ริชาร์ด มาร์เลส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลีย ระบุวานนี้ (9 มีนาคม) ว่า เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของออสเตรเลียจะช่วยสร้างหลักประกันถึงสันติภาพและเสถียรภาพทั่วอินโด-แปซิฟิก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมหาสมุทรอินเดีย ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่ผู้นำออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ จะร่วมกันหารือเกี่ยวกับข้อตกลงความมั่นคงที่สำคัญในวันจันทร์หน้า (13 มีนาคม)
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ จะพบปะกับ แอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีอังกฤษในวันจันทร์ ณ เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของปฏิบัติการสำคัญของกองทัพเรือสหรัฐฯ เพื่อกำหนดแนวทางสำหรับแผนการของออสเตรเลียในการจัดซื้อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ภายใต้ข้อตกลง AUKUS
“แน่นอนว่าเรือดำน้ำเหล่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะใช้ในภาวะสงคราม แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงของมันคือการมอบความมั่นคงและสร้างสันติภาพให้กับภูมิภาคของเรา” มาร์เลสกล่าวกับรัฐสภา
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว Reuters รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ 4 คนว่า ออสเตรเลียมีแผนที่จะจัดซื้อเรือดำน้ำนิวเคลียร์ชั้นยูเอส เวอร์จิเนีย (US Virginia Class) จำนวน 5 ลำจากสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 2030 อย่างไรก็ตาม ผู้นำออสเตรเลียได้ปฏิเสธที่จะยืนยันรายงานดังกล่าว โดยระบุว่า เขาจะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในเวลาที่เหมาะสม ตอนนี้สามารถยืนยันได้แค่ว่าในวันจันทร์หน้าจะมีการประชุมของชาติพันธมิตรที่อยู่ภายใต้ข้อตกลง AUKUS เท่านั้น
เมื่อเดือนกันยายนปี 2021 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ประกาศความร่วมมือในสนธิสัญญาความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกฉบับใหม่ และจัดตั้ง ‘พันธมิตรไตรภาคีด้านความมั่นคง’ หรือที่เรียกว่า AUKUS ซึ่งไบเดนยืนยันว่าเป็นความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในระยะยาว ในขณะที่หลายฝ่ายมองว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นความพยายามในการต่อต้านอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ที่มีหลายประเทศอ้างสิทธิ์
ภายใต้กรอบความร่วมมือไตรภาคี AUKUS ออสเตรเลียจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการสร้างเรือดำน้ำที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งจะทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นหนึ่งในเพียง 7 ประเทศในโลกที่ได้ครอบครองเรือดำน้ำนิวเคลียร์ นอกจากนี้ ชาติพันธมิตรยังจะแบ่งปันขีดความสามารถทางด้านไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอื่นๆ ร่วมกันด้วย
แฟ้มภาพ: Asanka Ratnayake / Getty Images
อ้างอิง: