เมื่อลองเปิดเช็กรอบหนังทั้งไทยและต่างประเทศแล้ว จุดร่วมที่พบว่าเหมือนกันคือปลายปีนี้หนังน้อยเรื่องกล้าชนกับ Avatar: The Way of Water บิ๊กบอสแห่งปี 2022 และภาคต่อของหนังรายได้สูงสุดในโลกที่ผู้กำกับหนังเรื่องนี้อย่าง ‘เจมส์ คาเมรอน’ สัญญาคำโตว่าภาคนี้จะยกระดับยิ่งกว่าเดิม ทั้งด้านภาพ และทุนสร้างที่ตอนนี้ได้กลายเป็นหนังที่ทุนสูงที่สุดในโลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
คำถามที่น่าสนใจคือเหตุใดภาคแรกและภาคสองถึงมีระยะห่างกันถึง 13 ปีเช่นนี้ หนังทุ่มทุนไปกับอะไร และมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้ Avatar ถึงจุดที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เจมส์ คาเมรอน บอกว่า ‘Avatar: The Way of Water’ จำเป็นต้องเป็น ‘ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดอันดับสามหรือสี่ในประวัติศาสตร์’ จึงจะถึงจุดคุ้มทุน
- สู่ความรุ่งโรจน์หรือแผ่วลง? วิเคราะห์ก้าวต่อไปที่ท้าทายของจักรวาลหนัง Marvel เฟส 4 จะยังกุมใจแฟนคลับได้หรือไม่!
- Black Panther: Wakanda Forever ขึ้นแท่นเป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของปี 2022
ย้อนรอย Avatar
การจะพูดถึงภาคสองคงต้องย้อนกลับไปภาคแรกกันก่อน ไอเดียในการสร้างและการพัฒนาหนัง Avatar เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1994 หรือก่อนที่หนังสร้างชื่ออย่าง Titanic (อดีตราชาบ็อกซ์ออฟฟิศก่อนที่จะถูกโค่นล้มโดย Avatar ของผู้กำกับคนเดียวกัน) จะเข้าฉายโรงในปี 1997 เสียอีก
โดย เจมส์ คาเมรอน ตั้งใจไว้ว่าจะสร้างหนังเรื่องนี้หลัง Titanic ฉาย แต่ด้วยความที่เทคโนโลยีสมัยนั้นยังไม่พร้อม เรื่องราวของมนุษย์ตัวฟ้าจึงต้องรอไปก่อน และเจมส์ใช้เวลาระหว่างนั้นปลุกปั้นเตรียมความพร้อมไปด้วย
เท่ากับว่าก่อนจะเข้าฉายปี 2009 หนัง Avatar ใช้เวลา 15 ปีเต็มในการสร้างภาคแรก และใช้เวลา 12-13 ปีสำหรับภาคต่อที่กำลังเข้าโรงอยู่นี้
สาเหตุที่ต้องใช้เวลานานเช่นนี้ เพราะโปรเจกต์นี้ยิ่งกว่าคำว่าปั้นไอเดียให้เป็นรูปเป็นร่าง เพราะเรากำลังพูดถึงการสร้างโลกทั้งใบที่มีทั้งดวงจันทร์แพนโดรา (Pandora) ที่เป็นพื้นหลังของเรื่อง, หน้าตาของสิ่งมีชีวิตสร้างมนุษย์อย่างชาวนาวี (Na’Vi), สัตว์ป่า, พืชพรรณต่างๆ ไปจนถึงเงื่อนไข ตัวละคร วิถีชีวิต วัฒนธรรม และเนื้อเรื่อง
สิ่งที่ท้าทายคือการสร้างสิ่งที่เพิ่งกล่าวไปทั้งหมดนี้ โดยหนังทั้งเรื่องเป็นการแสดงแบบโมชันแคปเจอร์ หรือการใช้นักแสดงจริงมาแสดง แล้วใช้ CG (Computer Generated) มาสวมทับ ที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องของแสงเงา สภาพแวดล้อม เสียง เครื่องแต่งกาย วิธีการแสดง และภาษาที่ใช้พูดอีกด้วย ทั้งยังมีการคิดค้นเทคนิคใหม่เพื่อใช้ถ่ายทำหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะในการทำให้ภาพโดดเด้งทะลุจอ พร้อมๆ กับดึงคนดูเข้าสู่โลกของ Avatar ราวกับไปอยู่ ณ ที่แห่งนั้นจริงๆ
Avatar ภาคแรกจึงมีรายงานว่าใช้ทุนสร้างสูงถึง 237 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้เม็ดเงินในการโปรโมตตลอดจนทำการตลาดสูงถึง 150 ล้านดอลลาร์ (รวมเกือบ 500 ล้านดอลลาร์) และหลังจากการเข้าฉายหนังก็ได้ทำสถิติด้านรายได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถิติของหนังเข้าฉายปี 2009, หนังเข้าฉายในประเทศ จนถึงหนังเข้าฉายทั่วโลก และสถิติที่หนึ่งตลอดกาล ซึ่งถามว่าคุ้มไหมกับที่ลงทุนไปก็คงต้องบอกว่าคุ้มมาก และเสี่ยงไหมก็คงต้องบอกว่าเสี่ยงมากเช่นกันสำหรับค่าย FOX ที่ทุ่มเต็มหน้าตักเช่นนี้
Avatar เป็นหนังที่คนต่างก็อยากไปสัมผัสประสบการณ์แบบสามมิติและงานภาพอลังการสักครั้งในชีวิต ปัจจุบันหนังมีรายได้รวม 2,922 ล้านดอลลาร์ เริ่มต้นจากการที่ในครั้งแรกได้ขึ้นไปอยู่ด้านบนแบบทิ้งห่างจาก Titanic ที่ทำรายได้ไป 2,200 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่จะถูก Avengers: Endgame โค่นในปี 2019 แต่หลังจากนั้นหนังก็ได้เข้าฉายในจีนอีกรอบ รวมถึงรีมาสเตอร์กลับมาฉายใหม่ในประเทศต่างๆ แบบ 4K HDR เพื่อบิลด์และทบทวนก่อนดูภาคสอง ทำให้ Avatar กลับมาเป็นแชมป์ตลอดกาลได้อีกครั้ง
แพลนการสร้างภาคต่อ
ก่อนที่ภาคแรกจะเข้าฉาย ในปี 2006 ขณะที่กำลังพัฒนาบทและเตรียมงานสร้าง คาเมรอนก็ได้แสดงความสนใจจะสร้างภาคต่อ และชะตากรรมของภาคต่อ Avatar มีเงื่อนไขที่ขึ้นตรงกับรายได้ที่ทั้งเขาและสตูดิโอต่างก็ไม่รู้ชะตากรรมกันทั้งคู่
แต่หลังจากที่หนังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามทางด้านรายได้ คำวิจารณ์ และความพึงพอใจจากผู้ชม คาเมรอนไม่รอช้าที่จะประกาศสร้างภาคต่อและจะสร้าง Avatar ให้เป็นไตรภาคในปี 2012 โดยเล็งไว้ว่าภาคสองจะเข้าฉายปี 2014 แต่จากนั้นเขาเขียนบทแล้วเกิดไอเดียเพิ่มเติม ก็ได้เปลี่ยนใจประกาศสร้างภาคต่ออีกสองภาค รวมทั้งหมด 5 ภาคด้วยกัน
ด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกันกับเมื่อตอนนั้น เทคโนโลยีที่มีอยู่ยังไม่สามารถถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของคาเมรอนได้ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่จึงได้เกิดขึ้นอีกครั้งจากการที่เขาสั่งสร้างกล้องถ่ายใต้น้ำ และเช่นเดียวกัน คาเมรอนใช้เวลาระหว่างรอความพร้อมนี้ไปกับการพัฒนาบทสี่ภาคต่อไปพลางๆ และทำการเตรียมงานสร้างอยู่ตลอดเวลา บทหนังสี่ภาคถูกเขียนขึ้นพร้อมๆ กัน โดยใช้เวลามากถึง 4 ปีด้วยกันเพื่อให้แน่ใจว่าหนังจะแข็งแรงพอควบคู่ไปกับความโดดเด่นด้านภาพ
Avatar 2-5 มีทุนสร้างรวมกัน 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีรายงานว่าปัจจุบันมีการใช้เงินไปกับแผนภาคต่อถึง 350-400 ล้านดอลลาร์แล้ว ทั้งสี่ภาคต่อถูกวางกำหนดฉายไว้ในปี 2022, 2024, 2026 และ 2028 ตามลำดับ หรือ 2 ปีต่อ 1 เรื่อง และนั่นทำให้แฟรนไชส์นี้กินระยะเวลาราวๆ 19 ปี หรือพูดให้ดูยิ่งใหญ่ เกือบ 2 ทศวรรษนับตั้งแต่วันที่หนังเข้าฉาย
แพลนการถ่ายทำ Avatar: The Way of Water หรือภาค 2 ถูกวางไว้พร้อมๆ กับภาค 3 และเป็นการถ่ายทำแบบ Back-to-Back รวดเดียวสองภาค เท่ากับว่าตอนนี้ภาค 3 ที่ถ่ายเสร็จไปแล้วเช่นกันจ่อคิวมาแน่ๆ แล้วในปี 2024 ในขณะที่คาเมรอนพูดถึงชะตากรรมของภาค 4 และ 5 ไว้ว่า “คุณจะได้ดู Avatar 4-5 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับรายได้ภาค 3-4”
กว่าจะมาเป็น Avatar: The Way of Water และทุนสร้างบานตะไท
กลับมาครั้งนี้ คาเมรอนมีโจทย์ที่ท้าทายกว่าเดิม คือทำอย่างไรให้สร้างปรากฏการณ์ระดับปฏิวัติได้เหมือนกับที่ Avatar ภาคแรกเคยทำไว้
ภาพ: Chung Sung-Jun/Getty Images
คำตอบคือเขาต้องยกระดับทุกอย่างและเล่าในแง่มุมใหม่ ด้วยการทำลายกำแพงเดิมผ่านการลงดีเทลให้ละเอียดมากขึ้น และท้าทายตัวเองด้วยการย้ายโลเคชันหลักจากป่าไปยังพื้นที่เขตชนเผ่าปะการังที่มีชาวนาวีผิวสีเขียวอ่อนอาศัยอยู่ (บวกกับที่เป็นคนชอบโลกใต้บาดาลเป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วย)
การที่เนื้อเรื่องเกิดในเขตที่เต็มไปด้วยน้ำคือเหตุผลหลักที่ทำให้ภาคนี้แพงหูฉี่ เพราะน้ำทั้งหมดที่เราเห็นในหนังเป็น CG และมันค่อนข้างสมจริงเป็นอย่างมากจนใครเห็นก็แทบไม่อยากเชื่อสายตาว่านี่คือคอมพิวเตอร์กราฟิก มีรายงานว่าหนึ่งช็อตที่มีความยาวเพียง 1-2 วินาทีเท่านั้น ใช้ทุนสร้างไปแล้ว 100,000 ดอลลาร์ หรือเกือบ 3.5 ล้านบาทด้วยกัน ดังนั้นการที่ทั้งเรื่องใช้เวลาและจำนวนเงินมหาศาลจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ The Way of Water ห่างจากภาคแรกถึง 13 ปี คือการที่ต้องคิดและออกแบบชนเผ่าเมตคายีนา (Metkayina) ทั้งหมด ตั้งแต่วัฒนธรรม รูปลักษณ์ เอกลักษณ์ชนเผ่า ตัวละคร กับสิ่งมีชีวิตในเขตแดน
กระบวนการนี้ภาคแรกใช้เวลานาน ภาคนี้ก็ไม่ต่างกัน การออกแบบดีเทลในหมวดหมู่เหล่านี้กินเวลามากถึง 5 ปีด้วยกัน ส่วนการถ่ายทำภาค 2 และ 3 ใช้เวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2017 ไปจบที่ปี 2019
โดยในการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ นอกจากกล้องถ่ายใต้น้ำแล้ว ยังมีการมีการสร้างเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาเพื่อถ่ายทำโมชันแคปเจอร์ใต้น้ำโดยเฉพาะ เทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาและคิดค้นโดย Wētā FX บริษัทของผู้กำกับ Peter Jackson ที่เคยทำวิชวลเอฟเฟกต์ให้กับ Avatar ภาคแรก รวมถึง The Jungle Book, Planet of the Apes, Alita: Battle Angel และเป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลัง 6 รางวัลออสการ์ของแฟรนไชส์อย่าง The Lord of the Rings
หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการ Post-Production หรือใส่ CG อันยาวนาน ที่เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญเป็นอย่างมากของหนังเรื่องนี้ และเป็นส่วนที่ต้องให้เวลาและลงรายละเอียดมากที่สุดเนื่องจากเป็นจุดขายของแฟรนไชส์ Avatar
รายได้ที่จะกำหนดชะตากรรมภาคต่อ
คาเมรอนได้บอกกับทาง GQ ว่า Avatar: The Way of Water จะต้องทำเงินให้ได้ระดับหนัง Top 3-4 ของโลกเท่านั้นถึงจะเท่าทุน เมื่อพิจารณา Top 4 หนังทำเงินสูงสุดในโลกที่ประกอบไปด้วย Avatar, Titanic, Avengers: Endgame และ Star Wars: Episode VII – The Force Awakens รายได้จะอยู่ที่ 2,922 ล้านดอลลาร์, 2,797 ล้านดอลลาร์, 2,201 ล้านดอลลาร์ และ 2,069 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ
นั่นหมายความว่า Avatar 2 ต้องทำรายได้ให้ได้หลัก 2 พันล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 7 หมื่นล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นตัวเลขที่มหาศาล คำถามคือทำไมถึงต้องกวาดรายได้จำนวนมากเช่นนั้น?
ลึกเข้าไปในธุรกิจฉายหนังโรงเบื้องหลักๆ จะประกอบไปด้วยสองประเภท คือแบ่งกับโรง 50:50 และขายขาดให้สายหนัง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ววิธีการแรกจะเป็นที่นิยมมากกว่า นั่นทำให้ Avatar: The Way of Water ที่มีต้นทุนขั้นต่ำ 250 ล้านดอลลาร์ และสูงสุดตามที่ THR รายงานล่าสุด 400 ล้านดอลลาร์ จะต้องทำรายได้ขั้นต่ำ 800 ล้านดอลลาร์ถึงจะคืนทุน
นี่ยังไม่นับคืนทุนค่าโปรโมตที่ยังไม่มีรายงานในขณะนี้ ที่พิจารณาจากค่าทำการตลาดและโปรโมตภาคแรกแล้ว 1 พันล้านดอลลาร์ น่าจะเป็นรายได้ที่แค่ ‘เท่าทุน’
อาจดูเหมือน 1 พันล้านดอลลาร์ขึ้นไปก็เพียงพอแล้ว แต่คำว่าคืนทุนของ เจมส์ คาเมรอน ดูจะมีความหมายมากไปกว่านั้น เนื่องจากสิ่งที่ FOX และ Disney ที่เป็นลูกพี่อีกทีต้องการคือ ‘ความมั่นใจ’ ว่าคนยังอยากดู Avatar กันอยู่ และปรากฏการณ์ ‘อวตารฟีเวอร์’ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วไม่ใช่ปรากฏการณ์ฟลุกครั้งเดียว
ตัวเลขดังกล่าวหากใครเห็นก็มองว่าอนาคตแฟรนไชส์นี้กำลังสดใสและไปได้สวย สตูดิโอและคาเมรอนจะถอนหายใจเฮือกใหญ่ และภาค 4 กับภาค 5 ก็มีโอกาสสูงที่จะได้ทำต่อ
แนวโน้มรายได้ และโอกาสในการโค่นแชมป์เก่าหน้าคุ้น
สิ่งที่น่าสนใจคือ Avatar: The Way of Water จะได้รายได้มาจากไหนบ้าง และมีโอกาสแค่ไหนที่จะเอาชนะภาคแรกได้
คำตอบคือมีโอกาสสูงที่ไม่ใช่แค่ทำกำไรคุ้มทุนเป็นเท่าตัว แต่อาจล้ม Avatar 1 ได้เลยทีเดียว ในขณะที่การแบกรับความเสี่ยงก็ถือว่าสูงกว่าเมื่อครั้งภาคแรกเข้าฉายเช่นกัน ความเสี่ยงนั้นมีชื่อว่า ‘โควิด’ กับมุมมองที่คนทั้งโลกมีต่อ Avatar หลังได้ชมภาคแรกไม่ว่าจะจากแห่งหนใด ดูในโรงหรือดูที่ไหน
ย้อนกลับไปมอง Avatar ภาคแรก สัดส่วนรายได้ต่างประเทศจะอยู่ที่ 73.1% (2,137 ล้านดอลลาร์) และในสหรัฐฯ อยู่ที่ 26.9% (785 ล้านดอลลาร์)
สำหรับ Avatar: The Way of Water เมื่อมองที่บ้านเรา ขณะนี้ (วันที่เขียน) ยอดจองตั๋วล่วงหน้าและรายได้วันแรกวันเดียวอยู่ที่ 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่บ่งบอกความโรงแตก และจากการสอดส่องโลกอินเทอร์เน็ตกับดูจากยอด Pre-Sale ตั๋วหนังพบว่าปรากฏการณ์นี้มีแววว่ากำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลก สาเหตุเป็นเพราะมีคนจำนวนไม่น้อยไม่ได้ดูภาคแรกในโรงและค้นพบว่าหนังเรื่องนี้เหมาะกับการดูโรงที่สุด
ภาพ: VCG/VCG via Getty Images
ขณะเดียวกันการที่หนังได้เข้าฉายที่จีนในฐานะ ‘หนังบล็อกบัสเตอร์ของ Disney ที่ได้ฉายที่จีนในรอบ 3 ปี’ จึงไม่เพียงแต่จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการติดอันดับหนัง Top 4 รายได้สูงสุด แต่ยังอาจช่วยให้ขึ้นสู่อันดับ 1 ได้ เพราะเมื่อดูในส่วนของรายได้ต่างประเทศหนัง Avatar จะมีจีน 261 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 8.9% เลยทีเดียว
แต่ในขณะเดียวกันก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่น่าจับตามอง เช่น การระบาดของโควิดได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนอย่างไร และส่งผลกระทบกับการกล้าเดินทางไปดูในโรงหนังมากน้อยแค่ไหน
หรือการที่ค่าครองชีพสูงขึ้น เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย ภาวะข้าวยากหมากแพงค่าแรงถูก กับราคาตั๋วที่สูงขึ้นกว่าเดิมหลายเปอร์เซ็นต์จะส่งผลอย่างไรต่อการตัดสินใจดูเรื่องนี้ในโรง
และการเลือกระบบดูระหว่างโรง IMAX-โรงธรรมดา เราจะเริ่มมองเห็นได้จากรายได้สัปดาห์แรกหลังจากหนังทุนสร้างสูงที่สุดในโลกเรื่องนี้เข้าฉายทุกประเทศทั่วโลกแล้ว
นี่จะเป็นผลลัพธ์ของการวัดใจหลังจากที่ผู้บริหาร FOX เคยกล่าวไว้กับเจมส์ว่า “ผมไม่รู้ว่าคุณบ้าที่กล้าทำ หรือเราบ้าที่ปล่อยให้คุณทำ” ในภาคแรก และครั้งนี้พวกเขาบ้าพอกันที่ให้เจมส์ 1 พันล้านสำหรับภาค 2-5
หากทำสำเร็จตั้งแต่ขั้นต่ำที่ตั้งเป้าไว้จนถึงเกินคาด ชนปะทะทุกเรื่องจนไปถึงจุดสูงสุด Avatar: The Way of Water จะไม่เพียงแต่เป็นหนังที่กอบโกยรายได้มหาศาลให้กับสตูดิโอผู้ออกทุน แต่จะเป็นตัวกระตุ้นที่ดีที่ทำให้ผู้คนกลับมาดูหนังในโรงอีกครั้ง และจะช่วยสร้างความครึกครื้นให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกได้อีกด้วย
ซึ่งการที่ราคาตั๋วแพงขึ้นกับราคาโรง IMAX ที่สูงกว่าโรงทั่วไปอาจไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เพราะนั่นอาจหมายความถึง ‘หนัง 3 พันล้านดอลลาร์เรื่องแรกของโลก’
ข้อน่าสังเกตคือหากทำสำเร็จ นั่นเท่ากับว่า Top 7 ของหนังที่ทำรายได้มากที่สุดในโลกจะเป็นหนังของเจ้าของเดียวทั้งสิ้น คือ ‘Disney’ ที่เป็นเจ้าของทั้ง FOX, Marvel และแฟรนไชส์ Star Wars
อ้างอิง: