×

Asset Tokenization ทลายขีดจำกัดโลกการลงทุนแห่งอนาคต

21.05.2021
  • LOADING...
Asset Tokenization ทลายขีดจำกัดโลกการลงทุนแห่งอนาคต

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • Asset Tokenization เป็นการนำสินทรัพย์ต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ เครื่องประดับ งานศิลปะ มาแปลงเป็นโทเคนดิจิทัลบน Blockchain โดยผูกกับมูลค่าของสินทรัพย์เพื่อใช้เป็นตัวแทนความเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นๆ 
  • การทำ Tokenization จะช่วยให้ผู้ออกโทเคนสามารถนำสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงมาแตกเป็นหน่วยลงทุนกระจายไปตามสัดส่วนของผู้ลงทุน ช่วยให้การซื้อขายทำได้ง่ายขึ้น
  • สถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มมองหาโอกาสจากการทำ Asset Tokenization แต่ด้วยกฎเกณฑ์และข้อจำกัดทางกฎหมาย การแสวงหาโอกาสธุรกิจจากโลกสินทรัพย์ดิจิทัลจำเป็นต้องวางกลยุทธ์อย่างรัดกุมและประเมินความพร้อมรอบด้าน

เทคโนโลยี Blockchain เมื่อย้อนกลับไปสัก 3-5 ปีที่แล้วยังเป็นเพียง Buzzword ที่คนส่วนใหญ่อาจนึกไม่ออกว่าคืออะไร มีประโยชน์อะไร และจะมาทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไร มาวันนี้เราเริ่มเห็นความสำคัญของ Blockchain ในการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยเห็นได้ชัดในการลงทุนของสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ที่สามารถทำได้ง่ายดายและตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน

 

แน่นอนว่าหากพูดถึง Digital Assets ในวันนี้ คงต้องพูดถึงสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่หลายคนเริ่มจะคุ้นหูกันดี เช่น Bitcoin, Ethereum หรือ Dogecoin ที่พุ่งทะยานแตะดวงจันทร์ไปเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งได้สร้างเศรษฐีน้อยใหญ่เป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา รวมถึง Decentralized Finance (DeFi) และ Yield Farming ที่เป็นการลงทุนรูปแบบใหม่ที่เริ่มฮอตฮิตมากขึ้นทั่วโลก สำหรับรายย่อยที่หาแนวทางในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง

 

แต่โลกของ Blockchain และสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีโอกาสในอนาคตอีกมากที่หลายๆ คนอาจยังนึกไม่ถึง นั่นคือ Asset Tokenization ซึ่งหากกล่าวอย่างรวบรัดเป็นการแปลงสินทรัพย์ต่างๆ ให้มาอยู่ในรูปแบบโทเคนดิจิทัล (Digital Token) ทำให้การซื้อขายสินทรัพย์เหล่านี้ดำเนินการได้สะดวกรวดเร็ว และเพิ่มโอกาสการเข้าไปลงทุนยิ่งขึ้นในอนาคต  

 

Asset Tokenization: ลบเส้นแบ่งการลงทุนในโลกจริงและโลกดิจิทัล

โดยหลักการแล้ว Digital Token สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของผู้ถือครองโทเคน ซึ่งให้ผลตอบแทนในลักษณะคล้ายคลึงกับการถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แตกต่างจากสกุลเงินดิจิทัลที่หน้าที่หลักเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน สำหรับ Digital Token สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ 

 

  1. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ผู้ถือจะได้รับสิทธิการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ คล้ายคลึงกับการถือหน่วยลงทุน เช่น สิทธิจากส่วนแบ่งรายได้ หรือผลกำไรจากการลงทุนตามสัดส่วนโทเคนที่เข้าไปลงทุน  

 

  1. โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) โดยผู้ถือโทเคนประเภทนี้จะได้รับสิทธิในการใช้สินค้าและบริการต่างๆ ตามข้อตกลงของผู้ออกโทเคนนั้นๆ 

 

สำหรับ Asset Tokenization เป็นการนำสินทรัพย์ต่างๆ ทั้งที่จับต้องได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ เครื่องประดับ งานศิลปะ และที่จับต้องไม่ได้ เช่น ตราสารหนี้ กองทรัสต์ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงิน มาแปลงให้กลายเป็นโทเคนดิจิทัลบน Blockchain โดยผูกกับมูลค่าของสินทรัพย์เพื่อใช้เป็นตัวแทนความเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นๆ

 

การแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคนดิจิทัลสามารถเพิ่มทางเลือกการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากพูดถึงการลงทุนแบบเดิม เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทรัสต์ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ จะมีกระบวนการการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์เพื่อเสนอขายแก่นักลงทุน (Securitization) ที่มีความซับซ้อนเรื่องกฎเกณฑ์ ใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการเข้าไปลงทุน 

 

แต่การทำ Tokenization ทำให้ผู้ออกโทเคนสามารถนำสินทรัพย์ชิ้นหนึ่งที่มีมูลค่าสูงมาแตกเป็นหน่วยลงทุนจำนวนมากได้ เพื่อกระจายไปตามสัดส่วนของผู้ลงทุน ทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ทำได้ง่ายขึ้น และช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับสินทรัพย์นั้นๆ มากขึ้นในเวลาต่อมา

 

นอกจากนี้โทเคนดิจิทัลสามารถเพิ่มความคล่องตัวในการดูแลสินทรัพย์ จากเดิมที่การทำธุรกรรมและสัญญาต่างๆ อยู่บนกระดาษเป็นหลัก อีกทั้งยังมีความปลอดภัยด้วยเช่นกัน เนื่องจากโทเคนดิจิทัลที่อยู่บน Blockchain มีการเข้ารหัสเฉพาะ ซึ่งเก็บข้อมูลจำเพาะและระบุเวลาที่ธุรกรรมต่างๆ เกิดขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นยังเพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรม โดยสามารถเข้าไปดูข้อมูลของการทำธุรกรรมได้ว่าผู้ซื้อสินทรัพย์เป็นใคร และใครเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นในอดีต 

 

มอง Business Model ในอนาคตของ Asset-Backed Token 

หากพูดถึงการสร้างรายได้จาก Asset-Backed Token นั้นคงเกิดขึ้นใหม่อีกหลายรูปแบบใน 1-3 ปี ข้างหน้า แต่โมเดลหลักที่มีความชัดเจนและน่าจะเห็นมากขึ้นในอนาคตอันใกล้อาจมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ การขายโทเคนในตลาดแลกเปลี่ยนโดยตรง (Direct Selling) และการแชร์กำไรของธุรกิจผ่านโทเคน (Profit Sharing Tokens) 

 

1. การขาย Token บน Exchange โดยตรง (Direct Selling)

การขายโทเคนโดยตรงส่วนมากจะเป็นการผูกไว้กับสินทรัพย์ที่อาจไม่มีสภาพคล่องมากนัก เช่น ภาพวาดหายากของปิกัสโซ ที่เมื่อผ่านการทำ Tokenization แล้วจะเกิดการกระจายความเป็นเจ้าของของสินทรัพย์นั้นๆ ผ่านโทเคน โดยเมื่อโทเคนขึ้นไปอยู่บนตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ยังสามารถถูกแบ่งออกเป็นหน่วยย่อยอีกมากมาย (Fractionalize) เพื่อกระจายสิทธิ์ของการเป็นเจ้าของไปยังรายย่อยมากๆ และเกิดการซื้อ-ขายเปลี่ยนมือกันเหมือนหุ้น ที่ราคาขึ้นอยู่กับมูลค่าของภาพวาดนั้น Fractionalization หรือการซอย Token ออกเป็นหน่วยย่อยๆ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายย่อยที่อาจไม่ได้มีทุนมากนักได้เข้ามาเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงมาก และมูลค่าของสินทรัพย์มีแนวโน้มจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงแม้จะถือครองเพียงเสี้ยวหนึ่งก็ตาม แต่อาจสร้างกำไรได้มากกว่าการลงทุนในหุ้นที่ตลาดผันผวนอยู่ในปัจจุบัน

 

กรณีศึกษาของ Tokenization แบบหน่วยย่อย (Fractionalization) นั้นมักผูกกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่อง (Illiquid) และมีมูลค่าสูง ทำให้คนทั่วไปหลายๆ คนเอื้อมไม่ถึง แต่มีเคสที่คลาสสิกเคสหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปได้เป็นถึงเจ้าของโรงแรมหรู St. Regis Aspen Resort ที่ถูก Tokenize โดย Elevated Returns (ER) กลุ่มบริษัทจัดการสินทรัพย์ชั้นนำจากสหรัฐฯ ผ่านการ ICO บน Indiegogo ในปี 2018 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนของวงการก็ว่าได้เลยทีเดียว โดยการออกโทเคนของ St. Regis Aspen Resort สามารถเพิ่มทุนได้ถึง 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นช่วงเดียวกับที่ ER ได้ประกาศเข้าถือหุ้น บลจ.ซีมิโก้ ซึ่งนับเป็นก้าวแรกในการรุกตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในเอเชีย

 

2. การแชร์กำไรของธุรกิจผ่านโทเคน (Profit Sharing Tokens) 

บางธุรกิจอาจเลือกแบ่งผลตอบแทนจากการเข้ามาลงทุนสนับสนุนธุรกิจในรูปแบบของโทเคน หลังธุรกิจสามารถทำกำไรได้ในอนาคต ด้วยการออก Participation Token ซึ่งเป็นโทเคนแสดงสิทธิการได้รับส่วนแบ่งกำไร ซึ่งนักลงทุนจะได้รับกำไรผ่าน Payout Token โดยโทเคนทั้งสองแบบสามารถซื้อขายได้บนตลาดแลกเปลี่ยน (Exchange) 

 

Tokenization ในลักษณะนี้ช่วยให้ธุรกิจสามารถระดมทุนได้อย่างรวดเร็วทั้งในและต่างประเทศ โดยไม่ต้องโอนความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ของธุรกิจให้นักลงทุน (Ownership Transfer of the Asset) ซึ่งนำไปปรับใช้ได้กับโปรเจกต์หลายขนาดและหลายรูปแบบ ตั้งแต่โปรเจกต์ขนาดเล็ก เช่น การออกโทเคนเพื่อระดมทุนสร้างแพลตฟอร์มเกม หรือโปรเจกต์เชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 

 

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น แม้สถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มมองหาโอกาสจากการทำ Asset Tokenization แต่จากประสบการณ์ของ Bluebik ในฐานะบริษัทคอนซัลต์ที่ได้ร่วมงานกับองค์กรขนาดใหญ่ในหลากหลายอุตสาหกรรม พบว่า ด้วยกฎเกณฑ์และข้อจำกัดทางกฎหมายในหลายด้าน การแสวงหาโอกาสธุรกิจจากโลกสินทรัพย์ดิจิทัลจำเป็นต้องวางกลยุทธ์อย่างรัดกุมและประเมินความพร้อมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ัชัดเจน การวาง Business Model ที่สอดคล้องกันและมีโอกาสเติบโตขึ้นอีกในอนาคต รวมถึงประเมินขีดความสามารถในปัจจุบัน และช่องว่างที่ต้องพิจารณาในการพัฒนาธุรกิจหรือเสาะหาพันธมิตรเพื่อส่งเสริมกันและกัน ตลอดจนขั้นตอนการรุกตลาดแบบ Step by Step ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากในการบริหารจัดการ

น่าสังเกตว่าภายในช่วงเวลาไม่กี่ปีนี้ เราได้เห็นการก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมการเงินอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปิดตลาดลงทุนให้กับภาคธุรกิจที่แต่เดิมนั้นเข้าถึงได้ยาก ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้นก็มาพร้อมกับความเสี่ยง ขณะที่ภาคธุรกิจและนักลงทุนเองยังไม่รู้เท่าทันมากพอ ดังนั้นก่อนก้าวเข้าไปสู่สิ่งใหม่ๆ ควรต้องศึกษา วิเคราะห์ และคิดวางแผนอย่างละเอียดเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตัดสินใจนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดอย่างแท้จริง 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising