของรัฐเช่นนี้’

 

– 28 สิงหาคม 2561

ประธานเครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ ออกมาโต้นายกรัฐมนตรี ยืนยันเครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพเริ่มคัดค้านหมู่บ้านป่าแหว่งมาตั้งแต่ปี 2558 ขณะที่ ศรีสุวรรณ จรรยา แถลงติงนายกรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาลว่า “อย่าบิดเบือนข้อเท็จจริง” 

 

– 1 ตุลาคม 2561 

เครือข่ายขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ ยื่นเรื่องถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ ส่อเค้าอาจจะมีการทุจริต เนื่องจากพบมีข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้มีความสนิทใกล้ชิดเป็นการส่วนตัวกับเอกชนที่รับจ้างออกแบบโครงการ และสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการผิดปกติ

 

– 28 พฤศจิกายน 2561 

สำนักงานศาลยุติธรรมแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาท 2 นักเคลื่อนไหวกรณีหมู่บ้านป่าแหว่ง ท้ายสุดวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ทนายความสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แจ้งว่าพนักงานอัยการได้พิจารณาสำนวนคดีแล้วมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง 

 

– 17 สิงหาคม 2563 

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) หยิบยกกระทู้ถามเรื่องปัญหาโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการที่เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ค้างคาของ พล.ต.ต. สุพิศาล ภักดีนฤนาถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มาพิจารณา ท้ายสุดมีมติที่ประชุมเห็นชอบโอนบ้านพักพร้อมสิ่งก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่ให้ธนารักษ์เชียงใหม่

 

– 16 กันยายน 2563 

ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ชี้แจงว่าฝ่ายธุรการก็มีหน้าที่จัดหาบ้านพักให้ผู้พิพากษา วันดีคืนดีไปขอพื้นที่ทหารมาได้ ทหารก็ส่งมอบพื้นที่มาให้ กระบวนการก่อสร้างก็ทำตามระเบียบขั้นตอนทุกอย่าง แต่ปรากฏว่าเราขาดความละเอียดรอบคอบในขั้นตอนการก่อสร้าง ทุกอย่างที่ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้าไปในพื้นที่หรือการตัดต้นไม้ในพื้นที่ ก็กลายเป็นภาพที่ปรากฏที่เขาเรียกกันว่าป่าแหว่ง ประกอบกับสถานะทางการเมืองที่มันมีความขัดแย้งในพื้นที่เชียงใหม่ ศาลก็ตกอยู่ในสถานะที่สะท้อนความขัดแย้งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นจำเลยในขั้นต้น

 

– 19 มกราคม 2564

มีรายงานพบหมู่บ้านป่าแหว่งในเกม Microsoft Flight Simulator 2020 เกมจำลองการขับเครื่องบินที่ผู้เล่นสามารถขับเครื่องบินเที่ยวรอบโลกได้โดยไม่จำกัดเส้นทางบิน ซึ่งแผนที่ในเกมอ้างอิงจากแผนที่จริง และคำนวณระยะทางด้วยระบบดาวเทียม หมู่บ้านป่าแหว่ง แปรสู่ #หมู่บ้านป่าโหว่ ในนิยายวาย และละคร คุณหมีปาฏิหาริย์ ที่เริ่มออกอากาศ 27 มีนาคม 2565 ทางช่อง 3 HD ซึ่งสร้างจากนิยายวายของ ปราปต์

 

โดยเนื้อหาในนิยายได้นำปมปัญหาบ้านตุลาการดอยสุเทพ และแฮชแท็ก #Saveป่าโหว่ มากล่าวถึง โดยมีตัวละครนักเคลื่อนไหวประท้วงคัดค้านการก่อสร้างหมู่บ้านป่าโหว่ที่เชียงใหม่ สำหรับฉบับนิยาย ได้ถูกเขียนเผยแพร่ตั้งแต่ช่วงเมษายน 2562 ซึ่งผู้จัดละครอย่าง ป้าแจ๋ว-ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ ได้เผยตรงไปตรงมาทางทวิตเตอร์เมื่อ 5 มีนาคม 2565 ว่าในละครก็จะไม่มีการตัดทิ้งเรื่องประท้วงป่าโหว่ 

 

– 21 มีนาคม 2565

เครือข่ายขอคืนผืนป่าดอยสุเทพจัดงานแถลงข่าวเพื่อทวงถามความชัดเจน กรณีที่ประธานศาลฎีกาแจ้งเรื่องการคืนพื้นที่บ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้กับกรมธนารักษ์แล้วตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2563 แต่กรมธนารักษ์ยังไม่สามารถรับพื้นที่และบ้านพักคืนได้ 

 

– 9 เมษายน 2565

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จัดกิจกรรมผูกผ้าเขียวรอบคูเมือง เพื่อรอดูท่าทีในการส่งมอบพื้นที่คืน โดยเปิดเผยว่าหากหลังสงกรานต์ยังไม่ได้ข้อสรุปจะเคลื่อนไหวใหญ่ 29 เมษายน 

 

ต่อมา 2 วันก่อนครบกำหนดแผนจัดชุมนุมใหญ่ เมื่อวันที่ 27 เมษายน ได้มีการจัดพิธีรับมอบคืนพื้นที่ 85 ไร่ และบ้านพักจำนวน 45 หลัง 

 

– 27 เมษายน 2565 

อธิบดีกรมธนารักษ์, รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 และ ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ, บัณรส บัวคลี่ และ ลักขณา ศรีหงส์ ตัวแทนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เข้าร่วมพิธีรับมอบคืนพื้นที่ 85 ไร่ และบ้านพักจำนวน 45 หลัง 

 

อย่างไรก็ตาม ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ เปิดเผยว่า บ้านพักจำนวน 45 หลัง ที่หลายฝ่ายอยากทราบว่าจะมีการรื้อหรือไม่นั้น ตามมติของเครือข่ายคือต้องทำการรื้อออกเท่านั้น

 

นับว่ามหากาพย์หมู่บ้านป่าแหว่งนี้ยังไม่สิ้นสุด ต่อจากนี้ยังคงต้องตามกันต่อว่ากระบวนการทั้งหมดจะจบจริงๆ ในอีกกี่ปี

 

ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X