“เธอๆ นั่นไง แสงเหนือ” เท เพื่อนร่วมทริปของเราพูดขึ้นมาเบาๆ หลังจากที่เราต่างก็เงียบกันไปเพื่อพยายามเสิร์ชหาที่พักคืนนี้ด้วยโทรศัพท์มือถือแต่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต เราทั้ง 3 คนกำลังนั่งอยู่ในรถตู้เหล็กกล้าโมเดลสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังแล่นกลับเข้าเมือง ‘มูร์มานสก์’ (Murmansk) หลังจากตกเครื่องไฟลต์ Irkutsk-Murmansk ตอนต่อเครื่องที่มอสโกเมื่อวานนี้ ซึ่งอันที่จริงเราน่าจะต้องเดินทางมาถึงที่นี่กันตั้งแต่บ่าย 4 ของเมื่อวาน แต่กลายเป็นว่าเดินทางมาถึงตอน 8 โมงเช้าของวันนี้ แต่เอาเถอะแลกกับการนอนโนโวเทล และบุฟเฟต์ 2 มื้อ การประหยัดที่พัก 1 คืนกับ 2 มื้ออาหารสำหรับแบ็กแพ็กเกอร์ซำเหมาอย่างเรา การตกเครื่องครั้งนี้ก็ไม่ถือว่าเลวร้ายนัก
“หืมม…ม
“นั่นไง อยู่นั่น!”
เรามองผ่านกระจกรถอย่างเปะปะ สะลึมสะลือ ไม่คาดหวัง ไม่มีโฟกัส ตอนนี้ประมาณ 2 ทุ่มกว่าๆ ยังไม่มืดสนิทดี พระอาทิตย์เพิ่งโบกมือลาไปเมื่อประมาณทุ่มกว่าๆ นี้เอง พวกเราค่อนข้างเพลียเพราะเพิ่งลงจากเครื่องเมื่อเช้า แถม ยูรี่ (Yury) ไกด์หนุ่มก็มารับไปตะกายเนินและทางลูกรัง ปีนผา ปีนชะง่อนหิน โขยกเขยกห่างออกไปจากเมืองเสียเกือบ 200 กม. และนี่ก็อีกกว่าสิบกิโลฯ ก็น่าจะถึงตัวเมืองแล้วยังไม่รู้จะนอนไหน…ใช่! คืนนี้เรายังไม่มีที่นอน
“ไหน…?” พูดยังไม่ทันจบคำดี แสงสีขาวบนฟ้าที่เห็นเป็นหย่อมเล็กๆ เบลอๆ ก็ปรากฏชัดขึ้นและลากยาวเป็นเส้นโค้งลงมา ยาวขึ้น ยาวขึ้น และกำลังค่อยๆ ชัดยิ่งขึ้นไปอีก
“ออยๆ เห็นยัง…แสงเหนือ” เราบอกน้องชายที่นอนหลังเดี้ยงอยู่อีกฝั่งด้วยเสียงเนือยๆ เหมือนเราเองก็ยังไม่เชื่อสนิทดีว่านี่ล่ะ แสงเหนือ ไม่สิ วันนี้ฝนตกนะ เมฆเยอะ แล้วฝนก็เพิ่งหยุดไปเมื่อสักครู่นี้เอง มันไม่น่า…แต่ตายังจ้องตรงแสงโค้งที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แล้วจู่ๆ ไอ้เส้นโค้งนั่นมันก็แผ่ทิ้งตัวลงมาเป็นแผ่น เหมือนฝนตกนั่นล่ะ ไม่ได้เป็นเม็ดๆ หรือเส้นฝอยๆ แต่เหมือนจังหวะที่เราเปิดประตูเข้าไปในห้องมืดแล้วแสงจากห้องที่เรายืนก็แผ่วาบเข้าไปเป็นแผ่น อย่างไรอย่างนั้น
“เราต้องจอดตรงนี้แล้วล่ะ” เราตะโกน
