ออสเตรเลียผ่านกฎหมายควบคุมโซเชียลมีเดีย กรณีไลฟ์หรือสตรีมมิงคอนเทนต์ที่มีเนื้อหารุนแรงหรือเข้าข่ายอาชญากรรม แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งจะเตือนว่า กฎหมายดังกล่าวถูกพิจารณาเร็วไป ซึ่งอาจจะมีข้อบกพร่องและช่องโหว่ก็ตาม
สาเหตุของการผ่านร่างกฎหมายนี้มาจากกรณีที่ผู้ก่อโศกนาฏกรรมไครสต์เชิร์ชไลฟ์ในนิวซีแลนด์ ได้ไลฟ์บนเฟซบุ๊กระหว่างลงมือก่อเหตุกราดยิง เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมียอดผู้เสียชีวิตถึง 50 ราย ขณะที่คลิปวิดีโอดังกล่าวถูกส่งต่อกันบนโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว จนเฟซบุ๊กถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการนำคอนเทนต์รูปแบบนี้ออกจากระบบอย่างทันท่วงที
ทั้งนี้เว็บไซต์ Bloomberg ระบุว่า บทลงโทษของบริษัทเทคโนโลยีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมายฉบับนี้ ปล่อยให้มีการไลฟ์คอนเทนต์ที่มีเนื้อหาความรุนแรงคือ ปรับเงินเป็นจำนวน 10% จากรายได้ตลอดทั้งปี โดยที่ผู้บริหารระดับสูงอาจจะต้องโทษจำคุกเป็นระยะเวลา 3 ปี
อย่างไรก็ดี ที่นักกฎหมายมองว่า การผ่านร่างกฎหมายนี้ยังมีข้อบกพร่อง เนื่องจากการลงโทษผู้บริหารแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียด้วยการจำคุกอาจจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่สุด ท้ังยังไม่ได้นำไปสู่การพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยของชุมชนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ถูกวิธี เช่นเดียวกัน กฎหมายนี้อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวของสื่อมวลชนได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ข่าวนั้นๆ เกี่ยวข้องกับเหตุอาชญากรรมและความรุนแรง หรือเป็นหลักฐานที่จะช่วยจับกุมผู้ก่อเหตุ
ท้ายที่สุดแล้ว การที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกเริ่มเห็นความสำคัญของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียด้วยการออกกฎหมายควบคุมการใช้งาน นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี (ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า สิงคโปร์เตรียมจะพิจารณาร่างกฎหมายกำจัดข่าวปลอมไป) แต่ขณะเดียวกัน หน่วยงานรัฐบาลก็ต้องหาวิธีที่ดีที่สุด เพื่ออุดช่องโหว่ที่จะไม่ทำให้ตัวกฎหมายไปเบียดเบียนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- www.bloomberg.com/news/articles/2019-04-03/australia-crackdown-on-facebook-streamed-terrorism-passes-senate
- www.theguardian.com/media/2019/mar/30/australia-plans-tough-laws-for-social-media-sites-that-dont-take-down-violent-content
- parlinfo.aph.gov.au/parlInfo/download/legislation/bills/s1201_first-senate/toc_pdf/1908121.pdf;fileType=application%2Fpdf