วานนี้ (16 กันยายน) งานวิจัยของออสเตรเลียระบุว่า ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทุกคนที่จะสามารถสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ได้อย่างกระชับและพอดี โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้ที่มีเชื้อสายเอเชีย
ศ.บริตตา ฟ็อน อุนเกิร์น-สเติร์นแบร์ก ผู้เขียนร่วมอาวุโสจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย อธิบายว่า การป้องกันการแพร่กระจายทางอากาศ (Airborne Protection) อย่างเพียงพอจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อแผ่นกรองอากาศแนบชิดติดกับใบหน้าของผู้สวมใส่อย่างเหมาะสมและแน่นหนา
ศ.อุนเกิร์น-สเติร์นแบร์ก ระบุว่า การรั่วไหลจะทำให้ระดับการป้องกันการแพร่กระจายทางอากาศลดลง เนื่องจากอากาศที่ไม่ได้ผ่านการกรองจะสามารถเข้าไปในหน้ากากได้
ขณะเดียวกันงานวิจัยพบว่า สัดส่วนเจ้าหน้าที่การแพทย์หญิงที่สามารถสวมหน้ากาก P2 และ N95 ได้อย่างกระชับนั้นอยู่ที่ร้อยละ 85 เท่านั้นเมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่การแพทย์ชาย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 95 ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์หญิงชาวเอเชียคือกลุ่มที่สวมหน้ากากได้กระชับน้อยที่สุด โดยมีอัตราการป้องกันเบื้องต้นเพียงร้อยละ 60
นักวิจัยกล่าวว่า ขนาดใบหน้าต้นแบบของหน้ากาก N95 นั้นได้มาจากการสำรวจในประชากรกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีผู้หญิงและชาวเอเชียเข้าร่วมไม่มากนัก จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ความกระชับกับใบหน้าขณะสวมหน้ากากของกลุ่มผู้หญิงและชาวเอเชียนั้นน้อยกว่า
นอกจากนั้นงานวิจัยยังแนะนำว่า ควรจัดหาผู้เชี่ยวชาญสำหรับทดสอบความพอดีของหน้ากากอนามัยกับใบหน้าของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ภายใต้สภาพการทำงานที่ถูกจำลองขึ้น แทนการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหน้ากากของตนเอง ซึ่งอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคโควิด-19
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว