×

วัคซีนโควิด-19 AstraZeneca ล็อตแรกมาถึงไทยแล้ว 117,600 โดส เร็วกว่ากำหนดเดิม

โดย THE STANDARD TEAM
25.02.2021
  • LOADING...
วัคซีนโควิด-19 AstraZeneca ล็อตแรกมาถึงไทยแล้ว 117,600 โดส เร็วกว่ากำหนดเดิม

วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ประเทศไทยจัดหาจาก AstraZeneca ล็อตแรก มาถึงไทยแล้วจำนวน 117,600 โดส ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทั้งนี้การส่งมอบวัคซีนเกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนดการเดิมที่วางไว้ โดยกระทรวงสาธารณสุขและ AstraZeneca มีจุดมุ่งหมายร่วมกันเพื่อเร่งบรรเทาสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ และเพื่อให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเร็ว

 

“กำหนดการเดิมในการส่งมอบวัคซีนของ AstraZeneca ให้กับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะเกิดขึ้นประมาณเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งประเทศไทยจะได้รับวัคซีนที่ผลิตจากโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์จำนวน 61 ล้านโดส โดยการทยอยส่งมอบเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุข สามารถดำเนินการบริหารจัดการวัคซีนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการดำเนินการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของสยามไบโอไซเอนซ์ยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้

 

“อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้วัคซีนเพื่อเสริมกำลังให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย และใช้เพื่อป้องกันการเกิดอาการป่วยที่รุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคสูง

 

“ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือจาก AstraZeneca ทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เร็วกว่ากำหนดเดิม โดยวัคซีนที่ส่งมอบดังกล่าวมาจากสายการผลิตในระดับโลกของ AstraZeneca และเป็นไปตามพันธกิจในการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างเท่าเทียมของบริษัท” นพ.นคร กล่าว

 

นพ.นคร กล่าวอีกว่า วัคซีนของ AstraZeneca ล็อตที่มาถึงนี้ จะต้องผ่านการตรวจรับรองคุณภาพและผ่านการรับรองรุ่นการผลิต (Lot Release) จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก่อน จึงจะสามารถขนส่งและกระจายวัคซีนไปให้บริการกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายระยะแรกตามแผนที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้

 

ทั้งนี้วัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca ได้รับการอนุมัติทะเบียนแบบมีเงื่อนไขเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินเพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติทะเบียนแบบมีเงื่อนไขในประเทศไทย และยังได้รับอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก 

 

ต่อมาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ วัคซีนของ AstraZeneca ได้รับการรับรอง Emergency Use Listing (EUL) จากองค์การอนามัยโลก ซึ่ง EUL เป็นขั้นตอนในการประเมินวัคซีนในภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขโดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้สามารถใช้ผลิตภัณฑ์วัคซีนได้ในวงกว้าง เนื่องจากระบบควบคุมกำกับของบางประเทศอาจไม่มีความพร้อมและไม่มีมาตรฐานเพียงพอ จึงให้ใช้การอ้างอิงจาก EUL ได้ โดยการประเมินจะทำโดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ ภายหลังจากมีการใช้วัคซีนในวงกว้าง ยังไม่พบการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากการใช้วัคซีน AstraZeneca แต่อย่างใด

 

“อย่างไรก็ตาม แม้ข้อมูลการศึกษาในปัจจุบันจะแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถลดอาการป่วยที่รุนแรงของผู้ติดเชื้อ แต่ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่บ่งชี้ว่าวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ ดังนั้นแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว มาตรการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ยังคงเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปด้วย” นพ.นคร กล่าวย้ำ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising