×

วัคซีน AstraZeneca เลื่อนฉีดเข็ม 2 ห่างกัน 16 สัปดาห์ได้จริงไหม

26.05.2021
  • LOADING...
AstraZeneca vaccine

HIGHLIGHTS

  • คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกำหนดให้ฉีดวัคซีน AstraZeneca ‘2 เข็มห่างกัน 10-12 สัปดาห์’ เทียบกับวัคซีนที่ต้องฉีดทั้งหมด 2 เข็มอื่น เช่น วัคซีน Sinovac ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ วัคซีน Pfizer-BioNTech ห่างกัน 3 สัปดาห์ และวัคซีน Moderna ห่างกัน 4 สัปดาห์
  • วันเดียวกันกับที่นายกรัฐมนตรีได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 (24 พฤษภาคม) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข​ กล่าวว่า สำหรับวัคซีน AstraZeneca ได้มีการประกาศไป ‘ก่อนหน้านี้’ แล้วว่าสามารถรับเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 16 สัปดาห์ จากเดิม 10 สัปดาห์ 
  • สำหรับการขยายระยะเวลาเพิ่มเป็น 16 สัปดาห์ ยังไม่มีหลักฐานรองรับมากนัก ท่ามกลางข้อสงสัยว่า ‘ทำไมต้องเลื่อน?’

ปกติก็นานอยู่แล้ว – เพราะเข็มที่ 2 ของวัคซีน AstraZeneca เว้นระยะห่างจากเข็มแรกนานกว่าของวัคซีนยี่ห้ออื่น โดยเอกสารกำกับยาของวัคซีนนี้ระบุขนาดการใช้ยาว่า ‘การฉีดกระตุ้นเข็มท่ี 2 ควรให้หลังจากการฉีดเข็มแรก 4 ถึง 12 สัปดาห์’ คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคจึงกำหนดให้ฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 10-12 สัปดาห์

 

เทียบกับวัคซีนที่ต้องฉีดทั้งหมด 2 เข็มอื่น เช่น วัคซีน Sinovac ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ วัคซีน Pfizer-BioNTech ห่างกัน 3 สัปดาห์ และวัคซีน Moderna ห่างกัน 4 สัปดาห์

 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้รับการฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มแรกเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล และเพิ่งมาฉีดเข็มที่ 2 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 สถาบันบำราศนราดูร ห่างกันประมาณ 10 สัปดาห์ตรงตามที่กำหนด แต่ประเด็นนี้จะไม่ได้เป็นที่น่าสนใจเลย หากไม่มีการเลื่อนฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในโรงพยาบาลอื่นๆ เช่น

 

  • โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กรุงเทพฯ ประกาศให้ผู้รับบริการที่มีนัดรับวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน 2564 (รับการฉีดเข็มที่ 1 ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม ถึง 5 เมษายน 2564) “เลื่อนวันนัดรับวัคซีนออกไปก่อน เมื่อได้รับวัคซีนมาทางโรงพยาบาลจะแจ้งให้ทราบต่อไป”
  • โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ประกาศว่า “ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีวัคซีน Sinovac ให้บริการประชาชนเท่านั้น ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปสามารถรับวัคซีน Sinovac ได้ แต่หากประสงค์รับวัคซีน AstraZeneca แจ้งความประสงค์เลื่อนวันนัดได้”

 

ทำให้เกิดความสงสัยว่าทำไมถึงต้องเลื่อน? ซึ่งน่าจะเป็นเพราะวัคซีน AstraZeneca ที่นำเข้ามา 117,000 โดสแรกเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 (ล็อตเดียวกับนายกรัฐมนตรี) ได้รับการจัดสรรไปหมดแล้ว หรือแม้กระทั่งมีข่าวลือว่าวัคซีน AstraZeneca จะนำเข้ามาไม่ทันกำหนดฉีดปูพรม 7 มิถุนายนนี้ ซึ่งรอบนี้จะต้องมีทั้งหมด 6 ล้านโดส

 

ทำไมถึงเลื่อน: คำตอบจากกระทรวงสาธารณสุข

วันเดียวกันกับที่นายกรัฐมนตรีได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 (24 พฤษภาคม) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข​ กล่าวว่า สำหรับวัคซีน AstraZeneca ได้มีการประกาศไป ‘ก่อนหน้านี้’ แล้วว่าสามารถรับเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 16 สัปดาห์ จากเดิม 10 สัปดาห์ ซึ่งเลื่อนทั้งหมดให้เป็นล็อตเดียวกัน หมายถึงตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่จะมีการฉีดวัคซีน AstraZeneca

 

เข็มที่ 1 เป็นเดือนมิถุนายน หลังจากนั้นเข็มที่ 2 ก็จะเป็นเดือนตุลาคม (ห่างกัน 4 เดือน) เนื่องจากมีข้อมูลวิชาการรองรับว่ามีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันดีกว่า

 

ตรงนี้ไม่ว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมีหลักฐานวิชาการรองรับหรือไม่ แต่ สธ. ไม่เคยสื่อสารกับประชาชนมา ‘ก่อนหน้านี้’ เลย เพราะทุกคนต่างประหลาดใจที่ได้ยินคำว่า ‘16 สัปดาห์’ เป็นครั้งแรก ซึ่งถ้าย้อนกลับไปอ่านประกาศของโรงพยาบาลข้างต้นก็ไม่ได้มีคำอธิบายแบบเดียวกับของ สธ. ทำให้เกิดความสับสน และยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับข่าวลือ

 

วัคซีน AstraZeneca ต้องฉีดห่างกันเท่าไร

เมื่อก่อนไม่ได้นานขนาดนี้ – ระยะห่างระหว่างเข็มที่ ‘นานขึ้น’ ของวัคซีน AstraZeneca มีที่มาจากการที่บริษัทไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ทันกำหนด ซึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศที่ทำการศึกษาหลักอย่างสหราชอาณาจักรและบราซิล เพราะเดิมในการศึกษาเฟส 2 ซึ่งเป็นการศึกษาการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน กำหนดให้ฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์เหมือนวัคซีนอื่น

 

แต่ในการศึกษาเฟส 3 ซึ่งเป็นการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน บริษัทไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ทันจึงทำให้อาสาสมัครบางส่วนได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 นานออกไป จนเมื่อถึงขั้นตอนการวิเคราะห์ผลการศึกษา ผู้วิจัยได้แยกวิเคราะห์ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน ‘ช้ากว่ากำหนด’ นี้ กลับพบว่ามีประสิทธิภาพดีกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนตามกำหนด

 

ผลการศึกษาเฟส 3 เบื้องต้นตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 วิเคราะห์เปรียบเทียบผู้ที่ได้รับวัคซีนห่างกัน ‘น้อยกว่า’ และ ‘มากกว่าหรือเท่ากับ’ 6 สัปดาห์ พบว่า

 

  • กลุ่มแรกมีประสิทธิภาพ 54.4% (ช่วงความเชื่อมั่น 95% -2.5 ถึง 78.8 แปลผลว่าไม่มีประสิทธิภาพ) 
  • ในขณะที่กลุ่มหลังมีประสิทธิภาพ 65.4% (41.1 ถึง 79.6 แปลผลว่ามีประสิทธิภาพอยู่ในช่วงนี้)

 

ต่อมามีการตีพิมพ์ผลการศึกษาอีกชิ้นในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 รอบนี้มีระยะเวลานานพอที่จะศึกษาระยะห่างระหว่างเข็มได้นานถึง 12 สัปดาห์ (คณะผู้วิจัยระบุในเอกสารเลยว่ามี “การจัดหาวัคซีนมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนอย่างน้อยในขั้นต้น ผู้กำหนดนโยบายจะต้องตัดสินใจว่าจะกระจายวัคซีนที่มีอยู่อย่างไรให้ดีที่สุด”) พบว่า

 

ยิ่งเพิ่มระยะห่างระหว่างเข็ม ‘นานขึ้น’ ยิ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ ‘เพิ่มขึ้น’ ดังนี้

 

  • น้อยกว่า 6 สัปดาห์: 55.1%
  • 6-8 สัปดาห์: 59.9%
  • 9-11 สัปดาห์: 63.7%
  • มากกว่า 12 สัปดาห์: 81.3% 

 

จึงเป็นที่มาของวันนัดฉีดเข็มที่ 2 ของนายกรัฐมนตรีซึ่งห่างจากเข็มแรก 10 สัปดาห์ แต่อย่างที่คณะผู้วิจัยบอกว่าวัคซีนมีจำกัด สหราชอาณาจักรจึงตัดสินใจฉีดวัคซีนเข็มแรกแบบปูพรมไปก่อน ซึ่งในงานวิจัยนี้ก็ได้วิเคราะห์ประสิทธิภาพหลังการฉีดวัคซีนเข็มแรก 21 วันจนถึง 90 วันว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้มากถึง 76.0% 

 

สำหรับการขยายระยะเวลาเพิ่มเป็น 16 สัปดาห์ ยังไม่มีหลักฐานรองรับมากนัก โดยในงานวิจัยข้างต้นไม่ได้ระบุว่าอาสาสมัครในกลุ่ม ‘มากกว่า 12 สัปดาห์’ ได้รับการติดตามไปนานถึง 16 สัปดาห์คิดเป็นร้อยละเท่าใด ถึงแม้ว่าโดยหลักการแล้วน่าจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เหมือนกัน แต่ระหว่างที่รอฉีดเข็มที่ 2 ระดับภูมิคุ้มกันและประสิทธิภาพอาจลดลงได้

 

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 กลุ่มที่ปรึกษาด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติ (NTAGI) อินเดีย เพิ่งปรับคำแนะนำการฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 จาก 4-8 เป็น 12-16 สัปดาห์หลังจากเข็มแรก ในขณะที่วันถัดมาสหราชอาณาจักรปรับลดระยะห่างลงจาก 12 เป็น 8 สัปดาห์ในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง 9 กลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 

 

เพราะความกังวลต่อสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยจากการศึกษาของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของอังกฤษพบว่าวัคซีนเข็มแรก (วิเคราะห์รวมทุกยี่ห้อ) มีประสิทธิผล 33.5% ต่อสายพันธุ์อินเดีย (B1.617.2) ในขณะที่มีประสิทธิผล 51.1% ต่อสายพันธุ์อังกฤษ แต่ถ้าฉีดเข็มที่ 2 แล้วจะมีประสิทธิผลมากกว่า 80% ต่อทั้ง 2 สายพันธุ์

 

ตารางการฉีดในประเทศไทยเป็นอย่างไร

ตอนนี้นานขึ้นอีก – ก่อนหน้านี้ สธ. ไม่เคยประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 เป็น 16 สัปดาห์มาก่อน ถึงแม้จะเข้าใจได้ว่าขณะนี้วัคซีนมีปริมาณจำกัด อย่างน้อยควรมีประกาศจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพราะจะได้มั่นใจว่าการตัดสินใจนี้อยู่บนหลักฐานทางวิชาการ ไม่ใช่การตัดสินใจเชิงนโยบายเพียงอย่างเดียว

 

และถ้าจะเลื่อนกำหนดการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ออกไป นายกรัฐมนตรีก็ควรจะได้รับการเลื่อนเป็น 16 สัปดาห์ด้วย ตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า “ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงขึ้นได้เร็ว” แต่ผู้บริหารกลับดำเนินการขัดกับนโยบายของตนเอง ยกเว้นจะมองในแง่ดีว่าการฉีดวัคซีนของนายกฯ ในครั้งนี้เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนในเร็วๆ นี้

 

ขณะนี้วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยมีทั้งหมด 3.6 ล้านโดส ดังรูปแบ่งเป็นวัคซีน Sinovac 3.5 ล้านโดส และ AstraZeneca 1.17 ล้านโดส และมีวัคซีน Sinovac อีก 2 ล้านโดสที่อยู่ระหว่างรับรองรุ่นการผลิต (เดิมไทยมีแผนการจัดหาวัคซีน Sinovac มาฉีดระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนที่รอวัคซีน AstraZeneca เพียง 2 ล้านโดสเท่านั้น)

 

AstraZeneca vaccine

 

ถ้าบริษัท AstraZeneca ไม่สามารถส่งวัคซีนได้ตามกำหนด ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้วอาจต้องรอฉีดนานกว่า 12 สัปดาห์ ซึ่งก่อนจะมาเป็นตัวเลขนี้ ในต่างประเทศก็ถูกเลื่อนมาจาก 4 สัปดาห์ (แต่กลับมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น) ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะผู้สูงอายุก็ลุ้นกันต่อไปว่าเดือนหน้าจะได้ฉีดวัคซีน AstraZeneca หรือจะเป็น Sinovac ไปพลางก่อน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X