เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Amazon Web Services หรือ AWS บริษัทในเครือของ Amazon.com ได้ประกาศแผนที่จะลงทุนมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.9 แสนล้านบาทในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 15 ปี ด้วยการเปิดตัว Region ที่ชื่อว่า AWS Asia Pacific (Bangkok)
การเข้ามาลงทุนของ AWS ทำให้เป้าหมายของไทยที่ต้องการจะก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของอาเซียนมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ด้วยสถานะของ AWS ที่ได้รับการยอมรับจาก Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีของโลก ยกให้เป็นผู้นำด้าน Cloud Infrastructure & Platform Services (CIPS) ติดต่อกันเป็นปีที่ 12
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อยักษ์ใหญ่ ‘Data Center’ ปักหมุดลงทุนไทย 1.9 แสนล้านบาท เราจะได้อะไร
- ได้ครับพี่-ดีครับผม-เหมาะสมครับท่าน! รู้จัก ‘People Pleaser’ ประเภทของคนที่เอาอกเอาใจคนอื่น แต่ฝืนใจตัวเอง
- ผลการศึกษาพบ การเข้านอนช้ากว่าปกติ 2 ชั่วโมงในวันหยุด จะรบกวนวงจรร่างกาย และส่งผลเสียต่อสุขภาพ
ล่าสุด THE STANDARD WEALTH มีโอกาสได้พูดคุยกับ แม็กซ์ ปีเตอร์สัน Vice President of Worldwide Public Sector at AWS เกี่ยวกับแนวทางการขยายธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งในไทย พร้อมกับความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในระดับโลกมาสู่คนไทย
“เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ปัจจัยที่ท้าทายที่สุดสำหรับไทยซึ่งไม่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ คือ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ (Skill Shortage)” ปีเตอร์สันกล่าว
ฉะนั้นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลจะสามารถช่วยได้คือ การกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ทักษะแห่งอนาคตมากขึ้น ซึ่ง AWS จะเข้ามาช่วยสนับสนุนภาครัฐในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะองค์ความรู้ในด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง และเศรษฐกิจดิจิทัล
ปัจจุบัน AWS ได้เริ่มต้นโครงการฝึกอบรมข้าราชการและพนักงานของภาครัฐกว่า 1,200 คน เพื่อพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ผ่านโปรแกรมที่เรียกว่า AWS Academy รวมทั้งการสร้างคอร์สเรียนออนไลน์กว่า 100 คอร์ส แบบไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งให้ข้อมูลเป็นภาษาไทย
นอกจากนี้ AWS ยังได้ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา 8 แห่ง เพื่อผสมผสานองค์ความรู้ของบริษัทในด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง และทักษะดิจิทัลยุคใหม่เข้าไปในหลักสูตร อย่างเช่น การร่วมพัฒนาระบบการเรียนการสอนทางไกลกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อรองรับนักศึกษากว่า 200,000 คนทั่วประเทศ
ในความเป็นจริงแล้ว AWS ไม่ได้เพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุนในไทย แต่เข้ามาตั้งสำนักงานตั้งแต่ปี 2559 พร้อมกับนำเสนอบริการและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น Amazon CloudFront และ AWS Outposts เป็นต้น และแผนการลงทุน 15 ปีที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนเท่านั้น
หลังจากนี้ AWS มีแผนที่จะขยายการลงทุนมากขึ้น โดยมีแผนจะเปิดตัว AWS Local Zone ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบริการการปรับใช้โครงสร้างพื้นฐานของ AWS ที่จัดวางการประมวลผล พื้นที่จัดเก็บ ฐานข้อมูล และบริการอื่นๆ ไว้ใกล้กับประชากรจำนวนมาก ช่วยให้ลูกค้าสามารถส่งมอบบริการได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
เมื่อ AWS ขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศใด บริษัทจะเข้าไปพร้อมกับโปรแกรมพัฒนาในหลายๆ ด้าน เช่น การช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กหรือสตาร์ทอัพ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า AWS Activate ซึ่งให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในด้านเครื่องมือ ทรัพยากร เนื้อหา และคำปรึกษาด้านธุรกิจ ขณะเดียวกันยังให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งทุนอย่าง Venture Capital
“จุดแข็งของไทยคือศักยภาพในการพัฒนาการศึกษาและทักษะของประชากร และที่สำคัญคือเป้าหมายของภาครัฐที่แสดงออกมาให้เห็นชัดเจนว่าต้องการจะเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล ทำให้เรามองเห็นว่าไทยมีโอกาสจะเติบโตอย่างมากในอนาคต”
ปีเตอร์สันกล่าวต่อว่า ในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า ผู้คนทั่วโลกจะเชื่อมต่อกันมากขึ้น ข้อมูลจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล อย่างการพัฒนาเมืองอัจฉริยะซึ่งจะเต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาล แต่ปัจจุบันกลับไม่สามารถบริหารจัดการได้ดีเพียงพอ และยังมีการแยกส่วนอยู่มาก (Silo) อย่างในประเทศไทย ปัญหาหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของการจราจรที่ยังติดขัด
“ข้อมูลมีอยู่ทุกที่ หมายความว่าเราต้องการวิธีในการบริหารจัดการข้อมูลแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่อย่าง AI และ Machine Learning”
ผู้บริหารของ AWS เชื่อว่า สิ่งที่เราจะได้เห็นตามมาในอนาคตคือ การที่บริษัทของไทยจะสามารถก้าวออกไปแข่งขันในระดับโลกได้มากขึ้น ผ่านการสร้างสินค้าและบริการใหม่ๆ บนพื้นฐานของการนำเทคโนโลยีคลาวด์เข้ามาช่วย
“ความมหัศจรรย์ที่แท้จริงที่จะเกิดขึ้นคือ การที่ธุรกิจต่างๆ สามารถปรับเทคโนโลยี AI หรือ Machine Learning เพื่อสร้างบริการใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ การทำให้รัฐบาล สถาบันการศึกษา และธุรกิจ เข้าใจว่าทำไมจึงควรจะหันมาใช้ Cloud Based Solution”
ทั้งนี้ ปีเตอร์สันเชื่อว่า อุตสาหกรรมคลาวด์ยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก เพราะปัจจุบันกระบวนการด้านคอมพิวติ้งกว่า 85% ทั่วโลก ยังถูกใช้ดำเนินการบนดาต้าเซ็นเตอร์แบบดั้งเดิม
อ้างอิง: