Global Social Venture เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสำหรับการขีดเส้นแบ่งกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise – SE) กับองค์กรที่ทำประโยชน์แก่สาธารณชนอื่นๆ องค์กรที่ต้องสร้างรายได้ มีกำไร และเติบโตไปพร้อมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ถือเป็นโมเดลธุรกิจที่ท้าทายอย่างยิ่ง
และเมื่ออยู่ในฐานะสตาร์ทอัพซึ่งเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยแล้ว น่าคิดทีเดียวว่าจะผสานความเป็น SE เข้าไปได้อย่างไร สำนักข่าว THE STANDARD นั่งคุยกับ อุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้ง Ricult สตาร์ทอัพที่เป็น AgriTech เพียงไม่กี่รายในไทยเพื่อค้นหาคำตอบผ่านบทความนี้
จากซิลิคอนแวลลีย์สู่ผืนนา ดินฟ้า และดาวเทียม
กิจการครอบครัวของเขาคือธุรกิจสวนยูคาลิปตัสที่จังหวัดฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ยังมีสวนทุเรียนที่จังหวัดปราจีนบุรี ถือเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ในพื้นที่ ตัวเขาจึงคุ้นเคยกับวิถีของเกษตรกรพอสมควร เขาเห็นว่าลูกหลานเกษตรกรรายย่อยไม่ได้โชคดีเหมือนกับตัวเขาซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของอุตสาหกรรม พวกเขาขาดโอกาสในหลายมิติ อุกฤษจึงคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะช่วยพวกเขาได้
อุกฤษเคยทำงานในซิลิคอนแวลลีย์ จุดสูงสุดที่คนวงการไอทีอยากจะไปให้ถึง จากนั้นก็ขยับไปเป็นที่ปรึกษาธุรกิจที่ Accenture อีก 4 ปี แม้เส้นทางการทำงานจะดูเท่ แต่ตัวเขากลับรู้สึกไม่มีพลังและแรงจูงใจในการทำงานสักเท่าใดนัก
“ผมได้เงินเดือนเยอะมากเมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกัน แต่ไม่มีแพสชันเลย ทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงเที่ยงคืนทุกวัน กลับบ้านไปถามตัวเองว่าเราทำไปเพื่ออะไรเนี่ย ทั้งที่ทุกสัปดาห์ผมก็ได้นั่งเฟิร์สคลาสไปพบลูกค้า นอนพักโรงแรมห้าดาว กินอะไรก็ได้อย่างที่อยากกิน แต่รู้สึกว่ามันไม่ตอบโจทย์ชีวิตเลย”
แต่ที่ลำบากกว่าเขาก็คือเกษตรกรนี่ล่ะ
อุกฤษเห็นว่าเกษตรกรเมืองไทยต้องใช้ชีวิตกับปัญหาที่สำคัญ 3 ด้านคือ 1. การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ เนื่องจากขาดหลักประกัน จึงต้องไปกู้เงินนอกระบบและติดอยู่ในวงจรหนี้ไม่รู้จบ 2. ปัญหาผลิตภาพ (Productivity) และ 3. โอกาสในการเข้าถึงตลาด
เขาพบเพื่อนชาวปากีสถานผู้ร่วมก่อตั้ง Ricult ในห้องเรียนที่ MIT และคิดที่จะทำเป็น SE ซึ่งพวกเขาคิดตรงกันคือไม่อยากทำงานเพื่อเงินเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ทำจะต้องเกิดประโยชน์แก่สังคมด้วย ปัญหาที่ SE ต้องเผชิญคือโมเดลการทำธุรกิจที่มีประสิทธิภาพเพื่อการประกอบธุรกิจในระยะยาว จำเป็นต้องใช้วิธีการแบบสตาร์ทอัพเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับความฝันที่ยิ่งใหญ่
“ในต่างประเทศเขาสอนเลยว่าคุณเป็น SE ไม่ได้แปลว่าคุณทำธุรกิจไม่เป็นนะ เป็นคนละเรื่องกับมูลนิธิ แต่ที่เมืองไทย บางคนยังแยกเรื่องนี้ไม่ออก การทำ SE คุณต้องคิด Business Model ว่าจะอยู่รอดได้อย่างไร เพราะไม่มีใครให้เงินคุณได้ตลอดเวลา ถ้าผมจะช่วยสังคม ผมต้องยืนด้วยตัวเองให้ได้ ต้องมีกำไรด้วย”
Ricult เป็นชื่อที่ตัดคำตรงกลางของ Agriculture ซึ่งแปลว่าเกษตรกรรม พวกเขาตั้งใจอยากให้แบรนด์ของตนเป็นศูนย์กลางของภาคการเกษตรซึ่งขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยไปเริ่มต้นที่ปากีสถานก่อน จากนั้นอุกฤษก็นำกลับมาใช้ที่ประเทศไทย ซึ่งเขาเชื่อว่าตนได้เปรียบเพราะเป็นคนไทย รู้จักเกษตรกรรมของไทยดี จึงเริ่มต้นได้ไม่ยากนัก
“เรามองตัวเองเป็นท้ัง SE และสตาร์ทอัพด้วย ผมเชื่อว่าการเป็นสตาร์ทอัพที่ดีต้องมองการขยายธุรกิจออกไปนอกประเทศด้วย เพราะตลาดในประเทศอย่างเดียวนั้นเล็กไป การที่ผมทำ Ricult ที่ปากีสถานและไทยได้เป็นการพิสูจน์ว่าธุรกิจนี้มันสามารถไปได้ จะขยายไปประเทศลาวหรืออินโดนีเซียก็เป็นไปได้”
Ricult สร้างเทคโนโลยีที่ช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตได้ด้วยข้อมูลผ่านระบบดาวเทียมที่ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เมื่อเกษตรกรได้ผลผลิตที่ดีมากขึ้น รายได้ก็เพิ่มตาม และเป็นหลักประกันในการยื่นกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ จากเดิมธนาคารวัดความเสี่ยงของอุตสาหกรรมการเกษตรลำบาก เพราะรายได้เกษตรกรไม่แน่นอน ประมาณการรายได้ลำบาก ซึ่งระบบของ Ricult จะช่วยบอกว่าเกษตรกรรายนี้มีผลผลิตแค่ไหน คิดเป็นรายได้ต่อเดือนเท่าไร สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปแบบนี้น่าจะขายผลผลิตได้เท่าไร ซึ่งจะช่วยยืนยันกับธนาคารได้อย่างมีน้ำหนักมากขึ้น
กล่าวคือ Ricult ไม่ได้ให้เงินแก่เกษตรกร แต่เป็นตัวกลางที่ทำให้ชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอีกหลายองค์กร
สำหรับแนวโน้มในอนาคต Ricult อาจพัฒนาส่วนของเทคโนโลยีการเงินหรือฟินเทคเพิ่มเติม เช่น สัญญาการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตรล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลและจัดทำระดับคะแนนความเสี่ยงของเกษตรกร
รายได้หลักในปีแรกของ Ricult ในขณะนี้ยังมาจากการทำโครงการทดลองร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมอาหารบางรายและ ธ.ก.ส. ซึ่งองค์กรเหล่านี้ต้องการนำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงธุรกิจของตน เนื่องจากมีนวัตกรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในภาคการเกษตรอยู่น้อย
Ricult เริ่มต้นจากการทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังจนได้รับผลตอบรับที่ดี ขณะนี้มีผู้ที่อยู่ในระบบราว 1 พันคน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรในภาคกลาง เช่น สระบุรี ลพบุรี หรือภาคอีสานอย่างนครราชสีมา เป็นต้น ในอนาคตจะขยายกลุ่มสินค้าไปสู่ไม้ผลต่อไป คาดว่าในปี 2562 จะเห็นระบบของ Ricult ไร่อ้อยและนาข้าวอย่างแน่นอน
“ปีที่แล้วเราเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในกลุ่มของเราประมาณ 50% สำหรับเกษตรกร เรื่องความเชื่อใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ลุงๆ ป้าๆ ถ้าเขาเชื่อใจเรา เขาจะรักเราไปเลย แต่ถ้าเขาผิดหวัง เขาจะไม่กล้าใช้เราอีก เพราะเกษตรกรต่างจังหวัดโดนคนหลอกมาเยอะ ปลายปีนี้เราจะออกแอปพลิเคชันที่ใครก็โหลดใช้ได้ เรามั่นใจว่าข้อมูลอากาศของเราค่อนข้างแม่นยำ ทีมพัฒนาของ Ricult มีพื้นฐานด้านวิศวกรรมทั้งหมด เราสร้างโมเดลการทำเกษตรเองหมด ซึ่งข้อมูลสภาพอากาศเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เช่น ฝนตกปริมาณเท่าไร
“การทำ SE คนจะชอบคิดว่าเราไม่ต้องรู้จักเทคโนโลยี ไม่ต้องทำอะไรล้ำๆ หรอก แค่ทำด้วยใจ ช่วยสังคมได้ก็พอแล้ว จริงๆ มันไม่ใช่ สำหรับสตาร์ทอัพ เราช่วยสังคมได้โดยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาแก้ปัญหา เราเชื่อเรื่องการสร้าง Social Impact อยากจะแก้ไขปัญหาของสังคมจริงๆ เกษตรกรไทยควรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2-3 เท่า ฟังดูอาจจะเพ้อฝันไปหน่อย จริงๆ เราขอเพิ่มแค่เท่าเดียวก่อนก็ดีใจแล้ว นี่ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่แล้ว”
โจทย์ใหม่ในโลกใบเดิมของ SE ต้องมีแพสชันในการแก้ไขปัญหา
อุกฤษเชื่อว่า SE ต้องเริ่มต้นจากการมองเห็นปัญหาของสังคม ผู้ที่ก่อตั้งต้อง ‘อิน’ กับการหาทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการเกษตร การศึกษา สาธารณสุข หรือปัญหาในมิติใดก็ตามที มีหลายองค์กรกล้าที่จะเริ่มต้น แต่มีน้อยรายที่จะอยู่รอดได้จริงๆ
“ที่ MIT จะสอนพื้นฐานการทำธุรกิจไปจนถึงโมเดลด้านการเงิน การระดมทุน ต้องรู้เรื่องการทำธุรกิจ เพราะว่าการทำ SE มันยากกว่าการทำธุรกิจทั่วไปเสียอีก ทำธุรกิจทั่วไปเราอาจมองแค่กำไร แต่ทำ SE เราต้องช่วยสังคมด้วย ต้องคิดเสมอว่าเราจะโตยังไง อยู่ให้ได้ในระยะยาวยังไงโดยไม่ต้องพึ่งพาการบริจาคหรือช่วยเหลือจากคนอื่น”
ดังนั้น Ricult คือ ‘สตาร์ทอัพที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม’ ซึ่งเป็นสถานะที่เขามององค์กรของตนเองในประเทศไทย ปัญหาของ SE ในแต่ละกลุ่มประเทศนั้นแตกต่างกัน ถ้าเป็นประเทศในเอเชียหรืออาเซียน ปัญหาหลักๆ ยังเป็นเรื่องเกษตรกรรมและการศึกษา แต่ถ้าเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปจะเป็นปัญหาเรื่องคนพิการหรือสิทธิของผู้หลากหลายทางเพศแทน
“อย่างตอนที่ผมไปแข่งที่เวทีระดับโลกของ Chivas ที่อเมริกา ถึงไม่ชนะแต่ได้เข้ารอบชิงฯ ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ผมเห็น SE จากยุโรปหลายแห่งที่น่าทึ่งมาก เขาช่วยคนที่พูดไม่ได้ด้วยการสร้างถุงมือพิเศษขึ้นมา พอทำภาษามือขึ้นมา มันก็พูดออกมาเองได้ เป็นการจับการเคลื่อนไหวของมือ นี่คือการสร้างความเท่าเทียมของจริง เทคโนโลยีเขาล้ำมากๆ แต่เมืองไทยยังไม่ค่อยมีคนเอาเทคโนโลยีระดับสูงพวกนี้มาใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคมเท่าไร”
Ricult ระดมทุนได้ถึง 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 83 ล้านบาท จากมูลนิธิบิล เกตส์ ถือเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพไทยที่ระดมทุนได้มากที่สุดในตอนนี้ และยังมีนักลงทุนสนใจเข้ามาคุยอีกหลายราย ถือว่าเติบโตน่าจับตาทีเดียวสำหรับธุรกิจที่เพิ่งสร้างมาได้ไม่ถึง 2 ปี อุกฤษเชื่อว่าสตาร์ทอัพเป็นได้ทั้งธุรกิจเพื่อสังคมและองค์กรที่มีกำไรได้ แผนจากนี้คือการขยายทีมให้ใหญ่มากขึ้นเพื่อรองรับกับธุรกิจที่จะเข้าไปในพื้นที่ของสินค้าเกษตรหลากหลายขึ้น
“ในอนาคตเราอยากจะพัฒนามากกว่าเรื่องผลผลิตของเกษตรกร เรามองไปถึงการทำประกันในกลุ่มเกษตรกร ตอนนี้เกษตรกรไทยไม่ค่อยมีโอกาสเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน จะทำยังไงให้พวกเขาออมเงินได้บ้าง เราอยู่ด้วยกันแล้วต้องมีความสุข เกษตรกรที่มาอยู่ในแพลตฟอร์มของเราควรจะมีรายได้มากขึ้น”
เป้าหมายจากนี้ต่อไปของ Ricult คือการเพิ่มจำนวนเกษตรกรบนแพลตฟอร์มให้ได้ถึง 1 หมื่นคนภายในต้นปี 2561 นี้ และคาดว่าธุรกิจจะทำรายได้แตะ 1 พันล้านบาทในอีก 3-4 ปีนับจากนี้ เขาเชื่อว่าการจะเป็น SE ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์เสมอไป มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศมากมายซึ่งสามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจได้ การออกไปเห็นโลกจึงสำคัญ โดยเฉพาะการศึกษาประเทศอื่นที่มีสภาพเศรษฐกิจและสังคมคล้ายกับประเทศไทยอย่างกลุ่มประเทศอาเซียนก็อาจจะทำให้เห็นภาพได้เร็วขึ้น
“ผมทำ Ricult ก็ไปศึกษาจากประเทศอื่นอย่างแอฟริกา อเมริกาใต้ ดูว่าทั่วโลกเขามีอะไรบ้าง แล้วก็เรียนรู้จากเขา ไม่ควรปิดกั้นกรอบความคิดแค่ที่เมืองไทยเท่านั้น คำแนะนำถึงคนรุ่นใหม่ด้วยกันก็คือเรียนรู้ให้มาก ออกไปเจอโลก และอ่านหนังสือเยอะๆ ครับ”
เห็นโลกก็เข้าใจตัวเอง และกลับมาทำบ้านให้น่าอยู่
อ่านเรื่อง 6 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับ Ricult ธุรกิจเพื่อสังคม ตัวแทนประเทศไทยไปชิงชัยในเวทีโลก ได้ที่นี่
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Ricult กวาดรางวัลในเวทีสตาร์ทอัพและกิจการเพื่อสังคมระดับโลกในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่
- กิจการเพื่อสังคมที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียในรายการ Global Social Venture
- รางวัลชนะเลิศ Fintech Disrupt Challenge จัดโดยมูลนิธิบิล เกตต์
- รางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมทางด้านธุรกิจเพื่อการเกษตร จากองค์การสหประชาชาติ (UN)
- รางวัลชนะเลิศ Dtac Accelerate Batch #5
- รางวัลชนะเลิศ Chivas Venture ปี 4
- รางวัลชนะเลิศ Social Enterprise ยอดเยี่ยมของ MIT