×

เมื่อเรื่องเล่าทำให้ของมีชีวิต ผ่านพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน โปรตุเกสแห่งเมืองบางกอก

10.09.2021
  • LOADING...
Baan Kudichin Museum

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ถ้าหากเปรียบว่าการเดินเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์คือการเดินทางข้ามกาลเวลาแบบหนึ่ง พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีนแห่งนี้คือการนำทุกคนย้อนเวลากลับไปเข้าใจความเป็นมาของชาวโปรตุเกสที่กุฎีจีนตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนมาถึงในยุคปัจจุบัน
  • แง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจและท้าทายต่อความคิดในงานโบราณคดีด้วยคือการที่วัตถุบางชิ้นเปี่ยมไปด้วยความทรงจำ ความผูกพัน และชีวิต ซึ่งทั้งหมดเป็นความรู้สึกที่นักโบราณคดีไม่อาจวิเคราะห์ผ่านรูปทรงภายนอกของสิ่งของได้อย่างผิวเผิน เพราะความสำคัญของสิ่งของสักชิ้นมาจากความทรงจำ เรื่องเล่า และความผูกพันด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเสน่ห์ของพิพิธภัณฑ์บ้านที่ไม่อาจหาได้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 
  • ประวัติศาสตร์ไกลตัวที่เราเรียนกันอยู่ทุกวันนี้มีประโยชน์อะไร หากมันไม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับครอบครัว ชุมชน และตัวเรา 

บ้านไม้สีครีมยกพื้นสูงสามชั้นซ่อนตัวอยู่สุดซอยข้างวัดซางตาครู้ส เป็นพิพิธภัณฑ์บ้านที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวโปรตุเกสในสยามได้อย่างลงตัว ด้วยการผสมผสานทั้งประวัติศาสตร์ไกลตัวกับใกล้ตัวเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดความโดดเด่นแตกต่างไปจากพิพิธภัณฑ์บ้านและชาติพันธุ์แห่งอื่นๆ ในไทย  

 

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว คุณตอง-นาวินี พงศ์ไทย (ทรรทรานนท์) ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน โดยแรงบันดาลใจเริ่มต้นจากอยากรู้จักตัวเอง และเล่าเรื่องราวให้คนรุ่นหลังได้ฟังเรื่องของชาวโปรตุเกสย่านกุฎีจีน ด้วยความคิดนี้เองทำให้ในพิพิธภัณฑ์บรรจุไปด้วยเรื่องราวของชาวโปรตุเกสตั้งแต่แรกเริ่มเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาและเรื่องราวของคนในชุมชนกุฎีจีน และตระกูลทรรทรานนท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากทหารโปรตุเกส

 

Baan Kudichin Museum

(ซ้าย) ไก่เป็นโลโก้ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เพราะตามตำนานถือว่าไก่เป็นสัญลักษณ์ของชาวโปรตุเกส

(ขวา) คุณตอง-นาวินี พงศ์ไทย (ทรรทรานนท์) ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน

 

พิพิธภัณฑ์ก่อตั้งสำเร็จด้วยความโชคดีและต้นทุนทางสังคมของคุณตองที่คนในครอบครัวมีทั้งวิศวกรและสถาปนิกช่วยกันออกแบบ ทำให้การจัดพื้นที่ภายในบ้านและนิทรรศการเกิดความลงตัวและสวยงาม ห้องนิทรรศมีอยู่ 2 ชั้น ชั้นล่างสุดเป็นพื้นที่รับแขก ขายของที่ระลึก และร้านกาแฟ ซึ่งสร้างรายได้พอให้พิพิธภัณฑ์พอเลี้ยงตัวเองได้ 

 

อยากเล่าด้วยว่า ความจริงแล้ว ผมตั้งใจมาเพียงเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตามคำโฆษณาของน้องคนหนึ่ง หลังจากเดินชมก็เห็นความตั้งใจอย่างสูงของเจ้าของบ้าน จึงได้ลงมือช่วยวิเคราะห์เครื่องกระเบื้องจีนภายในตู้จัดแสดงให้เขาด้วย เพื่อเติมเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์หลังนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

 

หลังจากดื่มกาแฟและนั่งคุยกับคุณตองแล้ว คุณตองก็ได้นำขึ้นเรือนไปชมกับนิทรรศการชั้นแรก (นับจากไต้ถุนจะเป็นชั้นที่สอง) มีชื่อว่า ‘กำเนิดสยามโปรตุเกส’ บอกเล่าประวัติศาสตร์ของชาวโปรตุเกสที่เข้ามาในสยามครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งผมถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ไกลตัว (Distant History) จุดเด่นของห้องนี้คือการจำลองหัวเรือคาร์แร็ค (เรือกำปั่น) ของโปรตุเกส การแต่งกายของชาวโปรตุเกสในยุคนั้น และประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ 

 

Baan Kudichin Museum

นิทรรศการห้องแรกว่าด้วยกำเนิดสยามโปรตุเกส และขวามือเป็นหัวเรือคาร์แร็คจำลอง 

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงมีพระราชนิพนธ์ไว้ว่า “พวกโปรตุเคศนี้ได้มาอยู่ในเมืองไทยก่อนกว่าคนยุโรปเมืองอื่น…คนโปรตุเคศที่อยู่ในเมืองสยาม ไม่มีที่พึ่งที่อ้างในเมืองเดิมแล้ว ก็กลับกลายเป็นคนเป็นข้าแผ่นดินสยามไป ครั้นนานมาได้ภรรยาสยามแลเขมร มอญ ญวนต่างๆ ในกรุงสยามนี้ก็มีบุตรชายหญิงเกิดต่อๆ ลงมามีรูปคล้ายกับคนในประเทศนี้ไป ถึงกระนั้นก็ยังถือศาสนาโรมันคาทอลิค” 

 

มีหลายสิ่งที่ชาวโปรตุเกสนำมาเข้ามาในสยาม ได้แก่ ความรู้ด้านการทหาร การใช้ปืน การแพทย์ วิศวกรรม รวมไปถึงของใกล้ตัวของคนไทยทุกวันนี้คือพืชผักผลไม้หลายชนิดที่กินกันเสียจนคิดว่าเป็นของไทย เช่น พริก มะละกอ ข้าวโพด ฟักทอง สับปะรด น้อยหน่า ฝรั่ง มะม่วงหิมพานต์ มะเขือเทศ เป็นต้น พูดกันง่ายๆ ว่าถ้าไม่มีชาวโปรตุเกส คงไม่มีส้มตำและอาหารไทยรสชาติเผ็ดจี๊ดจ๊าดอีกหลายชนิดแบบทุกวันนี้

 

ถัดมาเป็นนิทรรศการชั้นที่สาม แบ่งออกเป็น 2 โซน โซนแรก บอกเล่าประวัติศาสตร์ของชุมชนกุฎีจีนและวัดซางตาครู้สในรอบ 200 ปีเศษ ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และอาจเรียกว่าชั้นนี้เน้นเรื่องทางศาสนา และการก่อตั้งชุมชนชาวคริสต์ที่อพยพมาจากอยุธยาพร้อมกับพระเจ้าตาก 

 

ในสายตาผม จุดเด่นของห้องนี้มีอยู่ 2 อย่างคือ อย่างแรก โมเดลจำลองและภาพของโบสถ์ซางตาครู้สในอดีต โดยเฉพาะในยุคที่สอง ซึ่งมีหน้าตาเป็นอาคารทรงจั่วแบบศิลปะไทยสมัยรัชกาลที่ 3 มีอายุระหว่าง พ.ศ. 2378-2450 อันสะท้อนถึงการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมท้องถิ่นกับความเชื่อทางศาสนาคริสต์ และการไม่ยึดติดกับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของคนในสมัยก่อน 

 

Baan Kudichin Museum

ภาพและโมเดลจำลองของโบสถ์หลังเดิมของวัดซางตาครู้ส สะท้อนการผสมผสานสถาปัตยกรรมสยาม-ฝรั่ง

 

Baan Kudichin Museum

คัมภีร์ไบเบิลตัวอักษรลาติน แต่อ่านออกเสียงเป็นภาษาไทย

 

จุดเด่นอีกอย่างที่เจ้าพิพิธภัณฑ์นำเสนอคือ พระคัมภีร์ไบเบิลที่ใช้ตัวอักษรโรมันถ่ายเป็นเสียงไทยคล้ายกับคาราโอเกะ ตัวอย่างเช่นในพระคัมภีร์เขียนว่า ‘KHÂM SÒN CHRISTANG’ คำอ่านคือ ‘คำสอนคริสตัง’ สาเหตุที่ต้องเขียนด้วยตัวอักษรโรมันนี้เนื่องจากในสมัยนั้นมีชาวคริสต์จากที่อื่น เช่น ญวนจันทบุรี ที่อ่านภาษาไทยไม่ได้ จึงใช้อักษรโรมันเป็นพระคัมภีร์ 

 

โซนที่สอง เป็นการนำเสนอประวัติศาสตร์ระยะใกล้ (Nearby History) ผ่านข้าวของเครื่องใช้และความเป็นอยู่ของคนในชุมชนกุฎีจีน เมื่อเดินเข้าไปจะพบเตียงนอนขนาดเล็กหลังน่ารักรุ่นสัก 50-60 ปีก่อน ใกล้กับเตียงมีโต๊ะ และหิ้งพระประดิษฐานรูปเคารพของพระเยซูและพระนางมารีย์พรหมจารี (พระแม่มารี) ซึ่งนับถือกันในหมู่ของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ปกติแล้วในบ้านของชาวคริสต์ที่กุฎีจีนบางหลัง เช่น บ้านคุณตอง จะมีหิ้งพระเกือบทุกห้อง แต่หิ้งใหญ่ที่สุดจะเป็นของผู้ใหญ่ในบ้าน 

 

Baan Kudichin Museum

ห้องนอน หิ้งพระ และโต๊ะทำงาน จำลองการใช้ชีวิตในอดีตของคนในบ้านนี้

 

Baan Kudichin Museum

จำลองห้องอาหารและข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านสมัยก่อน

 

ถัดจากเตียงนอนเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระบุง ตะกร้า เตาเชิงกราน และในตู้มีการจัดแสดงเครื่องกระเบื้องจีนที่คนในสมัยก่อนใช้กัน เช่น กระโถน และชาม ซึ่งตู้นี้เองที่ผมได้ช่วยเขาวิเคราะห์อายุสมัยและแหล่งผลิตของเครื่องกระเบื้องพวกนี้ พบว่าส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเครื่องกระเบื้องที่ผลิตในสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลายถึงยุคสาธารณรัฐ ที่น่าสนใจคือ จานเชิงเขียนลายคราม ซึ่งผลิตจากห้าง ‘กิมตึงฮวดกี่’ ซึ่งเป็นของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฮวด) อายุราวปลายรัชกาลที่ 4 และกระโถนเขียนลายครามเป็นรูปแปดเซียน (โป้ยเซียน) ผลิตในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นวัตถุที่บอกถึงการอยู่อาศัยของคนในตระกูลนี้มาช้านาน 

 

Baan Kudichin Museum

(ซ้าย) โถอบผ้าผลิตจากประเทศจีนสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลาย

(ขวา) ตู้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของคนในตระกูลของเจ้าของบ้าน และของที่เพื่อนๆ ของคุณตองบริจาคมา ทำให้บางแง่มุมสถานที่แห่งนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ของผองเพื่อน

 

แต่มีแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจและท้าทายต่อความคิดในงานโบราณคดีด้วยเล็กน้อย กล่าวคือ ปกติแล้วนักโบราณคดีเวลาเจอโถสักใบก็อาจจะบอกว่าใช้สำหรับเก็บสิ่งของบางอย่าง แต่ในกรณีของโถทรงกลอง เคลือบเขียว ผลิตจากเตาอี้ซิ่ง ในสมัยปลายราชวงศ์ชิงนี้กลับถูกใช้เป็นโถสำหรับอบผ้าและใส่พลู อีกทั้งของพวกนี้ยังมีความทรงจำ (Memory) ที่แฝงฝังอยู่ในวัตถุ คุณตองกล่าวว่า โถอบผ้าใบนี้เป็นของคุณทวดเพียงใบเดียวที่หลงเหลือมาจึงอยากเก็บไว้ ดังนั้นมันจึงเปี่ยมไปด้วยความทรงจำ ความผูกพัน และชีวิต ซึ่งทั้งหมดเป็นความรู้สึกที่นักโบราณคดีไม่อาจวิเคราะห์ผ่านรูปทรงภายนอกของสิ่งของได้อย่างผิวเผิน เพราะความสำคัญของสิ่งของสักชิ้นมาจากความทรงจำ เรื่องเล่า และความผูกพันด้วย สิ่งเหล่านี้เองเป็นเสน่ห์ของพิพิธภัณฑ์บ้านที่ไม่อาจหาได้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 

 

Baan Kudichin Museum

(ซ้าย) โต๊ะแสดงอาหารของชาวโปรตุเกสกุฎีจีนที่ยังคงกินกันในทุกวันนี้

(ขวา) สัพแหยกกับขนมปัง อาหารว่างที่ไม่สามารถหากินได้ที่ไหน อยากให้มาลองกันครับ

 

ก่อนที่จะเดินลงจากห้องนิทรรศการนี้ จะมีโต๊ะอาหารที่จำลองอาหารจานเด่นของชาวโปรตุเกสที่ตกทอด และยังทำกินกันอยู่ในชุมชน ซึ่งหาไม่ได้ในชุมชนไหน เช่น สตูลิ้นวัว หมูอบมันฝรั่ง สัพแหยก เป็นต้น โดยเฉพาะอาหารอย่างหลังนี้คุณตองได้นำมาประยุกต์ทำเป็นของว่างด้วยการนำสัพแหยกมาเป็นไส้ของขนมปังเข้ากันมากเมื่อทานกับกาแฟ สัพแหยกเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูคนไทยทั่วไปเป็นแน่ อธิบายสั้นๆ ก็คือ สัพแหยกนี้ทำจากเนื้อสัตว์ผัดกับเครื่องเทศแล้วปรุงรสชาติคล้ายไส้กะหรี่ปั๊บ

 

ผมลืมเล่าไปนิดว่าบ้านหลังนี้ความจริงแล้วไม่ใช่บ้านของคุณตองแต่แรกเริ่ม หากเป็นบ้านของเครือญาติที่ขายให้กับคุณตอง เนื่องจากแก่มากและดูแลบ้านไม่ไหวแล้ว จากนั้นจึงรวบรวมของและวัตถุจัดแสดงต่างๆ ของตระกูลที่ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ไม่ว่าจะเป็นกระโถน แท่นหินบดยา เขาสัตว์ที่ใช้ทำยา และสมุนไพรต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นชีวิตของบรรพบุรุษ 

 

ถ้าหากเปรียบว่าการเดินเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์คือการเดินทางข้ามกาลเวลาแบบหนึ่ง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือการนำทุกคนย้อนเวลากลับไปเข้าใจความเป็นมาของชาวโปรตุเกสที่กุฎีจีนตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนมาถึงในยุคปัจจุบัน ซึ่งตอบโจทย์ของเจ้าของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่ต้องการู้จักตัวตนของตนเอง แม้ว่านิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดนี้จะนำเสนอเรื่องของชาวโปรตุเกสอย่างกะทัดรัดก็ตาม ดูจะเป็นเรื่องห่างไกลจากตัวเราในบางแง่มุม แต่เมื่อผมเดินจนจบทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ตัวของเรานั้นเป็นใครมาจากไหน และประวัติศาสตร์ไกลตัวที่เราเรียนกันอยู่ทุกวันนี้มีประโยชน์อะไร หากมันไม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับครอบครัว ชุมชน และตัวเรา  

 

หากใครสนใจไปเที่ยวสามารถเดินทางไปได้เลย เปิดทุกวัน ระหว่างเวลา 09.30-18.00 น. หรือโทรไปสอบถามได้ที่ 08 1772 5184 ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ baankudichinmuseum.com

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X