×

ฝรั่งเศสเรียกทูตประจำสหรัฐฯ-ออสเตรเลียกลับประเทศ ตอบโต้ฉีกสัญญาเรือดำน้ำ

โดย THE STANDARD TEAM
18.09.2021
  • LOADING...
AUKUS

ฝรั่งเศสเปิดเผยว่า กำลังเรียกตัวทูตประจำสหรัฐฯ และออสเตรเลียกลับประเทศเพื่อประท้วง หลังออสเตรเลียยกเลิกข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำกับฝรั่งเศส และหันจับมือสหรัฐฯ และอังกฤษ สร้างเรือดำน้ำนิวเคลียร์ภายใต้สนธิสัญญาความมั่นคงไตรภาคี AUKUS 

 

ฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส เปิดเผยในแถลงการณ์ที่ออกเมื่อช่วงค่ำวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่นว่า ทูตฝรั่งเศสกำลังถูกเรียกตัวกลับประเทศตามคำร้องขอของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง พร้อมทั้งระบุด้วยว่า การตัดสินใจเรียกทูตกลับดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เมื่อพิจารณาจากความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

การทำสนธิสัญญาดังกล่าว “ถือเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ระหว่างพันธมิตร ซึ่งผลที่เกิดขึ้นตามมานั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิสัยทัศน์ที่เรามีต่อพันธมิตรของเรา ความเป็นหุ้นส่วนของเรา และความสำคัญของอินโดแปซิฟิกสำหรับยุโรป” รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสกล่าว

 

เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวรายหนึ่งเปิดเผยว่า ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน รู้สึกเสียใจกับการเคลื่อนไหวดังกล่าวของฝรั่งเศส ซึ่งนับเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ และจะติดต่อประสานงานกับฝรั่งเศสในอีกไม่กี่วันข้างหน้าเพื่อแก้ไขความบาดหมางระหว่างสองประเทศต่อไป

 

ด้าน มารีส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลีย กล่าวที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่า เธอเข้าใจความผิดหวังของฝรั่งเศส และหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความมั่นใจและทำให้ฝรั่งเศสเข้าใจว่าออสเตรเลียให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับฝรั่งเศส

 

การเรียกตัวทูตกลับประเทศถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างมากระหว่างชาติพันธมิตร และเชื่อกันว่าเป็นครั้งแรกที่ฝรั่งเศสเรียกทูตจากสหรัฐฯ และออสเตรเลียกลับประเทศ นอกจากนี้มีรายงานว่านักการทูตฝรั่งเศสในวอชิงตันได้ยกเลิกงานกาล่าเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และฝรั่งเศส ซึ่งจะมีขึ้นในวันศุกร์นี้แล้ว

 

ทั้งนี้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งสหราชอาณาจักร และ สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ประกาศความร่วมมือในสนธิสัญญาความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกฉบับใหม่ และจัดตั้ง ‘พันธมิตรไตรภาคีด้านความมั่นคง’ หรือที่เรียกว่า AUKUS ซึ่ง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยืนยันว่าเป็นความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในระยะยาว ในขณะที่หลายฝ่ายมองว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นความพยายามในการต่อต้านอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ที่มีหลายประเทศอ้างสิทธิ์ 

 

นอกจากจะสร้างความไม่พอใจให้กับจีนที่กล่าวหาชาติมหาอำนาจทั้งสามว่ามีทัศนคติแบบสงครามเย็นแล้ว ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังสร้างความขุ่นเคืองให้กับฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก เนื่องจากการจับมือกันของสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่ออสเตรเลียทำร่วมกับฝรั่งเศสก่อนหน้านี้ โดย ฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส เรียกการทำสนธิสัญญาไตรภาคีว่าเป็น “การแทงข้างหลัง”

 

รายงานข่าวระบุว่า ฝรั่งเศสได้รับแจ้งเรื่องการรวมกลุ่มพันธมิตรดังกล่าวเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะมีการประกาศต่อสาธารณะ โดยการประกาศทำสนธิสัญญาไตรภาคี AUKUS มาพร้อมกับการยุติข้อตกลงมูลค่า 37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (27 พันล้านปอนด์) ที่ฝรั่งเศสเซ็นสัญญากับออสเตรเลียในปี 2016 เพื่อสร้างเรือดำน้ำจำนวน 12 ลำ 

 

ขณะที่ภายใต้กรอบความร่วมมือไตรภาคีนี้ ออสเตรเลียจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการสร้างเรือดำน้ำที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งจะทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นหนึ่งในเพียง 7 ประเทศในโลกที่ได้ครอบครองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ นอกจากนี้ชาติพันธมิตรยังจะแบ่งปันขีดความสามารถทางด้านไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอื่นๆ ร่วมกันด้วย

 

ภาพ: POIS Yuri Ramsey / Australian Defence Force via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X