×

รถยนต์สัญชาติไทยจะไปไกลระดับโลกได้ในชาตินี้จริงหรือ?

24.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ

 

  • เมืองไทยนั้นหมดสิทธิ์ที่จะมีรถยนต์แห่งชาติตั้งแต่ที่รัฐบาลสนับสนุนให้บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในบ้านเรา ทำให้ไทยขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการประกอบรถที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย และถูกขนานนามว่าเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’
  • ไทยยังพอมีหวังหากอยากผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะเค้าโครงแห่งความเป็นไปได้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 1996 เมื่อบริษัท รถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด มีไอเดียอยากจะเริ่มพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของไทยให้สำเร็จในระดับโลก เพราะในเวลานั้นเทคโนโลยีเรื่องรถไฟฟ้ายังเป็นเพียงแค่ยุคเริ่มต้น ดังนั้นทุกบริษัททั่วโลกก็เริ่มพร้อมๆ กัน (ไม่เหมือนกับเครื่องยนต์ที่ถูกพัฒนามาเป็นร้อยปีจนเราตามไม่ทัน) แต่น่าเสียดายที่มีเหตุผลใดก็ไม่ทราบที่ทำให้โครงการนี้หยุดไป
  • ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าจีนแซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปแล้วในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจีนก็มุ่งเน้นไปที่ตลาดในประเทศของเขาที่มีประชากรมหาศาลก่อน หลังจากนั้นถึงจะเริ่มส่งออกซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร จังหวะเริ่มต้นนี้แหละคือโอกาสของไทยที่จะมุ่งเน้นตลาดแถบอาเซียนที่มีประชากรอยู่ไม่น้อยถึง 600 ล้านคน

ย้อนกลับไปวัยเด็กเมื่อปี 1978 ตอนที่ผมอายุ 13 ปี ผมวาดภาพรถ Mercedes-Benz ในอนาคตส่งไปประกวดที่ประเทศเยอรมนีแล้วได้รางวัล ทำให้ผมมีความฝันและเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเมื่อโตขึ้นผมจะเป็นนักออกแบบรถยนต์คนแรกของประเทศไทยให้ได้ และจะสร้างรถสปอร์ตเป็นของตัวเอง บวกความเชื่อ (ตามประสาเด็กอายุ 13) ว่าประเทศไทยสามารถสร้างรถยนต์ และมีแบรนด์รถยนต์เป็นของเราเองได้เหมือนประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก แต่เมื่อเวลาผ่านไปผมเรียนจบและเริ่มทำงาน ผมก็เริ่มมองเห็นโลกแห่งความเป็นจริงที่ว่า “มันเป็นไปไม่ได้สำหรับเมืองไทยในชาตินี้…ที่จะมีแบรนด์รถยนต์ (แบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน) เป็นของตัวเองในแบบที่มีคุณภาพทัดเทียมแบรนด์ระดับโลก!”

 

กระดูกคนละเบอร์

อุตสาหกรรมรถยนต์นั้นเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการพัฒนารถยนต์ (แบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน) มานานนับร้อยกว่าปีแล้ว และไม่ได้มีเพียงแค่แบรนด์เดียว แต่ละแบรนด์นั้นก็มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีรถยนต์ และประสบการณ์ด้านการตลาดต่างๆ ในระดับสูงจนยากที่แบรนด์น้องใหม่จะตามทัน หรือเรียกได้ว่า ‘กระดูกคนละเบอร์’ แต่ก็ยังมีน้องใหม่ที่มีความฝันอยากเข้ามาสู่ธุรกิจนี้ ยกตัวอย่างเช่น มาเลเซียเพื่อนบ้านของเราที่มีรถยนต์แห่งชาติเป็นครั้งแรกด้วยแบรนด์ Proton ในปี 1985 แต่ต่อมาก็ไม่ประสบความสำเร็จในตลาดโลก แต่ก็ต้องขอนับถือในความกล้าของเขาที่จะสร้างฝันให้เป็นจริง ถึงแม้ว่าโอกาสในความสำเร็จนั้นจะมีเพียงแค่น้อยนิดก็ตาม

สำหรับในกรณีของเมืองไทยนั้นหมดสิทธิ์ที่จะมีรถยนต์แห่งชาติไปตั้งแต่ที่รัฐบาลสนับสนุนให้บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกมาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในบ้านเรา ทำให้ไทยขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการประกอบรถที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย และถูกขนานนามว่าเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ นั่นเอง สิ่งที่ตามมาด้วยก็คือโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบที่เรียกว่าเกือบจะครบทั้งคัน รวมไปถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาสำหรับตลาดในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะอีกด้วย

 

คนไทยหมดหวังกับรถยนต์แห่งชาติแล้วจริงๆ หรือ?

 

ตอบได้ว่า 100% ไม่มีทางแล้วสำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน แต่เดี๋ยวก่อน! ถ้าเป็นรถยนต์ที่ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์ล่ะ? ขอตอบว่าก็ยังมีสิทธิ์อยู่ และเค้าโครงแห่งความเป็นไปได้ก็เริ่มเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 1996 (22 ปีที่แล้ว) เมื่อบริษัท รถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด (EVT) ได้ติดต่อผมให้เป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบรถไฟฟ้าขนาดเล็กของไทย โดยอาศัยระบบมอเตอร์ไฟฟ้าจากรถกอล์ฟในเวลานั้น โดยทางผู้บริหารมีไอเดียที่ว่า อยากจะเริ่มพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของไทยให้สำเร็จในระดับโลก เพราะในเวลานั้นเทคโนโลยีเรื่องรถไฟฟ้านั้นยังเป็นเพียงแค่ยุคเริ่มต้น ดังนั้นทุกบริษัททั่วโลกก็เริ่มพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับคนไทยที่จะมีโอกาสสร้างรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นแบรนด์ของคนไทยจริงๆ (ไม่เหมือนกับเครื่องยนต์ที่ถูกพัฒนามาเป็นร้อยปีจนเราตามไม่ทันแล้ว) แต่น่าเสียดายที่มีเหตุผลใดก็ไม่ทราบที่ทำให้โครงการนี้หยุดไป

 

 

ต่อมาไม่นานผมก็มีโอกาสได้ทำโปรเจกต์รถเพื่อเข้าพิธีสวนสนาม โดยให้ดัดแปลงรถโฟล์กที่ใช้เครื่องยนต์ปกติให้เป็นระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งนับเป็นความท้าทายมาก เพราะในยุคนั้นก็ยังไม่มีเทคโนโลยีของรถไฟฟ้าใดให้เห็นนอกจากระบบของรถในสนามกอล์ฟ ซึ่งก็ใช้กันไม่ได้เพราะมอเตอร์มีขนาดเล็กเกินไป เราจึงต้องดัดแปลงชุดควบคุมไฟฟ้าที่ใช้กันในโรงงานอุตสาหกรรม และใช้แบตเตอรี่รถยนต์แบบปกติซึ่งมีขนาดใหญ่และมีนำ้หนักมาก แต่โครงการนี้ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นดีที่ทำให้รู้ว่า ‘รถยนต์ไฟฟ้าน่าจะเป็นคำตอบสำหรับรถยนต์แห่งอนาคตได้มากที่สุด’ เพราะจะช่วยลดมลพิษทางอากาศของโลกอย่างยั่งยืน

 

 

แล้วจะเราสู้กับเจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งอย่างจีนได้หรือ?

 

ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าจีนแซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปแล้วในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจีนก็มุ่งเน้นไปที่ตลาดในประเทศของเขาที่มีประชากรมหาศาลก่อน หลังจากนั้นถึงจะเริ่มส่งออก ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร จังหวะเริ่มต้นนี้แหละคือโอกาสของไทยที่จะมุ่งเน้นตลาดแถบอาเซียนที่มีประชากรอยู่ไม่น้อยถึง 600 ล้านคน

 

อาจพอสรุปได้ว่าการที่จะสร้างรถยนต์แห่งชาติขึ้นมาให้สำเร็จเพื่อไปแข่งขันในตลาดโลกต้องมีองค์ประกอบมากมาย เริ่มตั้งแต่เงินทุน การสนับสนุนจากภาครัฐ แนวคิด และช่องทางในการทำตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม รวมทั้งจังหวะเวลาและโอกาสที่เหมาะสม ที่สำคัญที่สุดก็คือการสนับสนุนจากคนไทยด้วยกันเอง

 

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือปัจจัยที่จะทำให้พวกเราคนไทยจะมีโอกาสได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทยในเร็ววันนี้ ไม่ใช่ ‘ชาติหน้า’ อย่างแน่นอน!

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising