หลังจาก AstraZeneca ออกมาแถลงผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ระยะที่ 3 ของทางบริษัทในสหรัฐอเมริกา ชิลี และเปรู เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ (NIAID) ออกแถลงการณ์ตามมา โดยอ้างความกังวลของคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและความปลอดภัย (DSMB) ซึ่งเป็นคณะกรรมการอิสระที่ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ว่าข้อมูลผลการทดสอบวัคซีนที่ AstraZeneca แถลงอาจไม่เป็นปัจจุบัน และเร่งให้ AstraZeneca เปิดเผยข้อมูลล่าสุดที่ถูกต้องนั้น
ในที่สุด AstraZeneca ก็มีแถลงการณ์ออกมาวานนี้ (25 มีนาคม) ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อเปิดเผยผลการทดสอบวัคซีนครั้งใหม่จากขั้นตอนการวิเคราะห์ Primary Analysis แล้ว โดยประสิทธิภาพของวัคซีนที่ได้จากขั้นตอนนี้อยู่ที่ 76% ซึ่งต่ำกว่าประสิทธิภาพ 79% ที่ AstraZeneca ใช้แถลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
โดย AstraZeneca ชี้แจงว่า ข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนขั้นตอน Primary Analysis ที่ใช้แถลงล่าสุด เกิดจากการวิเคราะห์เมื่อพบผู้ติดโควิด-19 แบบแสดงอาการจำนวน 190 รายในหมู่ผู้เข้ารับการทดสอบทั้งหมด แต่ในขั้นตอนการวิเคราะห์แบบ Interim Analysis ที่เกิดขึ้นไปก่อนหน้าขั้นตอน Primary Analysis และถูกนำผลมาใช้แถลงเมื่อวันจันทร์นั้น มีจำนวนผู้ติดโควิด-19 ที่แสดงอาการน้อยกว่าขั้นตอน Primary Analysis อยู่ 49 ราย
ทั้งนี้ AstraZeneca ไม่ได้เปิดเผยว่าการติดโควิด-19 ในจำนวนดังกล่าวเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนและกลุ่มผู้ได้ยาหลอกกลุ่มละกี่ราย
ในการแถลงครั้งใหม่ AstraZeneca ระบุประสิทธิภาพของวัคซีนในหมู่ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปที่ 85% และยังยืนยันว่าสามารถป้องกันโรคที่มีอาการรุนแรงหรือการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 100% เช่นเดียวกับการแถลงเมื่อวันจันทร์
นอกจากนี้ยังมีผู้เข้ารับการทดสอบอีก 14 รายที่มีโอกาสหรือมีความเป็นไปได้ที่จะติดโควิด-19 ดังนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้อีก ซึ่งก็หมายถึงข้อมูลประสิทธิภาพโดยรวมของวัคซีนยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้อีกเช่นกัน
AstraZeneca ระบุว่า จะเสนอผลการวิเคราะห์ในขั้นตอน Primary Analysis นี้สำหรับตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีการพิจารณาตรวจสอบ (Peer-Reviewed Publication) ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า เมเน แพนกาลอส รองประธานกรรมการบริหารของ AstraZeneca ยืนยันว่า ผลการวิเคราะห์จากขั้นตอน Primary Analysis สอดคล้องกับขั้นตอน Interim Analysis และยืนยันว่า วัคซีน Oxford-AstraZeneca นั้นมีประสิทธิภาพสูงในผู้ใหญ่ และจะยื่นขออนุมัติใช้งานฉุกเฉินในสหรัฐฯ รวมถึงเตรียมการแจกจ่ายวัคซีนต่อไป
ขณะที่ พอลลา แคนนอน ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาโมเลกุลและวิทยาภูมิคุ้มกัน จากโรงเรียนแพทย์ Keck School of Medicine ของมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ระบุว่า ความแตกต่างของประสิทธิภาพดังกล่าวเป็นความแตกต่างที่ไม่มากนัก แต่สำคัญสำหรับความโปร่งใสและแม่นยำ โดยเฉพาะกับการสร้างความเชื่อมั่นแก่สาธารณะ ขณะที่ พอล กริฟฟิน ผู้อำนวยการด้านโรคติดเชื้อที่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Mater Health Services และรองศาสตราจารย์ด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ระบุว่า ข้อมูลประสิทธิภาพในกลุ่มผู้สูงอายุจะแสดงถึงประโยชน์ของวัคซีนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดจากการติดเชื้อ นอกจากนี้การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้ไปยังชุมชนยังถือเป็นเรื่องท้าทาย เมื่อการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนชนิดอื่นๆ นั้นเรียบง่ายกว่ามาก
“การมี (ข้อมูล) ที่ซับซ้อนกว่า พร้อมกับแง่มุมของข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งเผยแพร่ในช่วงเวลาที่ต่างกัน อาจทำให้ผู้คนสับสน มันทำให้บางคนวิตก” กริฟฟินระบุ
ข้อมูลจากการทดสอบวัคซีนในสหรัฐฯ ถูกมองว่ามีความสำคัญ เนื่องจากการทดสอบก่อนหน้านี้ที่ดำเนินการในสหราชอาณาจักรและบราซิลทำให้เกิดความสับสนจากการให้ค่าประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน นอกจากนี้การทดสอบเหล่านี้ยังมีจำนวนผู้สูงอายุไม่เพียงพอที่จะหาค่าประสิทธิภาพสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่สำคัญด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
ภาพ: Jaap Arriens / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-03-25/astra-reports-lower-efficacy-for-covid-vaccine-after-criticism
- https://www.astrazeneca.com/content/astraz/media-centre/press-releases/2021/azd1222-us-phase-iii-primary-analysis-confirms-safety-and-efficacy.html