เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งพูดคุยกับธนาคาร ฯลฯ และเปิดตัว ‘โครงการพักทรัพย์ พักหนี้’ หรือ Asset Warehousing ซึ่งเป็นโครงการให้ลูกหนี้ที่มีสินทรัพย์และต้องการพักหนี้ เช่น โรงแรม ที่ดิน ฯลฯ สามารถตีโอนทรัพย์มาพักไว้กับเจ้าหนี้เพื่อลดภาระการจ่ายหนี้ได้
แน่นอนว่าสินทรัพย์ที่ตีโอนให้เจ้าหนี้ไป จะทำให้เจ้าหนี้กลายเป็น ‘เจ้าของทรัพย์’ และทำให้ลูกหนี้มีมูลหนี้รวมลดลง ซึ่ง ธปท. ก็ตั้งเงื่อนไขให้ลูกหนี้มีสิทธิ์แรกในการซื้อทรัพย์คืนภายใน 5 ปี ‘ในราคาเดิมที่ตีโอนทรัพย์ไป’ ที่สำคัญลูกหนี้ยังมีสิทธิ์เช่าทรัพย์ที่ตีโอนไปด้วย โดยค่าเช่านั้นจะนำไปลด ‘ราคาตอนลูกหนี้ซื้อทรัพย์คืน’ ด้วย
แต่โครงการนี้ยังมีจุดท้าทายสำคัญ คือ ความกังวลของลูกหนี้ในการตีโอนทรัพย์ไปยังเจ้าหนี้ ซึ่งการตีโอนทรัพย์ให้เจ้าหนี้จะเป็นหนึ่งในวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่แล้ว แต่ผู้ประกอบอาจยังไม่คุ้นเคย และไม่มั่นใจที่จะเข้าโครงการ
TMB Analytics เผยกลุ่มเสี่ยงควรพักหนี้ 9.1 หมื่นล้านบาท เร่งมาตรการกลางสร้างความเชื่อมั่น
นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ประเด็นสำคัญที่จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ คือการมีมาตรฐานกลาง หรือเงื่อนไขข้อตกลงระหว่างลูกหนี้-เจ้าหนี้ที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกหนี้ โดยปัจจุบันกรอบกว้างของทางการมีออกมาแล้ว และเชื่อว่าอยู่ระหว่างการทำรายละเอียดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics)
“คนจะเข้าใช้โครงการเยอะไหมก็ขึ้นอยู่กับผู้กำกับและธนาคาร ซึ่งควรจะมี Standardized มีสัญญาที่ชัดเจนในวงกว้าง ไม่ใช่แค่การทำรายละเอียด แตกต่างกัน หากมีสัญญาชัดเจนให้ผู้ประกอบการเห็นว่าสิ่งที่ได้ตามมาตรฐาน เชื่อว่าผู้ประกอบการจะมีความเชื่อมั่นและเข้าโครงการกันมากขึ้น”
ขณะเดียวกันจากข้อมูลพบว่า ตัวธุรกิจ SMEs ที่มีภาระหนี้สูงมีโอกาสเข้ามาตรการนี้มีอยู่ 18,650 บัญชี คิดเป็น 14% ของผู้กู้ในธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมด โดยคาดว่าจะช่วยบรรเทาภาระหนี้กลุ่มนี้ราว 9.1 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะดูขนาดธุรกิจพบว่า
- ธุรกิจ SMEs นิติบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่ที่ 18,567 ราย คิดเป็นสัดส่วน 45% ของจำนวน SMEs ทั้งหมด โดยประเภทธุรกิจที่มีสัดส่วนกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ โรงแรม (55%) ธุรกิจนำเที่ยว (สัดส่วน 44%) และกลุ่มความบันเทิง / กีฬา / สปา, หอพักอพาร์ตเมนต์, ร้านอาหาร (42%)
- ธุรกิจขนาดใหญ่ มีกลุ่มเสี่ยงที่ 83 ราย คิดเป็นสัดส่วน 40% ของธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหมด โดยประเภทธุรกิจที่มีสัดส่วนธุรกิจกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจนำเที่ยว (สัดส่วน 68%) ความบันเทิง / กีฬา / สปา (46%) และโรงแรมและร้านอาหาร (35%)
นอกจากนี้ ทางการน่าจะอยู่ระหว่างการเตรียมมาตรการเสริม เพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจที่ไม่มีหลักทรัพย์บนสินเชื่อกับธนาคารมาก่อน รวมถึง ายละเอียดความช่วยเหลือที่จะเกิดขึ้นหลังจากระยะเวลาโครงการ 5 ปีนี้
พักทรัพย์-พักหนี้ 5 ปี เพียงพอต่อท่องเที่ยวไทยที่ฟื้นตัวช้าไหม
เมื่อการท่องเที่ยวไทยยังติดปัญหาใหญ่อย่างการ ‘เปิดประเทศ’ ที่ล่าช้า ก็ทำให้ความหวังของภาคธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวยังเลือนลาง แม้หน่วยงานรัฐ และ ธปท. มองว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามา 3 ล้านคน TMB Analytics คาดไว้ที่ 1.3 ล้านคน
ดังนั้น การเปิดประเทศ และการกระจายวัคซีนจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญของไทย เบื้องต้น ธปท. คาดว่าการท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้น โดยปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาไทยราว 21 ล้านคน แต่ทั้งหมดก็ยังห่างจากตัวเลขนักท่องเที่ยวสูงสุดของไทยที่ราว 40 ล้านคนเมื่อปี 2562 จึงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ กว่าเศรษฐกิจไทยและการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวชัดเจน
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า โครงการ ‘พักทรัพย์-พักหนี้’ นี้มีระยะเวลาให้ผู้ประกอบการลดภาระหนี้ราว 5 ปี ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจ ‘พักเพื่อให้หายใจ’ ได้ช่วงหนึ่ง เพื่อที่จะมีเวลาคิดว่าจะปรับรูปแบบธุรกิจอย่างไรต่อ
“ด้วยมาตรการรัฐที่ออกมาทำให้ภาคธุรกิจจะมีเวลาหายใจได้มากขึ้น มีเวลาประคองตัวมากขึ้น ปีนี้และปีหน้าท่านต้องผ่านไปให้ได้ก่อน เราจึงมีมาตรการให้ท่านตัวเบา ไม่ต้องมากังวลกับภาระทางการเงิน แต่ให้ท่านใช้ทรัพยากรของท่านมุ่งกับการประคับประคอง และหารูปแบบธุรกิจที่ตอบโจทย์ให้กลับมาแข็งแรงได้อย่างยั่งยืน”
นริศ สถาผลเดชา เล่าว่า ช่วงเวลาโครงการที่นาน 5 ปีน่าจะเพียงพอต่อการฟื้นตัว เห็นได้จากกำลังซื้อในประเทศยังมีหลบอยู่ในบางจุด เช่น เงินฝากที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า
ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวของไทยล้วนได้ประโยชน์การเติบโตที่ก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมาและคาดว่าจะมีกำไรสะสมอยู่ และหากเข้าโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ร่วมกับการใช้ Softloan หรือสินเชื่อฟื้นฟูที่ออกมาคู่กัน คาดว่าธุรกิจจะทยอยปรับตัวไปพร้อมๆ กับการทยอยฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยได้
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย
ธุรกิจเกี่ยวเนื่องท่องเที่ยวเสี่ยงแค่ไหน-ต้องปรับตัวอย่างไร
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จาก 2 มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ พักทรัพย์ พักหนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการลดภาระหนี้แต่ยังจะทำธุรกิจต่อ และสินเชื่อฟื้นฟูให้ผู้ที่ยังไปต่อได้แต่ต้องการสภาพคล่อง คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการที่เจอผลกระทบจากโควิด-19 และช่วยภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นได้
ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวถือว่าเจอผลกระทบหนัก จึงต้องมีมาตรการดูแล ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวทั้งรูปแบบการทำธุรกิจและการบริหารต้นทุน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงพฤติกรรมของลูกค้าในปัจจุบัน ซึ่งเป็นโจทย์ธุรกิจในอนาคต
นริศ สถาผลเดชา กล่าวว่า ในสถานการณ์นี้ต้องมีโรงแรมที่อาจต้องปิดตัวลง เพราะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว แต่อาจจะต้องดูว่าสามารถปรับรูปแบบธุรกิจได้อย่างไร เช่น การปรับเป็น Nursing Home เพื่อตอบสนองกับเทรนด์ผู้สูงวัยที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และต่างชาติสนใจเข้ามาอยู่ในไทยเป็นจำนวนมาก ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม Asset Warehousing ตอบโจทย์การปรับโครงสร้างธุรกิจท่องเที่ยวของไทย ทั้งจากปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างซัพพลายห้องพักที่ล้นตลาด และการท่องเที่ยวที่จะไม่เหมือนเดิม คือ กลุ่มแบ็กแพ็ก กลุ่มทัวร์ หรือนักท่องเที่ยวเชิงปริมาณที่เป็นกลุ่มหลักของไทยในอดีตยังไม่ฟื้นกลับมาเร็ววัน
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
แบงก์ไหนมีลูกหนี้ธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวมากที่สุด
ข้อมูลจาก บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่า ธนาคารพาณิชย์ที่มีสัดส่วนลูกหนี้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวมากที่สุด ได้แก่
- ธนาคารไทยพาณิชย์ มีสินเชื่อราว 79,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.5% ของพอร์ตสินเชื่อรวม
- ธนาคารกสิกรไทย มีสินเชื่อกลุ่มนี้ราว 29,000 ล้านบาท คิดเป็น 1.3% ของพอร์ตสินเชื่อ
- ธนาคารกรุงเทพ มีสินเชื่อกลุ่มนี้ราว 24,000 ล้านบาท คิดเป็น 1% ของพอร์ตสินเชื่อ
- ธนาคารทหารไทยธนชาต มีสินเชื่อกลุ่มนี้ราว 11,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.8% ของพอร์ตสินเชื่อ
- ธนาคารกรุงไทย คาดว่ามีสินเชื่อกลุ่มนี้ราว 11,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.5% ของพอร์ตสินเชื่อ
- ขณะที่ธนาคารทิสโก้และธนาคารเกียรตินาคินภัทรให้ข้อมูลว่า สัดส่วนสินเชื่อเกี่ยวกับธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวน้อยมาก
*เบื้องต้นประมาณ 154,000 ล้านบาท
TMB Analytics ระบุว่า ในภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยพบว่า คุณภาพสินเชื่อธุรกิจ ณ สิ้นปี 2563 มูลค่าสินเชื่อความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสาคัญ (Stage 2) ของธุรกิจโรงแรมมีมูลค่ารวม 54,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับยอดสินเชื่อในธุรกิจท่องเที่ยว หอพัก ความบันเทิง กีฬา และร้านอาหาร จะทำให้มูลค่าสินเชื่อ Stage 2 มียอดรวมกันอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท
ในขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ของธุรกิจโรงแรมอยู่ที่ 22,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับธุรกิจอื่นๆ มียอด NPL รวมกันอยู่ที่ 38,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs
สุดท้ายแล้วมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ของ ธปท. แม้จะมีกรอบรายละเอียดมาตรการออกมาแล้ว แต่ยังต้องติดตามเงื่อนไขเพิ่มเติมในแต่ละสัญญาที่ลูกหนี้-เจ้าหนี้จะต้องตกลงกัน ซึ่งผลลัพธ์นี้จะกลายเป็นจุดที่สร้างความมั่นใจให้ภาคธุรกิจว่าจะเข้าสู่มาตรการนี้หรือไม่
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล