×

ออสเตรเลียนโอเพ่น กับเรื่องราวของสแลมแห่งความสุข

16.01.2023
  • LOADING...

‘สแลมแห่งความสุข (Happy Slam)’ คือหนึ่งในชื่อเล่นของเทนนิสแกรนด์สแลม รายการ ออสเตรเลียนโอเพ่น ไม่ต่างจาก เอโอ (AO), ออสโอเพ่น (Aus Open) หรือ ออสซีโอเพ่น (Aussie Open) แต่ชื่อนี้กลับเป็นชื่อที่แฟนเทนนิสหลายๆ คนชอบที่สุด เพราะมันบ่งบอกถึงคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนของเทนนิสรายการนี้

 

ที่มาของชื่อที่ว่า ‘สแลมแห่งความสุข’ นี้ ถูกเปิดเผยโดย เกร็ก ไทลีย์ ผู้อำนวยการจัดการแข่งขันเทนนิส ออสเตรเลียนโอเพ่น ว่ามาจากปากตำนานนักเทนนิสอย่าง โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ โดยเขากล่าวว่า “ออสเตรเลียนโอเพ่น เป็นสถานที่ที่พิเศษเสมอในใจของเขา ผมจำมันได้เพราะว่า โรเจอร์ เป็นคนแรกที่เรียก เอโอ ว่า ‘สแลมแห่งความสุข’”

 

 

ดังนั้นแล้วที่มาของชื่อเล่น ‘สแลมแห่งความสุข’ จึงง่ายดายเช่นนั้น เพราะแค่เหล่านักเทนนิสชอบมัน และมีความสุขที่ได้มาเล่นในรายการนี้

 

มีหลายเหตุผลที่ทำให้ ‘เฟดเอ็กซ์’ เรียกรายการนี้ว่า ‘สแลมแห่งความสุข’ อย่างเช่นการที่ ออสโอเพ่น เป็นเทนนิสแกรนด์สแลมแรกของปี ผู้เล่นจึงมีความสดใหม่และพร้อมที่จะเริ่มต้นฤดูกาล ต่างจากแกรนด์สแลมต่อๆ มา ที่บางคนอาจจะเจออาการบาดเจ็บเล่นงาน หรือบางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องฟอร์มการเล่น

 

 

ออสเตรเลียนโอเพ่น ใช้คำว่า ‘happy Slam’ ในการโปรโมตทัวร์นาเมนต์

 

แต่สำหรับรายการนี้ต่างออกไป เพราะสำหรับนักเทนนิสหลายคน เทนนิสรายการนี้คือทัวร์นาเมนต์เปิดฉากฤดูกาลอย่างแท้จริง แม้ว่าออสเตรเลียนโอเพ่นจะไม่ใช่การแข่งขันเทนนิสรายการแรกตามปฏิทินทัวร์นาเมนต์ของทั้ง ATP หรือ WTA ก็ตาม

 

นอกจากเรื่องราวของสภาพจิตใจแล้ว ในเรื่องของสถานที่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลเช่นกัน โดยเมลเบิร์นพาร์กในนครเมลเบิร์น สถานที่จัดการแข่งขันเทนนิสรายการนี้ ต่างจาก ปารีส (โรลังด์ การ์รอส), ลอนดอน (วิมเบิลดัน), และ นิวยอร์ก (ยูเอสโอเพ่น) เพราะเมืองแห่งนี้มีความพลุกพล่านของผู้คนน้อยกว่าทั้ง 3 เมืองใหญ่ในซีกโลกตะวันตกที่ว่ามาอย่างมาก ทำให้บรรดานักเทนนิสใช้ชีวิตง่ายกว่าในวันที่ไม่มีการแข่งขัน ทั้งยังไม่ต้องเจอกับสถานการณ์ที่เพิ่มความเครียดอย่างการจราจรที่แออัด หรือการเจอผู้คนมารุมขอถ่ายรูปหรือขอลายเซ็นด้วย (อันที่จริงก็อาจจะมีบ้าง แต่น่าจะน้อยกว่าในอีก 3 เมืองที่เหลือ)

 

นอกจากที่ว่ามาแล้ว ออสเตรเลียนโอเพ่นยังขึ้นชื่อเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากที่สุดในบรรดาแกรนด์สแลมทั้งหมด โดย เอโอ เป็นแกรนด์สแลมรายการแรกที่มีสนามเทนนิสที่มีหลังคาเปิด-ปิดได้ นั่นทำให้นักเทนนิสไม่ต้องทนกับสภาพอาการร้อนจากแสงแดดในฤดูร้อนของเขต ‘ดาวน์อันเดอร์’ หากต้องแข่งขันในเวลากลางวัน (แม้ว่าปกติแล้วหากเป็นนักหวดดาวดังก็มักจะถูกจัดให้แข่งขันในช่วงเย็นหรือค่ำอยู่แล้วก็ตาม)

 

 

ถัดจากเรื่องของหลังคาสนามแล้ว ออสโอเพ่นยังเป็นแกรนด์สแลมรายการแรกเช่นกันที่มีการอนุมัติการใช้เทคโนโลยี ฮอว์กอาย (Hawkeye) และเปิดโอกาสให้นักเทนนิสชาเลนจ์คำตัดสินของแชร์อัมไพร์ได้ หากพวกเขาไม่เชื่อมั่นในคำตัดสิน นำมาซึ่งความยุติธรรมในเกมเทนนิสและความพึงพอใจของบรรดานักหวด จนปัจจุบัน เทคโนโลยีดังกล่าวก็กลายเป็นมาตรฐานในการแข่งขันเทนนิสอาชีพไปแล้ว

 

ขณะที่แฟนเทนนิสส่วนมากก็มีความสุขกับการดูเทนนิสรายการนี้ไม่แพ้นักเทนนิสเช่นกัน เพราะนี่คือการแข่งขันแกรนด์สแลมรายการแรกของปีที่แฟนเทนนิสต่างรอคอย นับตั้งแต่เทนนิส เอทีพี ไฟนอลส์ หรือ ดับเบิลยูทีเอ ไฟนอลส์ จบลงไป

 

ช่วงปิดฤดูกาลบรรดานักเทนนิสตัวท็อปก็ต่างแยกย้ายไปพักผ่อน หรืออาจจะไปลงเล่นเกมเอ็กซิบิชันแมตช์ แต่จะไม่มีรายการไหนเลยที่รวมตัวพวกเขาและพวกเธอทั้งหมดไว้ในที่เดียวได้เท่าแกรนด์สแลม หรือรายการระดับมาสเตอร์ 1000 อีกแล้ว และออสโอเพ่นก็เป็นเทนนิสรายการที่บรรดานักเทนนิสดาวดังมารวมตัวเพื่อแข่งขันกันในรายการเดียวมากขนาดนี้

 

ขณะที่แฟนเทนนิสจำนวนมาก ต่างยกให้ ออสซีโอเพ่น เป็นทัวร์นาเมนต์ที่ ‘มัน’ หากเทียบกับการแข่งขันในระดับแกรนด์สแลมด้วยกัน เพราะนอกจากเป็นการรวมตัวของนักเทนนิสดาวดังแล้ว แกรนด์สแลมแรกของปีรายการนี้ยังเป็นแกรนด์สแลมรายการที่คอร์ตเทนนิสได้รับการรับรองจากสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ ( ITF) ให้อยู่ที่ในประเภทที่ 4 ที่ลูกกระดอนด้วยความเร็วระดับปานกลาง-เร็ว ซึ่งนับเป็นมาตรฐานคอร์ตที่มีความเร็วในการกระดอนมากที่สุดในบรรดารายการแกรนด์สแลมด้วยกัน ทำให้การแข่งขันออกที่ออกมาน่าตื่นเต้นและดุดันที่สุดในบรรดาแกรนด์สแลมทั้งหมด

 

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเมลเบิร์นพาร์ก สถานที่จัดการแข่งขันในศึกออสเตรเลียนโอเพ่น ปัจจุบันใช้พื้นคอร์ตของกรีนเซ็ต (GreenSet) ที่มีส่วนผสมของยางมะตอยหรือคอนกรีตเป็นฐาน ก่อนราดผิวส่วนบนด้วยอะคริลิก เรซิน และซิลิกา ซึ่งต่างจากพื้นผิวที่ยูเอสทีเอ บิลลี จีน คิง เนชันแนล เทนนิส เซ็นเตอร์ ในมหานครนิวยอร์ก สถานที่จัดการแข่งขันศึกยูเอสโอเพ่น ที่แม้จะเป็นฮาร์ดคอร์ตเหมือนกัน แต่ที่นั่นพวกเขาใช้พื้นคอร์ตของเลย์คอลด์ (Laykold) ที่มีพื้นผิวหน้าทำมาจากอะคริลิกและโพลิเมอร์ โดย ITF รับรองพื้นผิวคอร์ตของยูเอสโอเพ่นให้อยู่ในประเภทที่ 2 ที่ลูกกระดอนด้วยความเร็วระดับปานกลาง-ช้า

 

 

นั่นหมายความว่าพื้นผิวคอร์ตของยูเอสโอเพ่นจะส่งผลให้ลูกเทนนิสกระดอนช้ากว่าที่ออสเตรเลียนโอเพ่น แต่ในทางตรงกันข้ามก็จะส่งผลให้ลูกสปินได้ดีกว่าเช่นกัน ซึ่งสำหรับแฟนๆ เทนนิส พวกเขาจะได้ดูเกมที่รวดเร็วและรุนแรงกว่าในออสซีโอเพ่น ขณะที่ยูเอสโอเพ่นก็จะได้ดูเกมที่มีช็อตแรลลีคะแนนยาวๆ มากกว่านั่นเอง

 

สำหรับออสเตรเลียนโอเพ่น 2023 มีการเพิ่มเงินรางวัลรวมเป็น 76.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 2,507 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.4% ซึ่งแชมป์ประเภทเดี่ยวจะได้รับเงินรางวัลสูงถึง 2.975 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 68 ล้านบาท ส่วนรองแชมป์จะได้รับเงินรางวัล 1.625 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 37 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

 

เงินรางวัลที่เพิ่มขึ้นในออสเตรเลียน โอเพ่น ครั้งนี้

 

โดยทางด้าน เกร็ก ไทลีย์ ผู้อำนวยการจัดการแข่งขัน เป็นคนที่ผลักดันการขึ้นเงินรางวัลในครั้งนี้ โดยเขาเคยกล่าวก่อน เทนนิส ยูไนเต็ด คัพ จะเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า “มันเป็นการต่อยอดความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในทัวร์นาเมนต์เทนนิสฤดูร้อนของเรา เพื่อหยิบยื่นโอกาสและทำให้มั่นใจว่า บรรดานักเทนนิสที่ดีที่สุดเหล่านี้จะได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมในการแข่งขัน”

 

นอกจากนี้ ไทลีย์ยังต้อนรับการกลับมาของแฟนเทนนิสชาวจีนที่จะมาชมการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพ่น แต่พร้อมกันนั้นเขาก็ยอมรับความจริงว่า แฟนๆ ชาวจีนอาจจะยังไม่กลับมาเต็มจำนวนแบบหลายครั้งก่อนหน้านี้ โดยกล่าวว่า “ในอดีต แฟนเทนนิสชาวจีนเป็นชาติที่มาเยือนเราเป็นอันดับ 1 ก่อนช่วงเกิดการระบาดของโควิด เห็นได้ชัดว่าพวกเขาหายไปเยอะมากในช่วงการแพร่ระบาด

 

“ผมมั่นใจว่าเราจะกลับไปสู่จุดนั้นได้ เพราะจีนอนุญาตให้คนของพวกเขาออกนอกประเทศได้แล้ว และเราก็จะได้แฟนเทนนิสของเราคืนมา แน่นอนว่าพวกเขาอาจจะยังไม่กลับมามากแบบที่เราเคยเห็น แต่มันอาจจะกลับไปสู่จุดนั้นในปี 2024 หรือ 2025 เพราะประเทศจีนมีการเปลี่ยนแปลง และอาจมีการอนุญาตให้เดินทางมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ดีขึ้นในอนาคต”

 

ขณะเดียวกัน โนวัค ยอโควิช ก็จะสามารถกลับสู่การแข่งขันที่เป็นเสมือน ‘สวนหลังบ้าน’ ของเขาได้อีกครั้ง หลังจากที่ถูกเนรเทศออกจากออสเตรเลียเมื่อปีก่อน หลังจากที่พยายามเข้าประเทศมาร่วมการแข่งขันในศึกออสเตรเลียนโอเพ่นทั้งที่ไม่ได้รับวัคซีนต้านเชื้อโควิด

 

โนวัค ยอโควิช เจ้าของแชมป์ออสเตรเลียนโอเพ่นมากที่สุดที่ 9 สมัย 

 

ไทลีย์เชื่อว่ายอโควิชจะได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นจากแฟนๆ ในเมลเบิร์นอย่างแน่นอน โดยให้สัมภาษณ์ว่า “เห็นได้ชัดว่า โนเล่ ได้รับการตอบรับที่ดีมากในเอดิเลด (อินเตอร์เนชันแนล) ที่เขาเล่นคู่กับ วาเซก พอสปิซิล และผมคิดว่านั่นเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับเขาที่ลงเล่นในแอดิเลด และเขาสนุกกับการได้กลับมา

 

“เราได้คุยกันแล้ว ผมได้คุยกับทีมของเขา เมื่อจบทัวร์นาเมนต์ที่เอดิเลดแล้วเขาจะมาที่เมลเบิร์น และอย่างที่ผมพูดตั้งแต่ก่อนหน้านี้ว่า ผมมีความมั่นใจอย่างมากต่อแฟนๆ ชาวออสเตรเลีย พวกเขาเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจเกม เข้าใจความยิ่งใหญ่ของแชมป์ออสเตรเลีย 9 สมัย และนั่นจะทำให้ โนเล่ ได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นที่นั่น”

 

ถึงแม้ปัญหาการขาดนักเทนนิสที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของปีก่อนจะหายไป แต่ออสเตรเลียนโอเพ่นในปีนี้ก็ต้องพบเจอกับปัญหาใหม่ที่ทำให้ขาดนักเทนนิสดาวดังหลายราย ซึ่งอาจส่งผลต่อเรตติ้งของการแข่งขัน อย่าง คาร์ลอส อัลคาราซ นักเทนนิสมือ 1 ของโลกฝ่ายชาย ที่มีปัญหาอาการบาดเจ็บที่ขาขวา และ แอชลีย์ บาร์ตี อดีตนักเทนนิสหญิงมือ 1 ของโลก ขวัญใจเจ้าถิ่น ที่เป็นแชมป์เก่าเมื่อปีก่อน ซึ่งตัดสินใจรีไทร์โดยให้เหตุผลว่าหมดไฟในการเล่น ขณะที่ นาโอมิ โอซากะ ก็ตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขัน ก่อนที่จะออกมาเปิดเผยว่าเธอตั้งครรภ์ในเวลาต่อมา

 

แต่ถึงอย่างนั้น เอโอปีนี้ก็ยังมีนักเทนนิสที่น่าจับตามองหลายคน เช่น ราฟาเอล นาดาล แชมป์เก่ารายการนี้ และแชมป์แกรนด์สแลม 22 รายการ จากสเปน ที่เตรียมลงป้องกันแชมป์รายการนี้ เพื่อเพิ่มสถิติคว้าแชมป์แกรนด์สแลมเป็น 23 รายการ เพื่อไปเทียบเท่ากับ เซเรนา วิลเลียมส์ เพื่อนร่วมรุ่นที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมไป 23 รายการ โดยในรอบแรก ‘เอล ราฟา’ จะลงสนามพบกับ แจ็ค เดรเปอร์ นักเทนนิสสหราชอาณาจักร มือวางอันดับ 40 ของโลก (แข่งขันในวันจันทร์ที่ 16 มกราคม เวลา 10.30 น.)

 

 

ตารางการแบ่งสายของ ราฟาเอล นาดาล แชมป์เก่ารายการนี้

 

ขณะที่ ‘โนเล่’ โนวัค ยอโควิช ก็มีโอกาสทำสถิติขึ้นไปเทียบเท่ากับนาดาล ที่ 22 รายการเช่นกัน และมีโอกาสมากเป็นพิเศษเมื่อเขาลงแข่งขันที่เมลเบิร์นพาร์กแห่งนี้ สถานที่ซึ่งเขาถูกยกย่องเป็น ‘ราชาแห่งเมลเบิร์น’ (King of Melbourne) โดยหากเขาคว้าแชมป์ได้สำเร็จ ไม่เพียงแต่เขาจะสร้างประวัติศาสตร์ในการคว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพ่นได้ 10 สมัยเท่านั้น เขาจะยังสามารถทวงบัลลังก์นักเทนนิสมือ 1 ของโลกคืนจาก คาร์ลอส อัลคาราซ ได้อีกด้วย โดยในรอบแรก โนเล่จะได้ลงสนามในเมนคอร์ต ร็อด เลเวอร์ อารีนา พบกับ โรเบร์โต การ์บาเยส บาเอนา นักเทนนิสมือ 75 ของโลก ในวันอังคารนี้ เวลา 16.15 น.

 

 

ตารางการแบ่งสายของ โนวัค โยโควิช แชมป์ 9 สมัย

 

ด้าน อิกา สเวียเท็ก นักเทนนิสมือ 1 ของโลกฝ่ายหญิงจากโปแลนด์ ก็หวังคว้าแชมป์ออสโอเพ่นสมัยแรกของเธอในปีนี้ และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมที่ 4 ในอาชีพ โดยในปีก่อน เธอเพิ่งคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ 2 รายการในปีที่ผ่านมา ทั้งเฟรนช์โอเพ่นและยูเอสโอเพ่นมาครองได้สำเร็จ ซึ่งนักเทนนิสสาววัย 21 ปีรายนี้ จะลงสนามรอบแรกพบกับ ยูลี นีไมเออร์ นักเทนนิสหญิงมือ 69 ของโลกจากเยอรมนี

 

https://www.youtube.com/watch?v=Ejf7Bltk9OU

อิกา สเวียเท็ก นักเทนนิสมือ 1 ของโลกฝ่ายหญิง กับการอ่านชื่อของเธอ

 

นอกจากบรรดาตัวเต็งแล้ว ออสเตรเลียนโอเพ่นปีนี้ก็มีนักเทนนิสที่น่าจับตามองอีกหลายคน โดยเฉพาะ แคโรไลน์ การ์เซีย นักเทนนิสหญิงจากฝรั่งเศส ที่เธอเพิ่งสร้างเซอร์ไพรส์ คว้าแชมป์ดับเบิลยูทีเอ ไฟนอลส์ มาครองได้เมื่อปลายปีก่อน ขณะที่ฝ่ายชายจะต้องจับตาไปที่ 2 ดาวรุ่งอย่าง เฟลิกซ์ โอเฌร์ อาลียาซีม นักเทนนิสวัย 22 ปี จากแคนาดา กับ โฮลเกอร์ รูน นักหวดวัย 19 ปีจากเดนมาร์ก โดย 3 คนนี้คว้าแชมป์รวมกันถึง 7 รายการ นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีก่อน ทำให้หลายคนจับตามองว่าปี 2023 นี้จะเป็นปีทองของพวกเขาและเธอด้วย

 

สำหรับศึกออสเตรเลียนโอเพ่นจะเปิดฉากขึ้นในวันนี้ (16 มกราคม) และเล่นกันต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคมนี้ โดยแฟนเทนนิสชาวไทยสามารถรับชมการแข่งขันได้ทาง True Visions ช่อง True Premier Football 5 ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ยาวไปจนจบการแข่งขันในทุกวัน

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X