สถาบันออสเตรเลีย (The Australia Institute) เผยแพร่ผลวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ จากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย พบว่าฤดูร้อนของออสเตรเลีย ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 1999-2018 นั้นยาวนานมากขึ้น โดยมากกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐาน 3 เดือน ในช่วงยุคทศวรรษ 1950 ถึง 31 วัน ในขณะที่ฤดูหนาวนั้นหดสั้นลง 23 วัน ซึ่งช่วงปี 2014-2018 พบว่าฤดูร้อนในออสเตรเลียนั้นยาวนานขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 50% และยาวนานกว่าฤดูหนาวถึง 2 เท่า
ในช่วงยุคทศวรรษ 1950 นั้น ฤดูร้อนในออสเตรเลียจะมีระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 3 เดือน แต่ปัจจุบันมีระยะเวลากว่า 4 เดือน และบางพื้นที่ เช่น ในเมืองพอร์ตแมคควอรี รัฐนิวเซาท์เวลส์ ฤดูร้อนลากยาวไปถึงเกือบ 5 เดือน
“ฤดูร้อนยาวนานมากขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เจอฤดูร้อนยาวนานกว่าฤดูหนาวถึง 2 เท่า ขณะที่ระดับอุณหภูมิ ซึ่งพิจารณาให้เป็นช่วงฤดูร้อนปกติระยะเวลาสามเดือนในยุค 1950 ตอนนี้ครอบคลุมตั้งแต่ช่วงต้นถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม” ริชีย์ เมอร์เซียน ผู้อำนวยการสถาบันภูมิอากาศและพลังงาน สถาบันออสเตรเลีย กล่าว
ผลวิเคราะห์ดังกล่าว มีขึ้นท่ามกลางภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ทำให้สภาพอากาศออสเตรเลีย ช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา ร้อนและแล้งที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยออสเตรเลีย เพิ่งจะเผชิญกับฤดูไฟป่าครั้งรุนแรง ที่เผาทำลายผืนป่าและบ้านเรือนประชาชน และคร่าชีวิตประชาชนไป 33 คน และสัตว์ป่าอีกนับพันล้านตัว ซึ่งแม้ภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จะไม่ก่อให้เกิดไฟป่าโดยตรง แต่ก็ทำให้อากาศร้อนและแล้งยาวนานขึ้น และทำให้ไฟป่าทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนวันของอากาศร้อนที่เพิ่มขึ้น ยังสร้างความเสี่ยงให้กับสาธารณะ และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของออสเตรเลียด้วย
“ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับระดับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส และฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้นอีก 1 เดือน เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรัฐบาลออสเตรเลียในปัจจุบันนั้นสอดคล้องกับภาวะโลกร้อนที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 3 ถึง 4 องศาฯ ซึ่งทำให้ชาวออสเตรเลียต้องเผชิญกับฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้น และผลกระทบที่รุนแรงขึ้น” เมเซียน กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลออสเตรเลีย ต้องเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อนโยบายสภาพอากาศ ในช่วงฤดูไฟป่าที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ถูกกล่าวหาว่าไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: