×

‘กลางวันยาวเท่ากลางคืน’ รู้จัก ‘วันศารทวิษุวัต’ 23 กันยายนนี้

21.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • วันศารทวิษุวัต จะเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกแบบพอดิบพอดี ซึ่งในประเทศไทยดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 06.07 น. และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เวลาประมาณ 18.13 น.
  • แต่ละปีจะมีวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือวันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) คือวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคม และวันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) คือ 22 หรือ 23 กันยายน ทำให้วันดังกล่าวมีเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน
  • คำว่า Equinox (อิ-ควิ-นอกซ์) มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ aequus แปลว่า เท่ากัน และ nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้นจึงแปลรวมกันว่า ‘กลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน’ ส่วน ‘วิษุวัต’ แปลว่า ‘จุดราตรีเสมอภาค’ เกิดในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง จึงเรียกว่า Vernal Equinox (วสันตวิษุวัต) และ Autumnal Equinox (ศารทวิษุวัต)

     หลายคนอาจไม่รู้ว่าวันเสาร์ที่ 23 กันยายน 2560 เป็นวันศารทวิษุวัต ที่จะทำให้เวลากลางวันยาวนานเท่ากับตอนกลางคืน แถมยังเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือจะย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง และซีกโลกใต้จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

     วันศารทวิษุวัตสำคัญอย่างไร?

     สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT ให้ข้อมูลว่าวันศารทวิษุวัต จะเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกแบบพอดิบพอดี ซึ่งในประเทศไทยดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 06.07 น. และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เวลาประมาณ 18.13 น.

     ซึ่งแต่ละปีจะมีวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือวันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) คือวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคม และวันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) คือ 22 หรือ 23 กันยายน ทำให้วันดังกล่าวมีเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน

     เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ทำให้ในรอบหนึ่งปี โลกจะมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ช่วงที่ใกล้ที่สุดคือประมาณต้นเดือนมกราคม คือ 147 ล้านกิโลเมตร และช่วงที่ไกลที่สุดคือประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 152 ล้านกิโลเมตร

     เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของระยะทางใกล้-ไกล ในการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก จึงไม่มีผลต่อการเกิดฤดูกาลแต่อย่างใด แต่การที่แกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกจึงรับแสงอาทิตย์ได้ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก จะสังเกตได้ว่า ในฤดูร้อน เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว

     สำหรับคำว่า Equinox (อิ-ควิ-นอกซ์) มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ aequus แปลว่า เท่ากัน และ nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้นจึงแปลรวมกันว่า ‘กลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน’ ส่วน ‘วิษุวัต’ แปลว่า ‘จุดราตรีเสมอภาค’ เกิดในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง จึงเรียกว่า วสันตวิษุวัต และ ศารทวิษุวัต

     เนื่องจากแกนโลกไม่ได้ตั้งตรง แต่เอียงทำมุม 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ในระยะเวลา 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ได้แก่

  1. วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) ในปี 2560 ตรงกับวันที่ 20 มี.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง
  2. วันครีษมายัน (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) ในปี 2560 ตรงกับวันที่ 21 มิ.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
  3. วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ในปี 2560 ตรงกับวันที่ 23 ก.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
  4. วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ในปี 2560 ตรงกับวันที่ 21 ธ.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘ตะวันอ้อมข้าว’ สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising