×

เปิดตัวตน บอ.บู๋ คนบ้าบอล คอลัมนิสต์สุดเกรียน และบทเรียนที่ไม่รู้จบตลอด 48 ปี

10.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS READ
  • สมัยเด็กๆ บอ.บู๋-บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร เคยฝันไว้ว่า อยากเป็นตำรวจ เพราะโตขึ้นมาในครอบครัวตำรวจ และถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งวันหนึ่งได้รู้จักนิตยสาร สตาร์ ซอคเก้อร์ ความบ้าฟุตบอลก็ครอบงำ และทำให้เขาอยากทำงานด้านฟุตบอลหาเลี้ยงชีพแทน
  • ต้นแบบในการทำงานและคนที่เขายึดถือเป็นแบบอย่างคือ ‘ย.โย่ง-เอกชัย นพจินดา’ และ อาว์‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นอกจากนี้ก็ยังชื่นชอบการอ่านนิตยสารเพลงร็อก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้สำบัดสำบวนการเขียนของเขาต่างจากคอลัมนิสต์ฟุตบอลคนอื่นๆ
  • เชื่อว่าความผิดพลาดและความล้มเหลวในชีวิตคือบทเรียนที่เรียนไม่รู้จบ แม้จะระวังตัวแค่ไหน แต่ก็มีเรื่องใหม่ๆ วนเวียนเข้ามาปะทะอยู่ตลอด ส่วนเสียงวิจารณ์และคำก่นด่าก็จะเลือกฟังและให้ค่าคำด่าน้ำดีที่มีเหตุผลเท่านั้น

หากเปรียบความผิดพลาดและเรื่องห่วยๆ ในชีวิตเป็นเหมือนสายฟ้าฟาด จอม-บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร หรือที่ใครหลายคนรู้จักเขาในชื่อ ‘บอ.บู๋’ ก็ขอเปรียบตัวเองเป็นดั่งสายล่อฟ้า!

 

ในชีวิตการทำงานและการเป็นคนข่าวตลอด 25 ปีที่ผ่านมา บูรณิจฉ์ต้องผ่านพ้นผจญคลื่นอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามาท้าทายนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งถูกแบนจากการจัดรายการโทรทัศน์ โดนสั่งพักจัดรายการวิทยุไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง สั่งงดสะบัดน้ำหมึกสำแดงเดชบนหน้าหนังสือพิมพ์ชั่วคราว

 

ไม่นานมานี้ พอหันมาทำเพจคอนเทนต์กีฬาฟุตบอลออนไลน์ในชื่อเดียวกันกับนามปากกา ก็ยังไม่วายถูกตำรวจเรียกตัวรับทราบข้อกล่าวหากรณีมีผู้สนับสนุนเป็นบริษัทรับพนันออนไลน์

 

ถึงจะพุ่งชนกับความผิดพลาดและความเจ็บปวดเป็นว่าเล่น แต่บูรณิจฉ์เชื่อว่า เรื่องราวเหล่านี้เปรียบเสมือนบทเรียนราคาแพงที่เขาจะต้องจ่าย เพื่อแลกกับประสบการณ์และความสำเร็จ ที่สำคัญหากเลือกที่จะเดินหน้าบนถนนสายนี้แล้ว

มันก็ยังเป็น ‘บทเรียนที่ไม่รู้จบ’ เช่นนี้ตลอดไป

 

บ่ายแก่ๆ ของวันจันทร์ที่แสนธรรมดาวันหนึ่ง เรามีนัดกับบูรณิจฉ์ที่ออฟฟิศสยามสปอร์ต ย่านนวลจันทร์ “เฮ้ย! หวัดดีๆ” เขาทักทายเราพลันเดินนำทีมงาน 5 ชีวิต เข้าไปยังห้องทำงานด้วยท่าทีที่เป็นกันเอง หลังเลี้ยวลัดในอาคารอยู่ไม่นาน เราก็พบว่า พาตัวเองมาหยุดอยู่ที่ฐานบัญชาการคอลัมนิสต์กีฬาของสยามสปอร์ตแล้ว

 

เราชวนคอลัมนิสต์ฝีปากกล้าคนนี้พูดคุยทุกเรื่อง บอกเล่าทุกมุมมอง ตั้งแต่การนำความรักชอบและความบ้าในเกมกีฬาฟุตบอลมาเล่นแร่แปรธาตุ จนเห็นผลสัมฤทธิ์เป็นรายได้และเม็ดเงิน การผจญปัญหา และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านพ้นเข้ามา ไปจนถึงชีวิตในช่วงวัยใกล้เลข 5 ที่เขายอมรับว่า ทุกอย่างเริ่ม ‘นิ่งลง’ ไม่เหมือนช่วงวัยกลัดมันอีกต่อไป

 

THE STANDARD ชวนคุณมาทำความรู้จักตัวตนและบทเรียนที่ไม่รู้จบตลอด 48 ปี ของบอ.บู๋-บูรณิจฉ์ รัตนวิเชียร ชายที่ขายวิญญาณให้ซาตานมาตั้งแต่ปี 1981 (สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด) และนิยามว่า ตัวเองคือ ‘คนบ้าบอลที่มีโอกาสเขียนหนังสือ ถ่ายทอดความคิดเห็นให้คนอื่นได้รับรู้’

 

 

บทเรียนที่ 1

แปรรูปความบ้าใช้หาเลี้ยงชีพ

 

บูรณิจฉ์เคยเล่าเรื่องราวชีวิตวัยเด็กของเขาไว้ในหนังสือ บอ.บู๋ WHO ARE YOU? ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว (2008) ว่าสมัยเด็กๆ เขาฝันว่าอยากเป็นตำรวจ เนื่องจากคุณพ่อก็ทำงานรับราชการในอาชีพตำรวจเช่นกัน แต่เพราะเป็นคนไม่ชอบเรียน ประกอบกับเริ่มรู้จักกีฬาที่ชื่อว่า ‘ฟุตบอล’ ความชอบและความสนใจของเขาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

 

“ตอนเด็กๆ ผมก็เหมือนเด็กทุกคน เวลาครูถาม ก็เห็นมีแต่คนตอบว่า อยากเป็นนักบินอวกาศ อยากเป็นตำรวจ เราก็ตอบตำรวจมาตั้งแต่เด็ก พอผ่านไปสัก 2-3 ปี ครูถามใหม่ คนอื่นตอบเหมือนเดิมเลย ผมเลยตอบไปว่า อยากเป็นมนุษย์หมาป่าครับ ก็เราชอบอย่างนี้ อยากเป็นมนุษย์หมาป่าอะ มันเจ๋งดี

 

“เราอยากเป็นตำรวจ เพราะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก อยู่ในครอบครัวตำรวจ พ่อก็คาดหวัง เพราะเป็นลูกชายคนโต สมัยนั้นเรียนจบ ม.3 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ก็สอบติดที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เพื่อเตรียมตัวสอบทหารต่อ แต่เราไม่ชอบเรียนหนังสือ พ่อให้ไปเรียนพิเศษติวเตรียมทหารก็เรียนไม่ได้ เป็นคนชอบเล่น มองว่าเป็นวัยรุ่น วันเสาร์-อาทิตย์จะให้มาเรียนอะไร เลยบอกเขาตรงๆ ว่า ถ้าจะเป็นตำรวจแล้วต้องทำขนาดนี้ก็ไม่เอาแล้ว”

 

หลายคนอาจตัดสินเขาไปแล้วว่า เป็นคนไม่รักเรียนและไม่เอาอ่าว ข้อสันนิษฐานแรกอาจใช่ เพราะเขาก็ยอมรับด้วยตัวเองอยู่เรื่อยๆ ส่วนข้อหลังคุณอาจจะยังตัดสินเขาเร็วไป

 

เขาย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัวเองได้รู้จักกับฟุตบอลในสมัยเด็กๆ ว่าเป็นเพราะชอบเล่นกีฬาชนิดนี้กับเพื่อนๆ กระทั่งช่วงที่เรียนชั้น ป. 6 ก็ได้รู้จักนิตยสารกีฬา สตาร์ ซอคเก้อร์ ผ่านการแนะนำจากรุ่นพี่ในโรงเรียน จุดนี้เองที่ทำให้เริ่มหลงใหลและพาตัวเองเข้าไปผูกพันกับกีฬาฟุตบอลโดยไม่รู้ตัว จนเรียกความสัมพันธ์รูปแบบนี้ว่า ความบ้า!

 

“รุ่นพี่คนหนึ่งเขาบ้าบอลมาก่อนเรา เอาหนังสือ สตาร์ ซอคเก้อร์ มาให้ดู พอเห็นว่ามันมีเสื้อฟุตบอลทีมนี้ มีนักเตะทีมลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เราก็ตามเขามาตั้งแต่ตอนนั้น ค่อยๆ เริ่มปลูกฝังความบ้าฟุตบอลในตัว ไม่ได้รักนะ ต้องเรียกว่าบ้าเลยแหละ เพราะทำงานอยู่กับมันมาตั้งแต่วันที่เรียนจบจนปัจจุบัน ไม่เคยเปลี่ยนงาน ทำงานด้านฟุตบอลมาตั้งแต่วันแรก

 

“คอลัมน์แรกที่เราได้เขียนลงหนังสือพิมพ์ สตาร์ ซอคเก้อร์ คือ ‘ทุ่งหญ้าแห่งความฝัน’ จริงๆ แล้วความเป็นมาของการได้เริ่มเขียนคอลัมน์คือ รุ่นพี่ในออฟฟิศเขาชอบเบี้ยวงาน (หัวเราะ) พอเขาเบี้ยวงาน เราเป็นน้องใหม่ (เริ่มทำงานกับบริษัทสยามสปอร์ตเมื่อปี 1993) เขาเห็นเราทะลึ่งตึงตัง บ้าบอ มีความคิดแปลกแยก ก็เลยชวนไปเขียนคอลัมน์แทน แล้วให้ตั้งชื่อคอลัมน์ของตัวเองไปเลย โดยใช้ชื่อว่า ‘Field of Dreams’ หรือทุ่งหญ้าแห่งความฝัน”

 

พอบ้าบอลแล้วมันทำให้เรามีอาชีพ มีเงิน มีรายได้เลี้ยงครอบครัว และได้รับประสบการณ์ มีที่ไหนโดนจ้างไปดูบอล แล้วยังได้รายได้แถมต่อยอดได้อีก

 

คงเป็นเพราะลีลาการเขียนและสำบัดสำนวนที่แพรวพราว ทุ่งหญ้าแห่งความฝันของเขาจึงได้รับความนิยมภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เรียกว่าในสมัยนั้น จดหมายจากผู้อ่านจ่าหน้าซองส่งตรงถึงเขาทุกวันไม่ขาดสาย

 

25 ปีผ่านไป ไวแต่ไม่โกหก ปัจจุบันบูรณิจฉ์ยังคงทำงานในฐานะคอลัมนิสต์และกูรูกีฬาให้กับบริษัทสยามสปอร์ตอยู่ เขียนหนังสือ ตีพิมพ์บทความลงหนังสือพิมพ์และหน้าเว็บไซต์ออนไลน์หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไป แต่สิ่งที่ยังทำให้เขายึดเหนี่ยวกับอาชีพนี้เกินครึ่งชีวิตล้วนแล้วแต่เป็นเพราะความบ้าและความหลงใหล

 

“พอบ้าบอลแล้วมันทำให้เรามีอาชีพ มีเงิน มีรายได้เลี้ยงครอบครัว และได้รับประสบการณ์ มีที่ไหนโดนจ้างไปดูบอล ออกค่าตั๋วเครื่องบินให้ แล้วยังได้รายได้แถมเอามาต่อยอดได้อีก ฉะนั้นทุกอย่างมันจะหล่อเลี้ยงของมันอยู่อย่างนี้ เราถึงบอกไงว่า ถ้าวันหนึ่งไม่ได้ทำงานด้านฟุตบอลแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไร ยังคิดไม่ออกเลย ก็คงต้องทำต่อไปจนกว่าจะไม่ไหว”

 

 

บทเรียนที่ 2

ศึกษาจากต้นแบบ อยากเก่งต้องขยันเรียนรู้ อ่านให้เยอะ

 

ก่อนจะมาเป็น บอ.บู๋ ในวันนี้ เขาเคยใช้นามปากกาว่า ‘จอมยุทธ์ลูกหนัง’ มาแล้ว เนื่องจากคำว่า ‘จอม’ ก็มาจากชื่อเล่นของเขา ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งเขาสันนิษฐานว่ารุ่นพี่ที่ตั้งนามปากกานี้ให้น่าจะบ้าหนังจีนกำลังภายในเป็นพิเศษ!

 

น้อยคนนักจะทราบว่า นามปากกา บอ.บู๋ ถูกคิดค้นและตั้งขึ้นตามชื่อไอดอลและบรมครูนักข่าวกีฬาไทยที่คอลัมนิสต์กีฬาทุกคนต่างยกย่อง ย.โย่ง-เอกชัย นพจินดา ไม่เว้นแม้แต่บูรณิจฉ์ที่บูชาและเคารพตำนานผู้ล่วงลับคนนี้เป็นดั่งครูเช่นกัน

 

“เขาเป็นแรงบันดาลใจให้ผมมาทำงานตรงนี้ พี่โย่งเขาทำให้เรารู้สึกว่า ‘เฮ้ย เอาฟุตบอลมาเป็นอาชีพก็ได้นี่หว่า’ เอาสิ่งที่บ้ามาเป็นอาชีพได้ เห็นพี่โย่งเขาเอาบอลมาเป็นอาชีพ ทำให้ตัวเองมีชื่อเสียง ก็เลยยึดถือเป็นแม่แบบในการทำงาน พี่โย่งเป็นคนเขียนหนังสือดี เพราะเขาอ่านหนังสือเยอะ ก่อนที่คุณจะเป็นนักเขียนได้ก็ต้องเป็นนักอ่านมาก่อน

 

“ที่สำคัญ แกเป็นคนที่แม่นข้อมูลมาก สมัยก่อนต้องใช้แค่ความจำอย่างเดียว เปิดกูเกิลหรือวิกิพีเดียก็ไม่ได้ ผมก็อยู่ในยุคนั้น ทำงานในยุค 90’s ไม่มีอินเทอร์เน็ต ถ้าอยากรู้ว่าแมตช์นี้แข่งกันผลออกมาเท่าไร แล้วไปค้นหนังสือนี่ใช้เวลาเป็นชั่วโมงเลย เพื่อเขียนคำแค่ไม่กี่คำ ก็เลยต้องเป็นคนที่มีความจำแม่นมากๆ ไม่ก็ต้องจดข้อมูลใส่โน้ตเอาไว้ นี่คือเรื่องที่เราเรียนรู้จากพี่โย่ง จะเขียนเรื่องอะไร ข้อมูลต้องเป๊ะ ต้องรู้ลึกรู้จริง อย่าเขียนแบบฉาบฉวยตีกิน เห็นผมบ้าๆ บอๆ เวลาผมทำงาน ข้อมูลก็ต้องเอาให้มันเป๊ะ ให้ลึกกว่าคนอื่น ให้มันกินขาด”

 

พี่โย่งเป็นคนเขียนหนังสือดี เพราะเขาอ่านหนังสือเยอะ ก่อนที่คุณจะเป็นนักเขียนได้ก็ต้องเป็นนักอ่านมาก่อน อย่าเขียนแบบฉาบฉวยตีกิน เห็นผมบ้าๆ บอๆ เวลาผมทำงาน ข้อมูลก็ต้องเอาให้มันเป๊ะ ให้ลึกกว่าคนอื่น ให้มันกินขาด

 

ถึงจะรักเล่นมากกว่าเรียน ไม่ชอบอ่านหนังสือสอบตำราสอน แต่ก็ยังยืนยันว่า ตัวเองเป็นคนรักการอ่านมากๆ ทั้งนิตยสารเพลง นิตยสารภาพยนตร์ นิยายจีน เรื่องสั้น บทความ รวมถึงผลงานของอีกหนึ่งตำนานนักเขียนไทยผู้ล่วงลับ อาว์‘รงค์ วงษ์สวรรค์

 

“นักเขียนที่ผมชอบที่สุดคือ รงค์ วงษ์สวรรค์ สมัยก่อนผมจะพยายามติดสำนวน ติดอะไรเขามานะ แต่พอไปเรื่อยๆ มันก็จะค่อยๆ ปรับ กลับมาเป็นตัวเรา เมื่อก่อนเราตามอาว์’รงค์ทุกอย่างเลย จนโดนคนด่าว่า ‘มึงแม่งเขียนเหมือน รงค์ วงษ์สวรรค์’ มันเป็นเพราะเราอ่านมาก อ่านมากแล้วมันอิน เหมือนโดนครอบงำ แต่พอเวลาผ่านไปสัก 5-6 ปี มันก็จะเริ่มปรับกลับมา

 

“ไม่ใช่แค่ รงค์ วงษ์สวรรค์ อากังฟู, ขุนทอง อสุนี ณ อยุธยา, อารีย์ แท่นคำ เราก็อ่านงานของเขา สมัยก่อนผมชอบอ่านหนังสือเพลง เป็นคนชอบฟังเพลงร็อก เฮฟวี แล้วศัพท์หนังสือเพลงมันจะเป็นภาษาเฮฟวีเมทัล เช่นเพลงนี้แม่งทะลุเข้าไปในรูหู ทะลวงลงไปในรูดา_ แล้วเราก็สามารถปรับมาใช้เป็นภาษาฟุตบอลได้ ผมได้อิทธิพลมาจากหนังสือเพลงร็อกแอนด์โรลล์และเฮฟวีเยอะ”

 

ทุกวันนี้แม้งานสื่อสิ่งพิมพ์อาจลดน้อยลงไปบ้างตามวัฏจักรและวงรอบอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลง แต่เขาก็ยังคงทำงานป้อนคอนเทนต์ลงเพจทุกวันไม่มีหยุด เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือ เสพข้อมูลข่าวสารฟุตบอลที่ทำเป็นกิจวัตร ไม่เคยว่างเว้น

 

 

บทเรียนที่ 3

ปรับตัวให้ไว เรียนรู้เทคโนโลยีให้ชำนาญ

แล้วจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังตามลำพัง

 

การทำงานในฐานะนักสื่อสารมวลชนในอดีตยากและลำบากกว่านี้มาก เรื่องนี้ผู้เขียนเองก็ได้ยินมาอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะโลกที่ยังไม่รู้จักกับนวัตกรรมที่เรียกว่า ‘เสิร์ชเอนจิน’ หรือสารานุกรมออนไลน์

 

ขณะเดียวกัน แม้จะทำงานยากกว่า ต้องถีบทะยานศักยภาพตัวเองมากเป็นพิเศษ แต่นี่ก็เป็นหนึ่งในเหุตผลที่ทำให้คนข่าวและคอลัมนิสต์ในอดีตมีความอดทนและรอบคอบสูง

 

ถามในมุมคนสื่อ บูรณิจฉ์เชื่อและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวงการนี้เป็นอย่างดี เมื่อความเร็วและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวกำหนด คนอ่าน ผู้บริโภคก็ได้รับผลประโยชน์ ฉะนั้นนักวารสารศาตร์ก็ควรจะฉวยโอกาสเร่งปรับตัวให้ทัน เพื่อก้าวตามความเปลี่ยนแปลงนี้

 

“ผมเข้าใจว่ามันคงจะต้องเปลี่ยน ทุกอย่างมันสะดวกสบายขึ้น ในอดีตสมมติไฟไหม้ตอน 4 โมงเย็น เราจะได้ชมข่าวทางโทรทัศน์ในช่วงหัวค่ำ ได้อ่านหนังสือพิมพ์ในเช้าวันรุ่งขึ้น เดี๋ยวนี้พอไฟไหม้ก็ไลฟ์ได้ทันที เหมือนฟุตบอล ยิงประตูปุ๊บ เรารู้แล้วใครยิง ช่วงยุค 70’s หรือ 80’s กว่าจะได้รู้ผลการแข่งขันต้องรอ 2 วัน ให้ สตาร์ ซอคเก้อร์ ตีพิมพ์


“พออะไรๆ มันไว มันก็ทำร้ายกระดาษ เราเป็นคนทำงานยุคอะนาล็อกมาก่อน ทำหนังสือมานานจนต้นทุนมันสูง เมื่อเปลี่ยนแพลตฟอร์ม ผมมองว่า มันกลายเป็นดีสำหรับเรากว่าเดิมด้วยซ้ำ ทำให้มีรายได้มากขึ้น แต่สำหรับคนที่ต้นทุนต่ำ อาจจะไม่มีชื่อเสียง เป็นนักข่าวธรรมดา พอหนังสือพิมพ์ปิดตัว เขาโดนเลย์ออฟออกไปก็แย่ จะไปทางออนไลน์ก็ไม่ได้ ไม่มีใครรู้จัก บังเอิญเราโชคดีที่ทำตรงนี้มานานจนมีต้นทุนที่พอจะเปลี่ยนไปอยู่ในอีกแพลตฟอร์มได้สบายๆ ซึ่งมันดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ”

 

ทุกวันนี้เพจเฟซบุ๊ก บอ.บู๋ มียอดคลิกไลก์อยู่ที่ประมาณ 2.5 แสนราย ผู้กดติดตามอยู่ที่ประมาณ 2.6 แสนราย ส่วนโพสต์และการอัปโหลดคอนเทนต์บนหน้าเพจก็มีเอนเกจเมนต์ที่คึกคักมาโดยตลอด ถือเป็นผลลัพธ์ของคนทำงานในยุคสื่อเก่าที่เข้าใจธรรมชาติของสื่อใหม่ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

 

“มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ มันก็ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น พอมีเฟซบุ๊กแฟนเพจ เราก็นอนทำงานได้ ตื่นมากดรูปดู นึกจะเขียนอะไรก็ทำได้ทันที นั่งอยู่บนรถ นั่งขี้ ดื่มกับเพื่อน ก็ทำงานได้หมด มันสบายขึ้น”

 

 

บทเรียนที่ 4

หากเขาติเพื่อก่อจงรับฟัง แต่ถ้าด่าเอามันอย่าให้ค่า

 

แม้จะดูเป็นคนห่าม มีลีลาการพากย์ถึงพริกถึงขิง บ้างก็ติงว่า เขาปากจัดเกินไปจนดูไม่งาม และวางตัวไม่เป็นกลาง แต่เชื่อเถอะว่าเขาพร้อมจะรับฟังต่อเสียงวิจารณ์ที่มีถึงเขา ในวงเล็บว่า เสียงติงเหล่านั้นจะต้องเป็นเหตุเป็นผล มุ่งหวังให้เขาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

 

ไม่เช่นนั้นเขาก็พร้อมจะหูทวนลมไม่ใส่ใจ ‘คำด่า’ หรือให้ค่าถ้อยคำแสดงความเกลียดชังซึ่งไร้ที่มาที่ไป

 

มีคนบอกผมว่า ‘ไอบู๋ มึงถ่อยแล้วเท่เหรอวะ?’ เราก็บอกว่า ‘ไม่ได้ถ่อยแล้วเท่ ก็ปากกูเป็นอย่างนี้ เป็นมาตั้งแต่มึงยังเป็นวุ้นอยู่เลย’ คือจริงๆ เรื่องฟีดแบ็กในโลกออนไลน์ผมจะไม่ค่อยไปสนใจ ไม่ค่อยไปให้ราคามาก แต่บางวันมันว่างไง เลยไปตอบเสียหน่อย บางทีมาด่าเราแรงเกินแบบไม่มีเหตุไม่มีผล เวลาด่าหรือตำหนิ จุดประสงค์คือ เพื่อเอาไปปรับปรุงตัว เหมือนเป็นกระจกสะท้อนการทำงาน แต่คนรุ่นใหม่ที่เล่นอินเทอร์เน็ตกลับไม่เข้าใจจุดนี้ ส่วนใหญ่จะด่าเอามันเอาสนุก เอาแบบกูเกลียดและอคติมึง สมมติมาด่าผม ‘ไอสั_บู๋ กูเกลียดหน้ามึง’ อย่างนี้ ผมจะเอาไปปรับตัวยังไง จะให้ไปผ่าหน้าใหม่เหรอ?

 

“การด่า ถ้าอยากให้ผมปรับปรุงตัวต้องมีเหตุผล ถ้าสมมติว่า มุมมองเรื่องนี้ผมไม่ถูกต้อง แล้วคุณมีเหตุผลมารองรับ ผมอ่านผมก็จะเข้าใจว่าต้องปรับปรุงอย่างไร สมัยก่อนช่วงแรกๆ นี่โคตรท้อเลยนะ แล้วยิ่งเป็นการสื่อสารทางเดียวด้วย อึดอัดมาก แต่ก็คิดอยู่เสมอว่า ถ้าคนเกลียดมีมากกว่าคนชอบเมื่อไร คงเลิกอาชีพนี้ คงไปช้อนลูกน้ำขายหรือผ่าฝืน แต่มันยังมีคนที่เขาชอบและเป็นกำลังใจให้เราอยู่ไง ชีวิตมันก็เลยอยู่ได้

 

“ผมโดนมาเยอะมากตั้งแต่สมัยอายุ 20 กว่าๆ จนถึงตอนนี้อายุ 48 แล้ว คิดดูสิว่า ภูมิคุ้มกันผมแข็งแรงแค่ไหน ตอนนี้เวลาโดนด่าก็ช่างมัน ถามว่าท้อไหมก็ท้อ แต่พอคนมันโดนอะไรบ่อยๆ เข้า มันก็จะแข็งแกร่งของมันเอง”

 

ฟีดแบ็กในโลกออนไลน์ผมจะไม่ค่อยไปสนใจ ไม่ค่อยไปให้ราคามาก เวลาด่าหรือตำหนิ จุดประสงค์คือ เพื่อเอาไปปรับปรุงตัว เหมือนเป็นกระจกสะท้อนการทำงาน แต่คนรุ่นใหม่ที่เล่นอินเทอร์เน็ตกลับไม่เข้าใจจุดนี้ ส่วนใหญ่ด่าเอามันเอาสนุก เอาแบบกูเกลียดและอคติมึง

 

 

บทเรียนที่ ‘ไม่รู้จบ’

 

สำหรับคนที่ทำงานในฐานะคอลัมนิสต์มานานเกือบ 3 ทศวรรษ ความผิดพลาดและบทเรียนยังคงเป็นสิ่งที่เขาต้องรู้จักหาวิธีรับมือในทุกๆ วัน แม้อายุและประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น บวกกับการมีลูกสาวจะช่วยทำให้เขานิ่งลงได้บ้าง แต่บางครั้งความซวยก็วิ่งเข้าหาเขาแบบไม่ทันให้ตั้งตัว

 

“ความผิดพลาดมันจะมีมาเป็นระยะ ผมเหมือนเป็นสายล่อฟ้า ไม่ได้เพิ่งมาเป็นตอนทำงาน แต่เป็นมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ มันต้องมีเรื่องมาหาเรา หรือไม่เราก็ต้องแกว่งเท้าไปหาเสี้ยนเอง โดนมาครบเลย สื่อทุกช่องทาง ผมโดนแบนมาหมดแล้ว เคยโดนพักงานหนังสือพิมพ์ 1 เดือนครึ่ง แบนห้ามจัดวิทยุ 4 ครั้ง เคยโดนปลดกลางอากาศจากการเป็นพิธีกรรายการสดทางโทรทัศน์ ทำเพจก็โดนตำรวจออกหมายเรียกอีก แต่มันก็ขึ้นๆ ลงๆ แหละ บางเรื่องเราก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จ ก็ประสบความสำเร็จ เหมือนเป็นราคาที่ต้องจ่าย”

 

ในอดีต บอ.บู๋ ในวัย 20 ปี อาจเป็นคอลัมนิสต์ที่ห้าวเป้ง พร้อมวิ่งชนพุ่งเข้าใส่ทุกคนที่ขวางหน้า กลับกัน ทุกวันนี้ประสบการณ์เร่ิมสอนให้เขามีบทเรียนและรู้จักกับรอยแผลเหล่านั้นมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังรู้สึกว่า บทเรียนเหล่านี้คือ บทเรียนที่พยายามทำความเข้าใจอย่างไรก็จะไม่รู้จบอยู่ดี

 

“สมัยที่อายุ 20 กว่าๆ 30 เศษๆ ตอนนั้นเราชนหมด ไม่สนไม่แคร์ใครจะแบนอะไร แต่ทุกวันนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว ทุกครั้งที่โดนมันก็เหมือนเป็นบทเรียน ทำให้เราเริ่มระมัดระวังมากขึ้น แต่มันก็จะต้องเกิดความผิดพลาดเพิ่มขึ้นเป็นระดับๆ ไล่ขึ้นมา บางทีขนาดรู้สึกว่ารัดกุมแล้วก็ยังมีช่องโหว่ให้เรื่องไม่ดีเข้ามาหาเราจนได้ คือพูดง่ายๆ ว่า สำหรับผมมันคือ ‘บทเรียนที่ไม่รู้จบ’ มันจะมาใหม่เรื่อยๆ พอเรารู้เรื่องนี้แล้ว ไม่ทำแล้ว มันก็จะมีช่องโหว่ให้มาโดนอีกเรื่อง มาทิ่มแทงเราจนได้”

 

ทุกวันนี้ เขาเลิกจัดรายการวิทยุมานานกว่า 10 ปีแล้ว เพราะเข้าใจว่าธรรมชาติของสื่อแพลตฟอร์มนี้อาจไม่ถูกจริตกับสไตล์การทำงานของตัวเอง ไม่ได้มองว่า นี่คือการวิ่งหนีปัญหา แต่คือการเข้าใจ ‘ตัวเอง’ มากกว่า

 

กระทั่งไปเจอพื้นที่ที่ทำให้รู้สึกเป็นตัวของตัวเองจริงๆ บนโลกโซเชียลมีเดีย บอ.บู๋ หรือบูรณิจฉ์คนเดิมในเวอร์ชันที่สุขุมขึ้นกว่าเก่า จึงมีพื้นที่ให้ตัวเองได้วาดลวดลายให้แฟนๆ หายคิดถึงอีกครั้ง

 

ความผิดพลาดมันจะมีมาเป็นระยะ ผมเหมือนเป็นสายล่อฟ้า สำหรับผมมันคือ ‘บทเรียนที่ไม่รู้จบ’ มันจะมาใหม่เรื่อยๆ พอเรารู้เรื่องนี้แล้ว ไม่ทำแล้ว มันก็จะมีช่องโหว่ให้มาโดนอีกเรื่อง มาทิ่มแทงเราจนได้

 

ถามถึงอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า เขาเผลออุทานตัวโตๆ เพราะตกใจอายุที่ใกล้เหยียบหลัก 60 แต่ก็ยังคงยืนยันคำเดิมว่า จะเดินหน้าทำงานที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลไปเรื่อยๆ

 

“ผมคงยังไม่ได้ทิ้งฟุตบอล แต่บทบาทอาจจะเปลี่ยนไป ไม่ได้เขียนข่าวหรือคอลัมน์ ตอนนั้นอาจจะนึกสนุก กลายเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลสักทีม ไปทำอะไรที่สนุกๆ แปลกใหม่ แต่ยังเกี่ยวข้องกับฟุตบอลเหมือนเดิม อาจจะไปเปิดสนามฟุตบอลหรือสร้างทีมฟุตบอลขึ้นมาเป็นทีมสมัครเล่น แล้วค่อยๆ พาเขาเข้าสู่ฟุตบอลลีกอาชีพก็ได้ เราไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น”

 

FYI
  • ชื่อคอลัมน์ ‘ทุ่งหญ้าแห่งความฝัน’ มาจากภาพยนตร์เรื่อง Field of Dreams ที่เขาบังเอิญได้เห็นจากโปรแกรมเพชรหนังพันล้านที่สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งกำลังฉาย
  • เริ่มเขียนคอลัมน์ครั้งแรกในปี 1995 ใช้เวลาอยู่ 2 ปี พัฒนาตัวเองจากเด็กฝึกงานสู่พนักงานเต็มเวลา
  • ถูกแบนจากการจัดรายการวิทยุด้วยวีรกรรมความห่ามที่หลากหลาย เช่น การเปิดเพลงของศิลปินวงซีเปีย, ถูกผู้ฟังทางบ้านโทร.เข้ามาด่าแล้วด่ากลับ, เล่นมุกไม่เปลี่ยนคลื่นจะโดนวิญญาณจากภาพยนตร์เรื่อง The Ring ไปรังแก
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising