×

AWC หลุดชั้น ‘บริษัทแสนล้าน’ โบรกประเมินขาดทุนสุทธิต่อเนื่องปี 2563-2564

22.10.2020
  • LOADING...
AWC หลุดชั้น ‘บริษัทแสนล้าน’ โบรกประเมินขาดทุนสุทธิต่อเนื่องปี 2563-2564

หนึ่งในบริษัทที่ขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยมูลค่าเกินแสนล้านบาทคือ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) จากราคา IPO ที่ 6 บาท ทำให้มูลค่า (Market Cap.) ของ AWC สูงถึง 1.85 แสนล้านบาท ซึ่งก็ตามมาด้วยค่า P/E ที่สูงถึง 269.15 เท่า สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนที่ยอมซื้อหุ้น IPO ของ AWC ต่างคาดหวังกับอนาคตของบริษัทไว้ค่อนข้างมาก

 

หลังจากเข้าจดทะเบียนได้ครบ 1 ปี ปรากฏว่าผลงานของ AWC ออกมาในทิศทางตรงกันข้ามกับความคาดหวังพอสมควร ด้วยแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อธุรกิจหลักอย่าง ธุรกิจโรงแรม (60% ของรายได้รวมปี 2562) ส่วนธุรกิจอาคารสำนักงาน (22% ของรายได้รวมปี 2562) และธุรกิจศูนย์การค้า (18% ของรายได้รวมปี 2562) ต่างก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน 

 

ช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดหนักในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ราคาหุ้น AWC เคยลดลงไปต่ำสุดที่ 2.70 บาท ก่อนจะฟื้นตัวกลับไปยืนเหนือ 5 บาทได้ในเวลาไม่นาน แต่ล่าสุดราคาหุ้นของ AWC ค่อยๆ ไหลลงมาต่อเนื่องจนแตะระดับ 3 บาทอีกครั้ง 

 

จาก Market Cap. ระดับ 1.85 แสนล้านบาท ล่าสุด (22 ตุลาคม) ราคาหุ้น AWC ลดลงมาปิดที่ 3.00 บาท ส่งผลให้มูลค่าของ AWC ลดลงมาเหลือ 9.6 หมื่นล้านบาท หายไปเกือบ 50% จากราคา IPO

 

สำหรับผลประกอบการของ AWC ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 รายได้รวมของบริษัทลดลง 51.3% เหลือ 3,288 ล้านบาท ส่งผลให้โครงสร้างรายได้ของ AWC เปลี่ยนไป โดยสัดส่วนจากธุรกิจโรงแรมลดลงเหลือ 51% ธุรกิจอาคารสำนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 33% และธุรกิจศูนย์การค้าลดลงเหลือ 16% ขณะที่กำไรสุทธิของบริษัทพลิกเป็นขาดทุนสุทธิ 876.84 ล้านบาท จากที่มีกำไรสุทธิ 110.23 ล้านบาท 

 

 

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่าหากเทียบกับผู้ประกอบการโรงแรมรายอื่นๆ AWC มีรายได้จากลูกค้าต่างชาติสูงกว่า โดยมีสัดส่วน 90% ในปี 2562 ด้วยเหตุนี้ทำให้เราประเมินว่าผลประกอบการของ AWC จะขาดทุนสุทธิ 1.4 พันล้านบาทในปี 2563 และขาดทุนต่อเนื่องอีก 198 ล้านบาทในปี 2564 ก่อนจะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 1.1 พันล้านบาทในปี 2565 โดยรวมเรายังคงคำแนะนำ ‘ขาย’ ด้วยราคาเป้าหมาย 2.96 บาท 

 

ในแง่ของฐานะการเงินของ AWC ยังคงแข็งแกร่ง เราคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) สุทธิจะอยู่ที่ 0.71 เท่า โดย AWC ได้รับอนุมัติวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท สำหรับการซื้อสินทรัพย์ของโรงแรมที่มีปัญหาซึ่งอาจเกิดขึ้นในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า หากใช้เงินทั้งหมด อัตราส่วน D/E สุทธิจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.13 เท่า ซึ่งยังต่ำกว่าข้อกำหนดสินเชื่อที่ 1.5 เท่า 

 

ด้าน บล.บัวหลวง ระบุว่าผู้บริหารของ AWC ยืนยันถึงแผนการโตแบบ Inorganic ด้วยการซื้อกิจการ ซึ่งการระบาดของโควิด-19 เปิดโอกาสให้เกิดการซื้อกิจการเพิ่ม ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาดีลโรงแรมราว 100 ดีล ซื่งบริษัทตั้งงบประมาณซื้อกิจการเอาไว้ 5 หมื่นล้านบาทในระยะยาว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X