งานวิจัยของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต พบว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีน AstraZeneca แบบฉีดเข้าผิวหนัง สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มได้ใกล้เคียงกับแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่ใช้ปริมาณวัคซีนเพียง 1 ใน 5 ของการฉีดแบบปกติ ส่วนผลข้างเคียงตรงบริเวณที่ฉีดวัคซีน เช่น ปวด บวม แดง ร้อน พบมากกว่า ในขณะที่อาการทางระบบทั่วไปพบน้อยกว่า เช่น ไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เผยแพร่ผลการวิจัยฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีน AstraZeneca แบบฉีดเข้าผิวหนังหลังฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม โดยเป็นการศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 242 คน แบ่งกลุ่มแบบสุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม ให้กลุ่มแรกได้รับวัคซีนแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IM) 120 คน ส่วนกลุ่มที่ 2 ได้รับการฉีดแบบเข้าผิวหนัง (ID) 122 คน
การฉีดแบบเข้ากล้ามเนื้อเป็นการฉีดแบบปกติใช้วัคซีน 0.5 มิลลิลิตร ส่วนการฉีดแบบเข้าผิวหนังใช้วัคซีน 0.1 มิลลิลิตร หรือ 20% ของการฉีดแบบปกติ ติดตามผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน พบว่า หลังได้รับวัคซีน 2 สัปดาห์ กลุ่มที่ได้รับการฉีดแบบเข้าผิวหนังมีระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ย 17,662.3 AU/mL สูงกว่าอีกกลุ่มเล็กน้อย ซึ่งมีระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ย 17,214.1 AU/mL
ถือว่าทั้ง 2 กลุ่มมีระดับภูมิคุ้มกันเกินเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด (840 AU/mL) ส่วนผลข้างเคียงในการฉีดวัคซีน พบว่า กลุ่มที่ได้รับการฉีดแบบเข้าผิวหนังมีอาการปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีดวัคซีนมากกว่า (52% เทียบกับ 16.9%) แต่ไม่เป็นที่น่าวิตกกังวล ในขณะที่อาการทางระบบทั่วไปพบน้อยกว่า เช่น ไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ (44% เทียบกับ 87%) อ่อนเพลีย ไม่มีแรง (12% เทียบกับ 28.6%)
นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า “ทางโรงพยาบาล นำโดย พญ.ศุภลักษณ์ ละอองเพชร และ พญ.วิทิตา แจ้งเอี่ยม ได้ริเริ่มงานวิจัยนี้เพื่อเป็นทางเลือกในการบริหารวัคซีนของจังหวัดภูเก็ต และน่าจะเป็นทางเลือกของประเทศไทยในการใช้วัคซีนเข็มที่ 3 ที่ใช้ปริมาณน้อยลงถึง 5 เท่า” ทั้งนี้งานวิจัยนี้ยังอยู่ระหว่างการติดตามระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีด 12 สัปดาห์
นอกจากนี้เพจศูนย์ข้อมูลภูเก็ตยังได้เผยแพร่ผลการวิจัยเบื้องต้นในประเด็นเดียวกันของศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างวิธีการฉีดวัคซีน รวมถึงวัดการตอบสนองของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T (T cell response) พบว่าไม่แตกต่างกัน แต่ยังอยู่ระหว่างการทดสอบภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัส (PRNT)
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
อ้างอิง:
- เพจศูนย์ข้อมูลภูเก็ต https://www.facebook.com/109168820738303/posts/386902089631640/