“ยูรี่ จอด! ออย เท เตรียมขาตั้งกล้อง” เสียงดังเป็นภาษาไทยชัดเป๊ะ แต่ยูรี่ไกด์หนุ่มชาวรัสเซียของเราก็เบรกพรืดทันทีอย่างกับเข้าใจ เทกระชับขาตั้งกล้องเหวี่ยงตัวลงจากรถแล้วก็วิ่งหามุมเหมาะ ส่วนออย ร้อง “โหยยยย…หูวววว” อยู่ประมาณ 4-5 รอบจนได้สติแล้วก็รีบเซตกล้องและอุปกรณ์ที่หนักกว่าเสื้อผ้าทั้งหมดของทริปลงบนที่มั่น เราแช่อยู่ตรงนั้นกันประมาณเกือบครึ่งชั่วโมง พอยูรี่เห็นว่าคลายจากอาการตื่นเต้นแล้วก็มากระซิบว่าตรงนี้มันถนนใหญ่ แสงไฟจากรถเยอะ เดี๋ยวจะพาไปอีกที่ที่ไม่มีแสงรบกวน เราย้ายกันอย่างว่องไวห่างจากจุดเดิมประมาณ 2 กิโลฯ เลี้ยวเข้าไปในซอย ไม่มีบ้าน ไม่มีแสงไฟรถ แล้วก็ตั้งกล้องกันใหม่ แรกๆ เราก็ส่งเสียงตื่นๆ
“ขวา! เหนือต้นไม้สูงๆ”
“ซ้าย บนๆ สิบโมงครึ่ง”
“ยาวแล้วๆ โอ๊ยยย”
“มันแผ่ลงมา ครึ่งฟ้าแล้ว”
“นั่น ข้างหลังมี”
“อุ๊ย ตรงนั้นชัดกว่า”
“โอ๊ยยย มันรวมตัวกันเต้นรำด้วย!”
พอผ่านไปสัก 15 นาทีก็จะเป็น “ข้างหลัง” “ซ้าย” “เหนือๆ” จนในที่สุดก็…อืมมม “เราไปรอในรถนะ หนาว!”
เราอยู่ตรงนั้นต่อกันอีกไม่นาน เพราะสักพักก็มีรถบรรทุกวิ่งขนทรายหรือหินเลี้ยวเข้ามาเป็นระยะ ข้างในซอยน่าจะมีแคมป์ก่อสร้างอะไรสักอย่าง แล้วยูรี่ก็มาสะกิดหน้าง่วงๆ ว่าต้องการเวลาอีกเท่าไร เพราะนี่ก็ 3 ทุ่มกว่าแล้ว เราจึงตัดสินใจว่าถ้ารถบรรทุกผ่านมาอีกคันก็เป็นอันเก็บกล้อง เพราะคิดว่าด้วยสภาพอากาศเกือบๆ ติดลบและพื้นที่แบบนี้ออยได้วิดีโอสั้นๆ ก็น่าจะพอ เทก็คงพอถ่ายได้อยู่ ส่วนเราหายตื่นเต้นและย้ายตัวมานั่งดูเพลินๆ ในรถจนจุใจมากแล้ว
ระหว่างทางเข้าเมืองนั่งมองฟ้าไปเพลินๆ ก็พานนึกถึงฟ้าที่มองโกเลียไม่กี่วันก่อน ในคืนที่เราออกไปอาศัยค้างในเกอร์ (กระโจมทรงกลม) ของชนเผ่าพื้นเมืองมองโกเลียที่ยังคงใช้ชีวิตตามแบบเดิมๆ ย้ายถิ่นตามฤดูกาลและดำรงชีพด้วยฝูงปศุสัตว์นอนในคืนนั้น ฟ้าที่นี่เราได้เห็นแสงเหนือ แต่ฟ้าที่นั่นตอนที่เรามุดเกอร์ออกมาสัมผัสอุณหภูมิ -2 องศาในเวลาประมาณ 3 ทุ่มกว่า และไม่ว่าจะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ดาวทะเลทรายมากมายเกินว่าจะนับได้ ก็ออกมาแข่งกันอวดแสงกะพริบให้เราเห็น คืนนั้น 2 หนุ่มตั้งกล้องถ่ายรูปและวิดีโอกันไม่รู้หนาว อาจจะเป็นด้วยเบียร์และเหล้าขาวพื้นเมืองหลากชนิดที่เราได้เริ่มดื่มกันตั้งแต่ลงจากหลังอูฐหลังทัวร์รอบโอเอซิสโดยมีฝูงอูฐเป็นไกด์ก็เป็นได้
ตอนวางแผนทริปเราคิดแค่ว่าอยากมามองโกเลีย นอนเกอร์ ไปโกบี ขี่อูฐไปกินน้ำในโอเอซิส นั่งทรานส์มองโกเลีย แล้วไปเข้ามิวเซียมเพื่อกลับบ้านจากทางรัสเซีย ก็แค่นั้น! เราไม่ได้มีเมืองนี้ในแผนการเดินทางแต่แรกด้วยซ้ำ แค่ออยบอกว่ารัสเซียก็มีแสงเหนือนะแถวๆ เมืองมูร์มานสก์ เราก็แค่…เอาสิๆ พอมาเสิร์ชดู มูร์มานสก์…ตั้งอยู่บน ‘วงกลมอาร์กติก’ (Arctic Circle) เหนือฟินแลนด์และนอร์เวย์ เห็นรูปไทก้า เห็นคำประกอบภาพว่าเป็นอาณาจักรแห่งป่าสนและทะเลสาบก็ตาลุกหูตั้งรีบตกลง และบรรจุมูร์มานสก์ใส่ลงในแพลนทันที เอาเข้าจริงๆ พอถึงเวลานี้แล้วทั้งป่าสนหลากสีแถมกลิ่นดีในเดือนกันยายน ทั้งลมมหาสมุทรอาร์กติก และแสงเหนือที่เพิ่งเห็นเป็นสิ่งที่วิเศษเกินคาดจริงๆ
หายเพ้อแล้วก็ช่วยกันเสิร์ชดูที่พักอีกรอบจนได้ที่หนึ่ง 2 ห้องนอน 3 เตียง มีโถงเล็กๆ ห้องน้ำดีงาม เป็นอพาร์ตเมนต์ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร ในราคารวมกันแล้ว 3 คนก็ประมาณ 2,100 บาท เลยให้ยูรี่บึ่งไปส่ง เห็นที่พักแล้วก็…โอ้วว ดีกว่ารูปในเว็บเสียอีก เราร่ำลากับยูรี่แล้วก็เพิ่มเงินค่าทิปให้เขาอีกพันกว่าบาท ยูรี่มีสีหน้าแช่มชื่นและหายง่วงขึ้นนิดหน่อย แถมบอกว่าถ้าพรุ่งนี้จะไปไหนให้ส่งข้อความมาบอกได้เลย ว่าง! ไกด์อะไร หน้าตาดี ความรู้ดี รถเท่ แถมยังใจดีอีก
เช็กอินที่พักเรียบร้อยประมาณ 5 ทุ่มแล้วก็ถามถึงร้านอาหาร เพราะเพิ่งได้สติว่าตั้งแต่บ่าย 2 ก็ไม่มีอะไรตกถึงท้องกันเลย พนักงานของที่พักบอกว่าสามารถสั่งจากร้านข้างนอกเข้ามากินได้ แถมแนะนำร้านหนึ่งที่รสชาติดีแถมมีแอปฯ ให้สั่งอีก เราสั่งแกะ เรนเดียร์ เนื้อวัว ซุป และสลัด แล้วก็อาบน้ำรอ เมื่ออาหารมาถึง เรายื่นเรนเดียร์ให้เทและบอกว่า “อะ ของเธอ สเต๊กเนื้อ” แล้วก็แอบมองเพราะตัวเองยังไม่ค่อยแน่ใจในรสชาติ พอสังเกตเห็นว่าเทตักกินแล้ว 2-3 คำจึงถามว่า อร่อยไหม? เทบอกก็อร่อย แต่เหนียวๆ หน่อย เราตักชิมแล้วรู้สึกเหนียวอย่างที่เทว่า แต่จริงๆ มันก็ไม่ได้เลวร้าย รสชาติค่อนข้างดีเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อเทียบกับสตูแกะที่เรากินอยู่ก็ขอเลือกแกะดีกว่า
เราอยู่มูร์มานสก์กันอีกคืน หลังจากวันและคืนแสนวิเศษนั่น แต่ย้ายที่ไปนอนห้องชุดเก่าๆ บนชั้น 9 ของตึกเก่าๆ ใกล้กับสถานีรถไฟเพื่อที่จะง่ายกับการจับรถไฟช่วงเช้าไป St.Pertersburg ในเช้าถัดไป ที่นี่เก่าแต่สะอาด มีห้องโถง ครัวที่มีอุปกรณ์ครบครัน และห้องน้ำรวมที่ใช้ร่วมกับอีก 2 ห้อง แต่เห็นลุงห้องข้างๆ อยู่ห้องเดียว ส่วนอีกห้องเหมือนไม่มีคนอยู่ ในราคา 1,000 บาท / 3 คน ได้จังหวะพอดีกับการงัดเอาน้ำพริกกะปิที่ออยแบกจากกรุงเทพฯ ออกมาประกอบดินเนอร์คืนนั้นแบบไม่ต้องเกรงกลิ่น เช้าขึ้นมาก็ต้มกาแฟกินกับขนมปัง เปิดหน้าต่างกว้างๆ นั่งมองนกฝรั่งไม่รู้ชื่อคู่ผัวเมียที่ผลัดกันจิกกินเบอร์รีของต้นแอชภูเขา ขณะเราผลัดกันกวาดน้ำพริกก้นถ้วยจากเมื่อคืนด้วยขนมปัง แล้วก็คุยกันว่าจากบ้านมามองโกเลีย นอนเกอร์ ได้เห็นชีวิตนอแมดมองโกเลียน (mongolian nomads – ชนร่อนเร่ชาวมองโกเลีย) ได้ขี่ม้าข้ามเขา และนั่งรถไฟสายทรานส์มองโกเลียที่ชาวโลกเหมารวมว่าเป็นทรานส์ไซบีเรีย ได้เห็นทะเลสาบไบคาล กินปลาโอมูลอันเลื่องชื่อ
วันที่เหยียบมูร์มานสก์วันแรกก็ได้เข้าหมู่บ้านชาวประมง กินปูดูทะเลแบเรนตส์ แถมนั่งรถกลับอยู่ดีๆ ก็เห็นแสงเหนือเสียอย่างนั้น ทั้งที่เพิ่งจะเข้าวันที่ 8 ของทริปยาว 16 วัน เราเพิ่งถึงช่วงตอนกลางของทริป แต่กลับรู้สึกว่ามันช่างครบถ้วนสมบูรณ์เต็มอิ่ม ชนิดที่ถ้าไม่ได้ดูละครหรือบัลเลต์ ไม่ได้ดูเขาสวดบูชากันจริงๆ ในวิหารคาซานที่เซนต์ปีเตอร์เบิร์ก ไม่ได้เข้ามิวเซียม ไม่ได้สบตากับเชคอฟที่มอสโกก็คงไม่เป็นไรสักเท่าไรแล้วกระมัง
งั้นเช้านี้อาบน้ำสักหน่อยแล้วกัน เดี๋ยวนั่งรถไฟเดินทางต่อ ไม่รู้จะได้อาบอีกทีเมื่อไร
ภาพ: ณัฐพล บุญเอี่ยม และ เทวานันท์ คำเอี่ยม
- แสงเหนือ เมื่อมองด้วยตาเปล่าเป็นแสงสีขาว แต่เมื่ออยู่ในรูปถ่ายเป็นสีเขียวเสมอ ช่วงเวลาที่เราอยู่ที่นี่คือกลางเดือนกันยายน อากาศไม่หนาวจนโหดร้ายเกินไปนัก คือตั้งแต่ -4 ไปจนถึง 10 องศาเซลเซียส ช่วงเวลาที่มีโอกาสเห็นแสงเหนือในบริเวณนี้คือตั้งแต่เดือนกันยายน เป็นต้นไปจนถึงเดือนมีนาคม สามารถประเมินโอกาสความน่าจะเป็นที่จะเห็นแสงเหนือได้ด้วยการดูค่า Kp Index จากเว็บ www.spaceweatherlive.com/en/auroral-activity/kp และ www.aurora-service.eu/aurora-forecast
- Kp Index เป็นตัววัดการสั่นสะเทือนของสนามแม่เหล็กโลก มีค่าตั้งแต่ 0-9 โดย 0 คือไม่มีแรงสั่นที่ทำให้มีโอกาสได้เห็นแสงเหนือ, 9 คือสั่นสะเทือนสูงสุดเท่ากับมีโอกาสได้เห็นแสงเหนือมากที่สุด
- Taiga คือป่าสนเขตหนาวหรือป่าหิมะ เป็นชีวนิเวศบนดินที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีความสำคัญต่อความสมดุลของภูมิอากาศโลก พบในเขตภูมิอากาศกึ่งอาร์กติก (continental subarctic climate) ป่าไทก้าในรัสเซียมีต้นสพรูซ (spruce) ไพน์ (pine) ฯลฯ ขึ้นอยู่กับภูมิภาค สำหรับที่มูร์มานสก์ใบไม้จะเริ่มเปลี่ยนสีราวต้นเดือนกันยายน แต่เมื่อเริ่มเข้าตุลาคมจะเริ่มมีหิมะ และอุณหภูมิจะลดลงถึง -50 องศาได้ในเดือนธันวาคมและมกราคม
- วงกลมอาร์กติก วงกลมละติจูดที่อยู่เหนือที่สุดในบรรดา 5 วงกลมละติจูดหลักบนแผนที่โลก พื้นที่ในบริเวณนี้เรียกว่าอาร์กติก ด้านเหนือสุดของวงกลมมีปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือขอบฟ้าตลอดเวลาต่อเนื่องกัน 24 ชั่วโมง อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ทำให้สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ได้แม้ในเวลากลางคืน และมีปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าตลอดเวลาต่อเนื่องกัน 24 ชั่วโมง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทำให้ไม่สามารถเห็นดวงอาทิตย์ได้แม้ในเวลากลางวัน
- หากใครมีแผนจะเดินทางด้วยรถไฟเส้นทรานส์มองโกเลียเพื่อแวะนอนเกอร์ สัมผัสชีวิตชนเผ่าพื้นเมืองมองโกเลียแท้ๆ กลางคืนมองเห็นดาวด้วยตาเปล่านับไม่ถ้วน แถมด้วยภาพทางช้างเผือกแบบงามๆ แนะนำว่าควรเพิ่มวันเพื่อมาชมแสงเหนืออีกสัก 3-4 วัน ที่สำคัญเมื่อเดินทางจากอีร์คุตสก์ (Irkutsk) เพื่อไปมูร์มานสก์ ควรเผื่อเวลาเปลี่ยนเครื่องที่มอสโกอย่างน้อย 1 ชั่วโมงครึ่ง
- Hostel ในรัสเซียที่ไม่มีวันหาเจอ Google Maps มักจะบอกซ้ำๆ ว่าคุณมาถึงแล้ว แต่จะหาทางเข้าไม่เจอ ไม่รู้อยู่ชั้นไหน ไม่มีป้าย เลขที่ ต้องอาศัยถามคนแถวนั้นเองต่อ คนรัสเซียไม่ได้เย็นชาอย่างอากาศที่นั่นแม้มีสีหน้าเรียบเฉย แต่ก็พร้อมที่จะกลายเป็นนักบุญทันทีเมื่อเราขอความช่วยเหลือ และไม่ต้องกังวลเรื่องการสื่อสารจนเกินไปนัก เพราะ 95% มีแอปฯ Google Translate ในมือถือ แต่ถ้าพอมีสกิลเรื่องภาษาใบ้หรือการแสดงก็จะช่วยได้มาก