นักบินอวกาศ บนสถานีอวกาศนานาชาติใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ พิมพ์ชิ้นส่วนโลหะบนอวกาศได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
เครื่องพิมพ์โลหะ 3 มิติของบริษัท Airbus และหน่วยงานพันธมิตรที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ถูกนำไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อเดือนมกราคม 2024 เพื่อสาธิตความสามารถขึ้นรูปโลหะในสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำเป็นครั้งแรก
กระบวนการขึ้นรูปเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2024 หลังผ่านขั้นตอนการทดสอบระบบและความปลอดภัย โดยการพิมพ์โลหะ 3 มิติในอวกาศต้องอาศัยการหลอมละลายสเตนเลสสตีลด้วยเลเซอร์พลังงานสูง และมีมากกว่า 200 เลเยอร์ที่ต้องพิมพ์ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ท้าทายกว่าบนโลก
Anthony Lecossais หัวหน้าวิศวกรการพิมพ์โลหะ 3 มิติของ Airbus ระบุว่า “การขึ้นรูปแต่ละชั้นไม่ใช่งานที่ง่ายเลย โดยเฉพาะบนสถานีอวกาศนานาชาติที่มีระดับความปลอดภัยสูงมาก เราต้องมีระบบควบคุมการทำงานที่เสถียรและสามารถตรวจดูได้จากบนโลก”
การพิมพ์โลหะ 3 มิติเกิดขึ้นในกล่องปิดที่มีการปรับความดันแยกส่วนกับสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องเพลิงไหม้ รวมถึงการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่อาจทำให้โลหะเกิดขึ้นสนิมได้
ในวันที่ 21 สิงหาคม หลังจากกระบวนาการพิมพ์เสร็จสิ้น Sunita Williams และ Jeanette Epps นักบินอวกาศ นำโลหะจากการพิมพ์ 3 มิติชิ้นแรก ขนาด 9×5 เซนติเมตรออกจากเครื่องพิมพ์ในโมดูลโคลัมบัสของสถานีอวกาศนานาชาติ ก่อนจะมีการเปรียบเทียบกับชิ้นส่วนที่พิมพ์บนโลกเป็นลำดับถัดไป
การขึ้นรูปโลหะ 3 มิติบนสถานีอวกาศ อาจเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของกระบวนการผลิตชิ้นงานในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ หรือนำไปสู่การก่อสร้างและประกอบสถานีอวกาศในอนาคตได้อีกเช่นกัน
ภาพ: ESA / NASA
อ้างอิง: