×

Astier de Villatte ตำนานเครื่องเซรามิก จากจิตวิญญาณนักโบราณคดีผู้รักการปั้น

19.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 MINS READ
  • Ivan Pericoli และ Benoît Astier de Villatte คือสองหนุ่มผู้ปลุกปั้นงานเซรามิกในศตวรรษที่ 19 ให้โลดแล่นอีกครั้ง และได้ให้นิยามแบรนด์ Astier de Villatte ไว้ว่า “เราคือจิตวิญญาณของนักโบราณคดี แต่ขณะเดียวกันก็มีใจรักในงานปั้นที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเทคนิคที่สร้างสรรค์”
  • ในปัจจุบัน Astier de Villatte เป็นผู้ผลิตเซรามิกเพียงแห่งเดียวในปารีส และถือว่าครองตลาดเครื่องปั้นดินเผาที่ดีที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
  • จากร้านขายยาในศตวรรษที่ 18 ที่ทรุดโทรมจนยากจะเยียวยา แปรเปลี่ยนเป็นร้านเครื่องปั้นดินเผาที่โดดเด่น ทำให้ถนน Rue Saint-Honoré กลับมาคึกคัก และเป็นสถานที่ Wish List ที่นักท่องเที่ยวต้องไปเยือนสักครั้งเมื่อไปปารีส

 

Astier de Villatte: The Beauty of Imperfection

ตามประเพณีของศาสนาคริสต์ในศตวรรษที่ 18 ปง โอ ชู (Pont-aux-Choux) นักปั้นเซรามิกผู้โด่งดังในสมัยนั้น ได้ผลิตผลงานเซรามิกหลายพันชิ้น ณ ใจกลางย่าน Latin Quarter ในกรุงปารีส จนได้รับความนิยม โดยผลงานที่สร้างชื่อ อย่างกาน้ำและโถอาหารสีขาวลวดลายบาโรกที่มากด้วยเทคนิคการปั้นที่แสนวิจิตร ได้ต่อยอดจนมีชื่อเสียงเป็นวงกว้างในฝรั่งเศสจนถึงศตวรรษที่ 19 และนั่นคือจุดเริ่มต้นของงานเซรามิกเทคนิคดั้งเดิมแบบฝรั่งเศส ที่เป็นแรงบันดาลใจในการกำเนิดแบรนด์ Astier de Villatte ปี 1996 ในเวลาต่อมา

 

อิวอง เปริโกลิ (Ivan Pericoli) และ เบอนัวต์ อัสตี เดอ วิแลต (Benoît Astier de Villatte) คือสองหนุ่มผู้ปลุกปั้นงานเซรามิกในศตวรรษที่ 19 ให้โลดแล่นอีกครั้ง และได้ให้นิยามแบรนด์ Astier de Villatte ไว้ว่า “เราคือจิตวิญญาณของนักโบราณคดี แต่ขณะเดียวกันก็มีใจรักในงานปั้นที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเทคนิคที่สร้างสรรค์”

 

ผลงานของ ปง โอ ชู ในศตวรรษที่ 18 ที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับแบรนด์ Astier de Villatte

 

แบรนด์ Astier de Villatte ก่อตั้งโดย อิวอง เปริโกลิ และ เบอนัวต์ อัสตี เดอ วิแลต ร่วมกับกลุ่มพี่น้องจากครอบครัวอัสตี เดอ วิแลต (Astier de Villatte) และเพื่อนๆ จากสถาบัน École des Beaux-Arts ในกรุงปารีส จากการลองผิดลองถูก และการออกแบบเล็กๆ น้อยๆ เพื่อองค์กรการกุศล และทำขึ้นเพื่อขายในตลาดนัด Vanvas เป็นครั้งคราว จนเริ่มเป็นความหลงใหล และมองเห็นลู่ทางธุรกิจ จนเริ่มต่อยอดสร้างแบรนด์ให้เติบโตในปัจจุบัน

 

เทคนิคการปั้นของอิวองและเบอนัวต์มาจากเทคนิควิชาแกะสลักและการปั้นจากสถาบัน École des Beaux-Arts ที่พวกเขาศึกษา โดยได้เริ่มปั้นของประดับบ้านชิ้นเล็กๆ อย่างที่รองแก้ว แจกันขนาดเล็ก ไว้เพื่อประดับโต๊ะและตกแต่งบ้านพ่อแม่ของเบอนัวต์ “ซึ่งนั่นคือจุดกำเนิดของคอลเล็กชันแรกที่แท้จริง” เบอนัวต์เปรย

 

สินค้าชิ้นเล็กๆ ของ Astier de Villatte ที่นักสะสมมองว่ามันคือศิลปะอีกหนึ่งชิ้นในบ้าน

 

ภายในร้านของ Astier de Villatte

 

หลังจากการปรับเปลี่ยนเทคนิคการปั้นโบราณให้สอดคล้องกับเทคนิคสร้างสรรค์การปั้นในปัจจุบัน ผลงานของทั้งคู่ได้ออกสู่สาธารณชนในงาน Maison et Objet เดือนกันยายน ปี 1996 และถือว่าสร้างความตื่นตาให้ทั้งคู่ไม่น้อย เพราะหลังจากนั้นเพียงไม่นาน ยอดการผลิตถูกสั่งจองจากทั่วโลกก็มาอย่างมหาศาล

 

ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน สินค้าของ Astier de Villatte ทยอยออกจำหน่ายตามร้านค้าหลายแห่งในกรุงปารีสอย่างรวดเร็ว “ร้านของเราสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างเสน่ห์ให้กับโลกแห่งความทรงจำอันเก่าแก่ เป็นที่รู้กันดีว่าถ้วยชามเซรามิกสีขาวคือเอกลักษณ์ที่สง่างามของ Astier de Villatte หลายต่อหลายชิ้นทำด้วยมือโดยช่างฝีมือชาวทิเบตที่มีความประณีตและเข้าใจงานหัตถศิลป์แบบฝรั่งเศส ซึ่งล้วนทำขึ้นตามมาตรฐานและเอกลักษณ์ของแบรนด์ที่ถือว่าเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า” อิวองกล่าวอย่างอารมณ์ดี

 

ช่างฝีมือชาวทิเบตที่มีความประณีตและเข้าใจงานหัตถศิลป์แบบฝรั่งเศส

 

ทั้งสองได้ซื้อกิจการโรงพิมพ์ของบริษัท SAIG แถบชานเมืองปารีส ในช่วงเกิดวิกฤตทางด้านการพิมพ์ที่ระบบการพิมพ์แบบ Linotype หมดความนิยมลง และขอให้โรงพิมพ์จัดทำหนังสือเล่มสุดท้ายนามว่า Ma Vie à Paris หนึ่งในหนังสือคู่มือของการใช้ชีวิตในปารีสที่ใช้ระบบพิมพ์นี้ ก่อนที่จะถูกโยกย้าย และกลายเป็นโรงเครื่องปั้นดินเผาและออฟฟิศในปัจจุบัน

 

การไม่ใช้วิธีป่าวประกาศหรือโฆษณาชวนเชื่อ เป็นสิ่งที่อิวองและเบอนัวต์ยึดถือมาโดยตลอด ทั้งสองใช้ผลงานแสดงอัตลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างน่าทึ่ง จากความสำเร็จในเบื้องต้น ส่งผลให้ในปี 2000 ทั้งสองได้เปิดร้านสาขาแรกบนถนน Rue Saint-Honoré ใกล้ Palais Royal และพิพิธภัณฑ์ Louvre ซึ่งถนนแห่งนี้ล้วนเป็นแรงบันดาลใจ จนทำให้เกิดผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามมาจนถึงปัจจุบัน

 

ร้านสาขาแรกบนถนน Rue Saint Honoré

 

เทคนิคของการขึ้นรูปเซรามิกด้วยมือ ก่อให้เกิดเป็นผลงานรูปทรงคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ชื่นชอบผลงานของ Astier de Villatte ที่มีมากกว่าเครื่องปั้นดินเผา

 

“เราผสมดินเหนียวสีดำ และใช้เทคนิคพิเศษที่ทำให้พื้นผิวของดินด้านนอกเกิดเป็นสีขาวขึ้นเมื่อโดนความร้อน โดยใช้อุณหภูมิและระยะเวลาในการเผาที่พอดิบพอดี จึงทำให้เครื่องปั้นดินเผาของเราเปลี่ยนเป็นสีขาวนวล ถึงแม้สายตาที่คุณมองอาจจะเห็นถึงความเปราะบาง แต่แท้จริงแล้วผลิตภัณฑ์ของเรามีความคงทนและมีระยะเวลาในการใช้งานที่ยาวนาน ที่สำคัญมันเบาและเหมาะสมที่จะวางเป็นชิ้นเอกบนโต๊ะอาหาร”

 

แบรนด์ Astier de Villatte เริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปารีสและยุโรป สินค้าบางประเภทที่ผลิตจำนวนน้อยชิ้นได้ถูกคัดเลือกจากร้านมัลติแบรนด์แห่งยุคอย่าง Colette ที่นำมาสเตอร์พีซของ 32 แบรนด์ ที่สื่อฝรั่งเศสให้การยอมรับมาเปิดเป็นป๊อปอัปช็อปในงาน ‘Les vacances de Lulu’ ซึ่งได้รับความสนใจและถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก จนปัจจุบันร้านได้ขยับขยายจนได้เริ่มออกสู่ตลาดโลก เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นประเทศอีกฝั่งของโลกที่มีวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตคล้ายคนฝรั่งเศสได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

วัฒนธรรมที่สอดคล้องของฝรั่งเศสและญี่ปุ่น จนเกิดคอลเล็กชัน Setsuko ได้ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่ดังไกลระดับโลกอย่าง เซทสึโกะ โคลสสอว์สกี เดอ โรลา มาร่วมงานด้วย

 

จนในที่สุด แบรนด์ Astier de Villatte ก็ได้เริ่มผลิตชิ้นงานลิมิเต็ดเอดิชันขึ้นมาในอีกหลายคอลเล็กชัน หนึ่งในคอลเล็กชันที่ถือว่าสร้างปรากฏการณ์ให้กับแบรนด์เป็นอย่างมากคือ คอลเล็กชัน Drawings ที่ได้นักร้องสาวชาวฝรั่งเศสชื่อดังแห่งยุคอย่าง ลู ดัวญง (Lou Doillon) ลูกสาวของนักแสดงสาวและแฟชั่นไอคอนในตำนานอย่าง เจน เบอร์กิน (Jane Birkin) มาร่วมออกแบบ โดยได้แรงบันดาลใจจากการสเกตช์ภาพด้วยดินสอ ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความสามารถของนักร้องสาว

 

โดยดัวญงเปิดเผยอย่างเป็นกันเองในสื่อฉบับหนึ่งว่า “ความเป็นฝรั่งเศสมันแทรกซึมอยู่ทุกอณูของชีวิตคนที่นี่ รวมถึงตัวฉันด้วย ฉันเป็นลูกค้าตัวยงของ Astier de Villatte แก้วกาแฟทำมือเนื้อบางสีขาวของ Astier de Villatte สร้างไลฟ์สไตล์ยามเช้าให้ฉันอย่างสมบูรณ์ อาจจะรู้สึกแปลกใจระคนตื่นเต้นเล็กน้อยที่อิวองและเบอนัวต์ติดต่อฉัน เพราะว่าเขาทั้งสองเห็นงานอดิเรกอย่างการวาดรูปของฉันที่โพสต์ในอินสตาแกรมแล้วสนใจ พร้อมทิ้งท้ายว่า มันสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน และแทรกซึมอยู่ในดีเอ็นเอของ Astier de Villatte ได้ การทำงานของเราจึงเกิดขึ้น และรู้สึกดีใจมากที่มันได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มากกว่าเปิดตัวภาพยนตร์ของฉันเสียอีก”

 

อิวอง เปริโกลิ, เบอนัวต์ อัสตี เดอ วิแลต และนักร้องสาวลู ดัวญง กับภาพร่างสเกตช์คอลเล็กชัน Drawings

 

คอลเล็กชัน Drawings

 

ปัจจุบัน Astier de Villatte เป็นผู้ผลิตเซรามิกเพียงแห่งเดียวในปารีส และถือว่าครองตลาดเครื่องปั้นดินเผาที่ดีที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย ในหลายปีที่ผ่านมา อิวองและเบอนัวต์ได้จับมือกับพันธมิตรและดีไซเนอร์ชื่อดัง อาทิ John Derian, Commune de Paris, Nathalie Lété, Setsuko Klossowski de Rola, Dana Wyse, Patch NYC, Maison Kitsuné หรือแม้แต่บริษัทเครื่องหอมอย่าง Françoise Caron ที่ออกแบบน้ำหอมกลิ่น Eaux de Colognes ซึ่งถือว่าเป็นน้ำหอมกลิ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานนี้ด้วย

 

หนึ่งในศิลปินนักออกแบบระดับโลกอย่าง จอห์น เดอเรียน (John Derian) เผยว่า “มันเป็นความรักของการทำงานร่วมกันระหว่างผม และ Astier de Villatte ซึ่งผมมั่นใจว่า เรามีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกัน และสามารถเติมเต็มชิ้นงานให้สมบูรณ์แบบจนเป็นชิ้นมาสเตอร์พีซได้ มันน่าสนใจทีเดียวนะ ผมว่า”

 

ผลงานการร่วมมือกันระหว่าง John Derian x Astier de Villatte

 

ผลงานการร่วมมือกันระหว่าง Maison Kitsuné x Astier de Villatte

 

อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่กำลังมาแรงของแบรนด์ อย่างน้ำหอมที่ทยอยผลิตกลิ่นใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง

 

จากร้านขายยาในศตวรรษที่ 18 ที่ทรุดโทรมจนยากจะเยียวยา แปรเปลี่ยนเป็นร้านเครื่องปั้นดินเผาที่โดดเด่น ทำให้ถนน Rue Saint-Honoré กลับมาคึกคัก และเป็นสถานที่ Wish List ที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยือนสักครั้งเมื่อมาปารีส ภายในร้านถูกประดับประดาไปด้วยจานชามหลากหลายขนาด บ้างก็แจกันทรงแปลกตาที่โดดเด่นอยู่บนโต๊ะกลางที่วางได้อย่างสวยงาม ทั้งนี้ ยังไม่รวมสินค้าอื่นๆ ที่ Astier de Villatte สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ อาทิ น้ำยาล้างจานสูตรโบราณ ดินสอ ปากการูปทรงคลาสสิก หรือแม้แต่สมุด ยางลบ ก็วางกระจัดกระจายให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ นอกจากจานชามอีกด้วย

 

ภายในร้านที่สาขา Rue de Tournon

 

ถึงแม้แบรนด์จะผ่านมาเกือบ 12 ปีแล้ว แต่คุณภาพก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทั้งสองตระหนักถึง “จะผ่านมากี่ปี เราก็ยังคงเน้นย้ำในสิ่งที่เราดำรงไว้ สินค้าทุกชิ้นของเราขึ้นมือด้วยดินเหนียวผสมดินร่วนที่ถูกสกัดจากเหมืองหินในลุ่มน้ำชานเมืองปารีส ผ่านการขึ้นมือที่สตูดิโอของเราในเขตปกครองที่ 13 ภายใต้การดูแลของช่างที่มีอยู่ถึง 25 แห่ง บางดีไซน์อาจจำเป็นต้องขึ้นรูปด้วยปูนปลาสเตอร์ หรือแม้แต่การเผาด้วยไฟที่อุณหภูมิที่ร้อนคงที่ เก็บแม้กระทั่งรายละเอียดปลีกย่อยที่เราไม่เคยมองข้าม และต้องใช้เวลารวมๆ แล้ว 15 วัน เพื่อจะได้จานที่มีคุณภาพดีเพียงหนึ่งใบ นอกจากนี้เรารักในความประณีตศิลป์ที่เป็นรากฐานสำคัญของแบรนด์ ซึ่งนั่นรวมไปถึงเราใส่ใจแม้กระทั่งแพ็กเกจหรือกระดาษห่อหุ้ม ที่มั่นใจได้ว่าลูกค้าต้องได้สินค้ามีคุณภาพกลับบ้านไปอย่างแน่นอน” ทั้งสองกล่าวส่งท้าย

 

หากคุณมองหาเครื่องปั้นดินเผาที่ดีที่สุด คุณสามารถแวะเยี่ยมชมร้าน Astier de Villatte ได้ที่สาขาแรก ณ 173 Rue Saint-Honoré, 75001 ปารีส ประเทศฝรั่งเศส หรือเว็บไซต์ www.astierdevillatte.com

 

ภาพ: nickeykehoe.com/ www.wsj.com / artilleriet.se / johnderian.com / biutifulshop.com / corso.co.nz / cartonmagazine.com

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X