วันนี้ (17 กรกฎาคม) ที่อาคารแพทยพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รศ. นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ พร้อมด้วย ผศ. นพ.ภาณุวัฒน์ ชุติวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ พล.ต.ต. นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมแถลงผลการชันสูตรการเสียชีวิตของชาวเวียดนามทั้ง 6 รายที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ พื้นที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ลุมพินี
THE STANDARD ได้สรุปสาระสำคัญจากการแถลง ดังนี้
- สาเหตุที่เลือกใช้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ในการชันสูตรพลิกศพ เนื่องจากอยู่ในเขตลุมพินี ซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบ
- ศพที่ชันสูตรมีการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลทั้ง 6 ราย ทราบชื่อ นามสกุล และเชื้อชาติ เป็นชาวเวียดนาม 4 ราย อเมริกัน 2 ราย เพศหญิง 3 ราย เพศชาย 3 ราย
- ระยะเวลาการเสียชีวิต ประเมินตั้งแต่เวลาที่เจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ ประมาณ 12-24 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถแบ่งลำดับการเสียชีวิตได้ เพราะแพทย์ใช้หลักการตรวจสอบจากการแข็งตัวของกล้ามเนื้อร่างกายและการตกสู่เบื้องต่ำของเม็ดเลือด
- ในทุกรายแพทย์ได้เริ่มชันสูตรตั้งแต่คืนของวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่มีการรับร่าง สิ่งที่แพทย์ดำเนินการตรวจสอบ ได้แก่ เก็บภาพหลักฐานผู้เสียชีวิต เก็บตัวอย่างของเหลว เลือด ปัสสาวะ น้ำในลูกตา รวมทั้งการตรวจด้วย CT Scan เพื่อหาร่องรอยการถูกทำร้ายและการได้รับบาดเจ็บ ซึ่งไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย อวัยวะภายในไม่พบร่องรอยที่มีนัยสำคัญ แต่พบการคั่งเลือดปริมาณมากของอวัยวะ
- ภาพรวมการชันสูตร 6 ราย สิ่งที่ปรากฏสำคัญในทุกราย ได้แก่ ร่องรอยการขาดอากาศ ริมฝีปากเป็นสีม่วงเข้ม ปลายเล็บมือมีสีม่วงเข้ม เป็นการบ่งชี้ว่ามีการขาดอากาศร่วมด้วย
- การตกสู่เบื้องต่ำของเม็ดเลือด พบเลือดสีแดงสด ทีมชันสูตรจึงตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่ามีสารพิษเข้าร่างกาย โดยไม่ได้ตรวจเฉพาะไซยาไนด์ แต่ตรวจสารอื่นร่วมด้วย
- สาเหตุการเสียชีวิตของทุกรายสันนิษฐานว่าเกิดจากการได้รับพิษไซยาไนด์ ส่งผลให้เกิดการขาดอากาศในระดับเซลล์ของอวัยวะที่สำคัญคือระบบประสาทและหัวใจ หลังจากนี้แพทย์จะตรวจอวัยวะภายในเชิงลึก รวมทั้งสารประกอบอย่างอื่น ซึ่งคาดว่าจะได้ผลอีกประมาณ 1-2 วัน
- เกร็ดความรู้เกี่ยวกับสารพิษไซยาไนด์ ตามปกติแล้วถ้าปริมาณเกิน 3 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 ซีซี ก็จะทำให้เกิดการเสียชีวิต แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกปริมาณได้ แต่หากเสียชีวิตจากไซยาไนด์จริง ต้องพบสารนี้เป็นจำนวนมากในร่างกาย ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ โดยเฉพาะไซยาไนด์ มีทั้งสูดดมและรับประทาน การรับประทานเข้าไปในปริมาณสูง จะเกิดอาการระยะสั้น ได้แก่ เหนื่อยหอบ หมดสติ ชักเกร็งในทันที เหมือนปิดสวิตช์ออกซิเจน
- ทุกรายมีเศษอาหารในกระเพาะอาหาร บางรายมีอาหารที่ย่อยนานแล้ว บางรายอาหารยังไม่ค่อยถูกย่อยหรือย่อยน้อย ส่วนจะเป็นอาหารชนิดใดจะมีการบันทึกในรายงานการชันสูตร
- การหาไซยาไนด์ในพื้นผิวยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก จากเบื้องต้นที่ตรวจสอบคือตรวจจากในเลือดเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีติดที่อวัยวะภายนอกของบุคคลใดใน 6 รายที่เสียชีวิต
- ที่มาของสารไซยาไนด์จากคดีนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนว่ามาจากที่ใด เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ไม่ตัดประเด็นการเตรียมการเข้ามาในประเทศไทย หรือการหาซื้อในประเทศไทย
- ขั้นตอนการรับ-ส่งร่างผู้เสียชีวิต เมื่อตำรวจได้ผลการชันสูตรจากแพทย์แล้ว จะรวบรวมลงในสำนวนสรุปสาเหตุการเสียชีวิต ส่วนครอบครัวที่มาติดต่อรับร่างผู้เสียชีวิตขณะนี้คือครอบครัวของคู่สามี-ภรรยา