×

นักดาราศาสตร์พบกาแล็กซีมืดสนิท ไม่มีดาวฤกษ์ปรากฏอยู่ จากความผิดพลาดในการสำรวจ

16.01.2024
  • LOADING...
กาแล็กซีมืด

นักดาราศาสตร์ได้ตรวจพบกาแล็กซีประหลาดที่ไม่มีแสงดาวฤกษ์ปรากฏอยู่ แต่อุดมไปด้วยก๊าซไฮโดรเจนปริมาณมาก จากการที่กล้องโทรทรรศน์วิทยุซึ่งมีเป้าหมายสำรวจวัตถุอื่นบนท้องฟ้าหันไปผิดตำแหน่งโดยไม่ได้ตั้งใจ

 

กาแล็กซี J0613+52 อยู่ห่างจากโลกไปราว 270 ล้านปีแสง ในทิศของกลุ่มดาวสารถี ซึ่งข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Green Bank พบว่ามีก๊าซไฮโดรเจนมวลมากกว่าพันล้านเท่าของดวงอาทิตย์ หมุนรอบตัวเองอย่างเป็นโครงสร้างคล้ายกับดาราจักรแบบกังหันในเอกภพ

 

สิ่งที่แตกต่างไปคือกาแล็กซีแห่งนี้ไม่มีดาวฤกษ์อยู่เลย…

 

การค้นพบดังกล่าวถูกเปิดเผยครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มกราคม ในงานประชุมประจำปีของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกา (American Astronomy Society) ครั้งที่ 243 โดย ดร.คาเรน โอนีล นักดาราศาสตร์หัวหน้าทีมวิจัย ระบุในงานแถลงข่าวว่า “สิ่งที่เราพบในครั้งนี้อาจเป็นกาแล็กซีจากยุคแรกเริ่มของเอกภพที่ยังเจือจางเกินไปจนไม่สามารถก่อกำเนิดดาวฤกษ์ขึ้นมาได้”

 

นักดาราศาสตร์กำลังศึกษากาแล็กซีจำพวก LSB หรือ Low Surface Brightness ซึ่งมีความสว่างปรากฏที่จางมาก เนื่องจากมีดาวฤกษ์อยู่ค่อนข้างน้อย และประกอบด้วยกลุ่มก๊าซและสสารมืดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีการศึกษาดาราจักรจำพวกนี้อยู่ 350 แห่งในเอกภพ ผ่านการใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุจากทั่วโลก

 

ในระหว่างการตรวจเทียบข้อมูลระหว่างกล้อง Green Bank และกล้อง Nançay พวกเขาได้พบว่า “กล้อง Green Bank หันไปยังตำแหน่งที่ผิดพลาด จนทำให้เราเจอกับกาแล็กซีที่มีแต่ก๊าซเป็นส่วนประกอบ ไม่มีดาวฤกษ์ที่มองเห็นได้เลย” ดร.โอนีล ระบุในการแถลงข่าว “คือมันอาจมีดาวฤกษ์อยู่ เพียงแค่เรายังมองไม่เห็นมัน”

 

นอกจากจะเป็นหนึ่งในกาแล็กซีที่มืดมิดที่สุดแห่งหนึ่ง มันยังอยู่อย่างโดดเดี่ยวในเอกภพ ไม่มีดาราจักรเพื่อนบ้านใกล้เคียง ซึ่งแตกต่างจากดาราจักรส่วนใหญ่ที่มักกระจุกตัวอยู่ใกล้กันเป็นกลุ่ม และมีน้อยมากๆ ที่ปรากฏให้เห็นอย่างโดดเดี่ยวเช่น J0613+52 

 

เป็นไปได้ว่ากาแล็กซีดังกล่าวอาจไม่ถูกอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงจากดาราจักรอื่นมารบกวนและกระทำ เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มก๊าซกำเนิดขึ้นเป็นดาวฤกษ์ หรือพัฒนาไปเป็นดาราจักรในแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน โดย ดร.โอนีล เสริมว่า “นี่อาจเป็นการค้นพบกาแล็กซีใกล้เคียงที่ประกอบด้วยฝุ่นก๊าซเก่าแก่เลย”

 

สำหรับภาพประกอบที่เห็นการแต่งสีลงไปได้อาศัยข้อมูลปรากฏการณ์ดอปเพลอร์จากกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Green Bank เพื่อแทนตำแหน่งการหมุนของก๊าซไฮโดรเจนในกาแล็กซีดังกล่าว โดยสีแดงคือการเคลื่อนที่ออกห่างจากผู้สังเกต และสีน้ำเงินเป็นการเคลื่อนที่เข้าหาทิศผู้สังเกต

 

และการค้นพบ J0613+52 นำไปสู่คำถามมากมายที่รอการหาคำตอบเพิ่มเติมจากนักดาราศาสตร์ ที่การได้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นต่างๆ อาจทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมและวิวัฒนาการของดาราจักรได้มากขึ้นในอนาคตอันใกล้

 

ภาพ: NSF / GBO / P.Vosteen 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X