×

‘โกดังพักหนี้’ ทางออกภาคธุรกิจเล็ก-ใหญ่ หรือแค่ชะลอการเป็นหนี้เสียออกไปอีก?

21.03.2021
  • LOADING...
โกดังพักหนี้

HIGHLIGHTS

  • เมื่อแบงก์ชาติ-คลัง หารือการออกโกดังพักหนี้เพื่อช่วยธุรกิจโรงแรมมาหลายเดือน และคาดว่าจะนำเข้าที่ประชุม ครม. ในวันอังคารที่จะถึงนี้
  • โกดังพักหนี้ คือโครงการที่เปิดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันในสินเชื่อ สามารถตีโอนทรัพย์ไปพักไว้ที่เจ้าหนี้ (สถาบันการเงิน) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายหนี้ โดยจะกำหนดระยะเวลาและราคาในการซื้อคืนเมื่อสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น
  • ขณะที่สมาคมธนาคารไทยแย้มชื่อโครงการโกดังแก้หนี้ครั้งนี้ว่าชื่อ ‘โครงการพักทรัพย์ พักหนี้’ ฝั่ง BAM เตรียมตั้งบริษัท JV เพื่อทำโกดังแก้หนี้ที่ไม่ต้องตีโอนทรัพย์จากลูกหนี้มาที่เจ้าหนี้เพื่อคลายกังวลผู้ประกอบการ

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งระลอกแรกและระลอกใหม่ยังซ้ำเติมภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่รายได้ติดลบเกือบ 100% เพราะยังเปิดประเทศไม่ได้ ไหนจะมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 รอบสอง ยังทำให้คนไทยออกไปเที่ยวไทยได้ยากขึ้น 

 

เร็วๆ นี้มีข่าวว่ากระทรวงการคลังอาจจะนำโครงการโกดังพักหนี้ หรือ Asset Warehousing เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 23 มีนาคมนี้ แต่แนวทางของโครงการนี้จะเป็นอย่างไร? 

 

คลัง-ธปท. เร่งออกโกดังพักหนี้ ‘Asset Warehousing’ ช่วยธุรกิจไทย

ฟากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำกับดูแลสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ นอกจากออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา เช่น การพักหนี้ พักดอกเบี้ย ฯลฯ เพื่อลดภาระของลูกหนี้ในช่วงวิกฤต 

 

ล่าสุด ธปท. อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลัง และธนาคารพาณิชย์เพื่อออก ‘โครงการโกดังพักหนี้’ เพื่อช่วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการท่องเที่ยวโดยเฉพาะโรงแรม โดยปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อธุรกิจโรงแรมที่อยู่กับธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท 

 

ทั้งนี้โกดังพักหนี้สามารถทำได้หลายรูปแบบ แต่หัวใจหลักคือการเปิดทางให้ลูกหนี้สามารถตัดทรัพย์สินมาพักไว้ที่เจ้าหนี้ชั่วคราว เพื่อลดภาระการชำระสินเชื่อทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และเมื่อตัดขายทรัพย์ฝากไว้ที่เจ้าหนี้จึงไม่มีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งหากลูกหนี้ต้องการทำธุรกิจต่อระหว่างที่ตัดขายทรัพย์ไปแล้ว ก็สามารถจ่ายค่าเช่าให้เจ้าหนี้เพื่อเช่าทรัพย์นั้นได้ เหมือนเป็นการแช่แข็งทรัพย์และหนี้ที่ผูกอยู่กับทรัพย์นั้นไว้

 

ขณะเดียวกัน เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ลูกหนี้สามารถ ‘ซื้อทรัพย์คืน’ จากเจ้าหนี้ได้ โดยโครงการนี้ลูกหนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม คือ ค่าดูแลสินทรัพย์ให้เจ้าหนี้ เพื่อใช้ในการดูแลทรัพย์สินไม่ให้เสื่อมสภาพ

 

โกดังพักหนี้

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เมื่อลูกหนี้ตัดขายทรัพย์ให้เจ้าหนี้ ซึ่งเป็นสินทรัพย์มูลค่าสูง ย่อมต้องได้รับการดูแลเพื่อไม่ให้เสื่อมสภาพ เมื่อสถานการณ์กลับมาดีขึ้น ลูกหนี้สามารถนำกลับมาใช้ได้เลย ซึ่งการพักหนี้ด้วยวิธีนี้จะทำให้ไม่เกิด NPL และการขายทรัพย์สินทอดตลาด ซึ่งอาจทำให้ราคาทรัพย์สินลดลง และส่งผลต่อราคาสินทรัพย์ของประเทศ

 

ทั้งนี้ ธปท. มองว่า ต้องวางกลไกสมัครใจที่จะเอาทรัพย์สินมาฝากที่เจ้าหน้าที่ชั่วคราวในราคาที่เหมาะสม โดยโกดังแก้หนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ ธปท. เร่งให้ธนาคารพาณิชย์ปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ เพื่อส่งผลดีต่อการบริหารหนี้ในระดับประชาชนและภาคธุรกิจในระยะยาว

 

โกดังพักหนี้

 

คลังเผย Asset warehousing เห็นใน 2 เดือน เตรียมดึงเงินซอฟต์โลนมาช่วยลูกหนี้

 

ขณะที่ฝั่ง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เล่าถึงความคืบหน้าว่าจะเห็นความชัดเจนของโครงการ Asset Warehousing ในช่วง 2 เดือนนี้ โดยจะใช้วงเงินส่วนส่วนหนึ่งจาก พ.ร.ก. ซอฟต์โลน ที่มีวงเงินเหลืออยู่ราว 3 แสนล้านบาท 

 

ทั้งนี้ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้รัฐจะไม่มีเงินสนับสนุนเพิ่มเติมให้เจ้าหนี้ที่รับซื้อทรัพย์ชั่วคราว แต่อาจจะมีการสนับสนุนด้านภาษีแทน เช่น การยกเว้นภาษีการตีโอนทรัพย์ เป็นต้น

 

สมาคมธนาคารไทย-ภาคเอกชนพร้อมดันโกดังพันหนี้ 

 

ด้านสมาคมธนาคารไทยก็แง้มชื่อโครงการโกดังพักหนี้ตรงกับที่แบงก์ชาติใช้อ้างอิงถึง คือ ‘โครงการพักทรัพย์ พักหนี้’ โดยภาคธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้รับโอนทรัพย์จากผู้ประกอบการ และจะมีสัญญาซื้อคืนโดนกำหนดระยะเวลาอย่างชัดเจน เพื่อลดภาระทางการเงินชั่วคราวโดยไม่สูญเสียกิจการ (ทรัพย์) ไป 

 

นอกจากนี้ฝั่งเอกชนอย่าง บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ให้ดําเนินธุรกิจซื้อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และสินทรัพย์รอการขายจากสถาบันการเงินเพื่อมาบริหารจัดการ เตรียมแผนจับคู่กับธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งเพื่อทำโกดังพักหนี้เช่นกัน

 

โกดังพักหนี้

 

ทั้งนี้ บัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAM เล่าถึงรูปแบบโกดังพักหนี้ที่จะเป็นทางเลือกให้ลูกหนี้คือ จะเป็นการตั้งบริษัทแบบ JV (Joint Venture) ที่จะแบ่งเป็นการถือหุ้น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ BAM, ธนาคารที่จะถือหุ้นราว 40% และบุคคลที่ 3 เพื่อเป็นคนกลาง 

 

โดย JV นี้จะเป็นผู้บริหารหนี้ของผู้ประกอบการ (ลูกหนี้) โดยจะมีการตกลงกันว่า JV นี้จะซื้อหนี้ต่อจากธนาคารเจ้าหนี้ แล้วนำเข้ามาบริหารในกอง โดยจะจ้าง BAM บริหารดูแลหนี้ต่อ ซึ่งเมื่อมีกำไรจะแบ่งในรูปแบบปันผล ข้อดีคือลูกหนี้จะไม่ต้องโอนทรัพย์ให้เจ้าหนี้ แต่เป็นการโอนหนี้มาบริหารในบริษัท JV ระหว่าง BAM และแบงก์เจ้าหนี้เอง

 

“ผู้ประกอบการบางรายมีความกังวล เช่น เรื่องการนำทรัพย์ไปฝากไว้กับเจ้าหนี้ แต่ต้องจ่ายค่าเช่า (ในการใช้ทรัพย์เพื่อทำธุรกิจ) ฯลฯ และยังกังวลเรื่องความไม่แน่นอนที่ว่า เขาอาจจะไม่สามารถซื้อคืน ได้หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็อาจจะซื้อคืนไม่ไหว”

 

สุดท้ายนี้ต้องยอมรับว่าโกดังพักหนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินอยู่แล้ว ซึ่งข้อดีของโกดังพักหนี้คือจะลดภาระทางการเงินของลูกหนี้ 

 

แต่ยังมีข้อกังวลว่าลูกหนี้จะสนใจทางออกนี้หรือไม่ เพราะโจทย์ใหญ่ของลูกหนี้คือต้องคำนวณทั้งค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น และความเสี่ยงที่ทรัพย์นั้นจะหลุดลอยจากธุรกิจไป

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาว่าโครงการที่ออกมาจะสามารถเข้าถึงผู้ประกอบการไทยได้มากน้อยเพียงใด และการแช่แข็งทรัพย์สินและมูลหนี้ครั้งนี้จะเพิ่มความเสี่ยง หรือเป็นการชะลอการเกิดหนี้เสียหรือไม่

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising