การดูหนัง ซีรีส์ ฟังเพลง เล่นเกม หรือกิจกรรมบันเทิงสันทนาการมักทิ้งเอฟเฟกต์บางอย่างไว้ในใจมากกว่าหน้าที่พื้นฐานของมัน บ้างก็เป็นบทเรียน บ้างก็เป็นภาพจำหรือประสบการณ์ที่มูฟออนยาก อยากนำไปพูดคุยบอกต่อ แต่สิ่งเหล่านั้นก็อาจนำมาซึ่งบาดแผลได้เช่นกัน เช่น โรคกลัวรู กลัวแสงแฟลช กระทั่งกลัวสิ่งมีชีวิตน่ารักจากการดูหนัง Gremlins ว่าวันหนึ่งสิ่งมีชีวิตน่ารักอาจกลายเป็นเจ้าตัวร้ายได้ หรืออาจเป็นความทรงจำฝังไม่ลืมที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตและจิตใจเลยทีเดียว
สำหรับหนัง Avatar ที่กำกับโดย James Cameron และขึ้นชื่อว่าเป็นหนังที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลกก็เช่นกัน หนังเรื่องนี้ได้สร้างอาการที่เรียกว่า อวตารซินโดรม (Avatar Syndrome), ความหดหู่อวตาร (Avatar Blues) หรืออาการหดหู่หลังจากท่องดาวแพนดอรา (Post-Padoran Depression ตัวย่อ PADS) ขึ้นมา อาการนี้เกิดกับคนบางกลุ่ม และแสดงอาการรุนแรงสุดถึงขั้นที่คนคนนั้นมีความคิดอยากปลิดชีวิตตัวเอง เนื่องจากช่องว่างระหว่างความเป็นจริงและดาวแพนดอรานั้นมีมากเกินไป
ย้อนความกันสักนิด Avatar เป็นหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ เจค ซัลลี (Jake Sully) อดีตทหารนาวิกโยธินผู้เป็นอัมพาตครึ่งล่างที่ตั้งใจแฝงตัวทำภารกิจชิงทรัพยากรสำคัญบนดาวแพนดอรา (Pandora) โดยแลกกับที่อยู่และความสันติสุขของชาวนาวี (Na’vi) เพื่อให้ได้ขาตัวเองกลับมาด้วยเงินตอบแทนก้อนโตหากภารกิจสำเร็จ ก่อนที่ตัวเอกจะเรียนรู้วิถีชาวเผ่า เห็นข้อดีของชาวนาวี สายใยครอบครัว และดาวดวงนี้ กับมีความรักผ่านการผจญภัยและความผูกพันกับธรรมชาติระหว่างทาง จึงได้ตัดสินใจทรยศเผ่าพันธุ์ตัวเอง และย้ายมาอยู่ฝั่งมนุษย์สีฟ้าตัวสูงใหญ่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เจมส์ คาเมรอน บอกว่า ‘Avatar: The Way of Water’ จำเป็นต้องเป็น ‘ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดอันดับสามหรือสี่ในประวัติศาสตร์’ จึงจะถึงจุดคุ้มทุน
- Black Panther: Wakanda Forever ขึ้นแท่นเป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของปี 2022
- สู่ความรุ่งโรจน์หรือแผ่วลง? วิเคราะห์ก้าวต่อไปที่ท้าทายของจักรวาลหนัง Marvel เฟส 4 จะยังกุมใจแฟนคลับได้หรือไม่!
ประเด็นอยู่ที่ว่า Avatar นั้นเป็นหนังที่ขายประสบการณ์เป็นหลัก เสมือนพาไปทัวร์ธรรมชาติต่างดาวราวกับเราไปอยู่ที่ดาวแพนดอราจริงๆ ซึ่งตลอดเวลาที่ชมหนังจะมีทั้งสัตว์ป่า พืชพรรณ ดอกไม้ สิ่งมีชีวิตหน้าตาประหลาด ต้นไม้ที่เรืองแสงตอนกลางคืน และอีกมากมายเหลือคณานับ การเป็นหนังที่ระหว่างดูและหลังดูจบคนดูเกิดความคิดรักธรรมชาตินั้นจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความตั้งใจของคาเมรอนที่มีเหตุผลส่วนหนึ่งในการสร้างหนังเรื่องนี้คือ เพื่อให้คนรู้สึกคอนเนกต์และรักธรรมชาติกับโลกมากขึ้น หวงแหนมัน ตระหนักถึงผลลัพธ์ของการกระทำที่อาจทำลายมันทั้งอย่างช้าๆ และรวดเร็ว
พอทุกอย่างดีและสวยหรูมากเกินไป (รวมถึงสมจริงมากๆ แม้เป็น CGI ก็ตาม) คนดูบางคนจึงมองว่ามันคือสรวงสวรรค์ และยิ่งหดหู่เมื่อนำดาวแพนดอรากับวิถีชีวิตชาวนาวีมาเทียบกับโลกความเป็นจริงอันโหดร้าย
ในช่วงที่หนังเข้าฉายไป 1-2 ปีแรกจึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น คือผู้ชมคนหนึ่งโพสต์ในฟอรัมหนัง Avatar ที่มีชื่อว่า ‘Three of Souls’ ว่า “ขอวิธีช่วยรับมือกับความหดหู่ในการวาดฝันว่าดาวแพนดอรามีจริงหน่อย” ชายคนนี้คือ Phillippe Baghdassarian แอดมินของฟอรัมดังกล่าว ซึ่งในทีแรกก็มีคนมองว่านี่คือเรื่องล้อเล่น ปั่นประสาทแน่ๆ จนภายหลังพบว่าเป็นเรื่องซีเรียสกว่าที่คิด และอาการนี้มีอยู่จริง ถึงขั้นมีคนเป็นพันออกมาแสดงตัวว่าพวกเขากำลังประสบอาการเดียวกัน
ผู้ใช้อีกคนนามว่า Elequin ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์หมกมุ่นกับหนัง Avatar เช่นกัน “นี่คือสิ่งที่ผมหมกมุ่นในช่วงนี้ การเสิร์ชอินเทอร์เน็ตด้วยคำว่า ‘Avatar’ และผมคิดว่ามันช่วยได้ มันเป็นเรื่องยากมากที่ผมจะบังคับตัวเองให้คิดว่านี่เป็นแค่หนังนะ และข้ามพ้นมันไปได้ด้วยความคิดตบหน้าตัวเองให้ตื่นว่าผมจะไม่มีวันได้ใช้ชีวิตอย่างชาวนาวีได้”
Ivar Hill เด็กหนุ่มอายุ 17 ปีชาวสวีเดนที่ในตอนนั้น เป็นเคสตัวอย่างที่มีชื่อเสียงเมื่อพูดถึง Avatar Syndrome เขากล่าวว่าหลังจากที่เขาได้ชม Avatar วันต่อมาเขารู้สึกหลงทางและว่างเปล่าเป็นอย่างมาก
“ผมรู้สึกหดหู่เพราะผมอยากจะใช้ชีวิตบนดาวแพนดอรา ซึ่งดูเป็นสถานที่ที่เพอร์เฟกต์มากๆ และในขณะเดียวกันผมก็รู้สึกหดหู่ปนขยะแขยงที่จะมองไปยังโลกจริงของเราเช่นกัน ว่าเราได้ทำอะไรกับมันบ้าง เช้าแรกที่ผมตื่นขึ้นมาหลังจากชม Avatar โลกมันเป็นสีเทาไปหมด มันเหมือนทั้งชีวิตของผม ทุกอย่างที่ผมทำมา และงานที่ผมทุ่มเททำมันได้สูญเสียความหมายไปแล้ว มันดูไร้ความหมายมากๆ เลย ผมไม่รู้จะมีเหตุผลอะไรในการทำสิ่งต่างๆ อีก เพราะผมกำลังอยู่ในโลกที่กำลังจะตาย” Ivar กล่าว
ในฟอรัมหนัง Avatar เขาพบว่าคนอื่นๆ ก็รู้สึกว่าจิตตัวเองผูกติดอยู่กับดาวแพนดอราเช่นกัน และผู้คนเหล่านั้นต้องการสิ่งเดียวกันคือชีวิตใหม่ โอกาสใหม่ ในร่าง/วิถีชีวิตชาวนาวี ซึ่งบางคนถึงกับไปดูหนังเรื่องนี้บ่อยๆ เพื่อที่จะรู้สึกหลุดพ้นจากโลกใบนี้ชั่วขณะ และเริ่มทำการเก็บเกี่ยวทริกที่เรียนรู้จากหนัง และการรีเสิร์ชเพื่อปรับใช้กับชีวิต ให้ตัวเองมีความสุขยิ่งขึ้นเหมือนไลฟ์สไตล์ชาวนาวี
ตัวอย่างการค้นคว้าเช่น ‘ใช้ชีวิตให้เหมือนเนย์ทีรี (Neytiri นางเอกหนังที่รับบทโดย Zoe Saldana)’ หรือ ‘สัมผัสธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และไม่โลภมากใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง’
Ivar Hill จัดอยู่ในกลุ่มหลัง เขาเริ่มที่จะอ่านหนังสือปรัชญา ทำการคอนเนกต์กับธรรมชาติมากขึ้น เช่น เข้าป่า ปีนเขา จนถึงจุดหนึ่งเขายอมรับว่า “Avatar ทำให้ผมเข้าใจว่าผมสามารถเดินทางเข้าป่า และแค่อาศัยในนั้นได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก”
ในเชิงจิตวิทยาและสาเหตุอาการ Elana Sandler ได้เขียนอธิบายบนเว็บไซต์ Psychology Today เอาไว้ว่า “ชีวิตมักเต็มไปด้วยความยากลำบากและซับซ้อน บางครั้งบางคราเราใช้ภาพยนตร์เป็นประตูหลบหนีไปสู่อีกโลก แต่แม้จะเป็นหนทางหลบหนี และมันให้แรงบันดาลใจหรือเป้าหมายกับเราได้ การได้ดูอะไรที่แตกต่างในอีกแง่ก็สามารถทำให้เราหวาดกลัว และเกิดความเศร้าหลังได้ชมเช่นกัน ความสามารถของงานศิลปะในการทำให้เราคิดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้
“Avatar ได้แสดงให้เราเห็นถึงโลกที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ทั้งการตีความ และความเป็นไปได้ ในขณะที่หนังบางเรื่องนำเสนอโลกด้านใดด้านหนึ่งหรือไม่ได้ครบแง่มุมในเรื่องของชีวิต ที่อยู่ และวัฒนธรรมขนาดนั้น การได้ประสบพบเจอกับโลกอีกใบอย่างการชม Avatar อาจเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายในการรับมือสำหรับคนบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ที่โลกของเราช่างน่าหลบหนีซะเหลือเกิน”
Dr.Stephen Quentzel นักจิตบำบัดแห่งสถาบันการแพทย์ Beth Israel Medical Center ที่นิวยอร์ก เสริมเรื่องนี้ว่า “ชีวิตในจำลองไม่ใช่ชีวิตจริง และมันไม่มีวันที่จะเป็นจริง แต่ Avatar คือจุดสูงสุดที่มนุษย์สามารถสร้างชีวิตจำลองขึ้นมาได้แล้ว หนังเรื่องนี้ได้ใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในขณะนั้นในการสร้างโลกใบนี้ขึ้นมา และชีวิตจริงของเราไม่มีทางที่จะมีความยูโทเปีย (หรือดินแดนสุขาวดีที่ทุกอย่างดีไปหมด) ได้เท่าที่มันเป็นบนหน้าจอ และนั่นยิ่งทำให้ชีวิตจริงของเราดูเพอร์เฟกต์น้อยลงไปอีก”
ดูเหมือนข้อสรุปจากทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้มีอาการ Avatar Syndrome ชี้ว่าการที่ภาพยนตร์พาเราหลบหนีไปยังยูโทเปียนั้นเป็นเรื่องดี และตามลำพังตัวมันเองไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ตรงกันข้าม หนังอย่าง Avatar ทำการเปิดโลกได้อย่างยอดเยี่ยมและดูประณีตตั้งแต่สเกลใหญ่ไปจนถึงดีเทลยิบย่อย แต่การอยู่ในโลกที่ยิ่งทำให้เรารู้สึกดีจนหนังจบแล้วเดินออกจากโรง หรือกดรีโมตปิดมันแล้วมาเผชิญโลกความจริง เป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ที่จะเผลอนำไปเปรียบเทียบอย่างไม่รู้ตัว
และไม่มีสิ่งใดที่อันตรายและทำให้เราไม่พอใจในสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ หรือโลกที่เราอาศัยอยู่เท่ากับความคาดหวังและเปรียบเทียบสิ่งที่มีอยู่กับสิ่งที่ดีกว่าอีกแล้ว
อาการ Avatar Syndrome จึงเกิดขึ้นได้กับบางคนที่ทั้งเผชิญปัญหาหรือมีความหดหู่และซึมเศร้าอยู่แล้ว ไปจนถึงคนที่ใช้ชีวิตปกติ จนกระทั่งเพิ่งมามีอาการนี้หลังชมหนังจบ
ภาพ: Ben Hasty / MediaNews Group / Reading Eagle via Getty Images
อ้างอิง: