วานนี้ (18 กุมภาพันธ์) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่าหลังจากที่ได้รับฟังคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรีตลอดสองวันที่ผ่านมา ว่าถึงเวลาแล้วที่สภานี้จะพูดกันจริงจังถึงเรื่องภาวะผู้นำของไทยในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นจึงมีข้อเสนอ 3 ข้อ และข้อซักถาม 3 ข้อไปยังนายกรัฐมนตรี และส่วนตัวมี 1 เรื่องที่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี คือเรื่องโลกใบใหม่ที่บ้านเมืองจะต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้ประชาชนติดโรคระบาดไปแล้วกว่า 420,000,000 คนทั่วโลก เนื่องจากส่งผลต่อเศรษฐกิจทำให้หลายประเทศต้องเปิดและปิด และทำให้ประเทศไทยต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจฟุบเฟ้อ หาสัญญาณของเศรษฐกิจฟื้นไม่เจอ ซึ่งปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และจะกระทบต่อราคาพลังงานคือปัญหาจาก NATO ซึ่งไม่นับรวมถึงเศรษฐกิจที่มีอัตราเงินเฟ้อจากทั่วโลก ไม่ว่าจะที่สหรัฐอเมริกา 7% ยุโรป 6% และที่ตุรกี 40% ทำให้ธนาคารกลางจะต้องหาแนวคิดให้เงินเฟ้อทุเลาลง นั่นก็คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้ภาระหนี้สินจากทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น
พิธากล่าวว่า ยังไม่นับรวมกับปัญหาสังคม ผู้สูงวัย ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาภัยพิบัติ และอีกต่างๆ มากมาย ซึ่งปัญหาเหล่านี้เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยที่ยังไม่ปรับตัวให้เข้ากับปัญหาในยุคดิจิทัลที่ประเทศไทยยังเป็นปัญหาแบบอะนาล็อก ประเทศไทยเต็มไปด้วยข้อจำกัด ทำธุรกิจยาก
ทุกอย่างมีต้นทุนและมีเส้นสาย และทุกลายเซ็นจากภาครัฐต้องมีค่าใช้จ่าย ทำให้ความโปร่งใสลดลง และมีคอร์รัปชันเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นที่มาของคำถามสำคัญจากประชาชน และจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือผู้นำในศตวรรษที่ 21 แบบไหนที่เราต้องการกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยต้องการผู้นำที่ทันสมัย ผู้นำที่ทันโลก และผู้นำที่เป็นสากล ผู้นำที่มีความกล้าหาญ และผู้นำที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาด ผู้นำที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุดคือผู้นำที่เห็นอกเห็นใจประชาชน ผู้นำที่เข้าใจถึงความเดือดร้อน และภาวะใจสลายของประชาชน และมีหัวใจที่เป็นประชาธิปไตย
“ผมไม่คิดว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของเรามีคุณลักษณะแบบนั้น ผมไม่เชื่อว่าท่านมีภาวะผู้นำที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 ได้”
พิธากล่าวด้วยว่า ปัญหาของ พล.อ. ประยุทธ์คือเป็นคนที่มองอะไรมองมุมเดียว มองแบบไม่มีบริบท เป็นคนที่พูดอะไรแล้วพูดคนเดียว พูดแบบไม่ต้องการให้คนอื่นตอบโต้ ซึ่งฟังได้จากการชี้แจงของนายกรัฐมนตรีตลอดทั้งสองวันที่ผ่านมา ตนนั่งฟังอยู่ด้วยความอดทน ที่นายกฯ ชี้แจงว่าประเทศไทยฟื้นตัวจากโควิดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นอันดับ 1 ของเอเชีย โดยท่านนายกฯ ได้นำข้อมูลเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ปี 2563 มาพูดในสภาวันนี้ นายกฯ ยังได้กล่าวถึงการส่งออกว่าในปี 2564 มีการส่งออกที่ดีขึ้นมาก ซึ่งเป็นข้อมูลที่นายกรัฐมนตรีนำมาจากปี 2563
เมื่อปี 2562 นายกรัฐมนตรีได้สัญญาว่าค่าแรงขั้นต่ำของพี่น้องแรงงานจะต้องอยู่ที่ 400-425 บาท และ 3 ปีผ่านมาค่าแรงของพี่น้องแรงงานยังอยู่ที่ 310-320 บาท และยังกล่าวว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านถือว่าสูงแล้ว ซึ่งไม่นับรวมที่สัญญากับผู้สูงอายุไว้เมื่อปี 2562 ด้วยเช่นกันว่า จะให้เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาทถ้วนหน้า และเคยออกมาแจ้งความคืบหน้าแล้วว่าได้ให้กระทรวงการคลังไปหาทางออกดูแล้วว่าจะเพิ่มเงินให้ผู้สูงอายุในประเทศได้อย่างไร 600 บาทต่อเดือน หารด้วย 30 คือ 20 บาทต่อวัน ผู้สูงอายุของเราอยู่ด้วย 7 บาทต่อมื้อ หากนายกรัฐมนตรีเห็นอกเห็นใจประชาชนจริงท่านก็จะทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ว่า จะสนับสนุนเงินเด็กเล็กอายุ 0-6 ขวบ 2,000 บาทต่อเดือน ที่ผู้ปกครองจะสามารถนำไปเติมอินเทอร์เน็ตให้บุตรหลานเรียนออนไลน์ได้ หรือนำไปซื้อชุดตรวจ ATK ที่จะต้องตรวจทุกเดือนเพื่อให้ลูกหลานกลับไปเรียนหนังสือได้
ปี 2562 ท่านยังได้หาเสียงไว้ว่าเงินเดือนคนหนุ่มสาวจะต้องได้รับ 18,000 บาทเป็นขั้นต่ำ ซึ่งตอนนี้อย่าว่าแต่เงินเดือน งานที่จะหาให้ก็ยังไม่มี และยังไม่รวมถึงคำพูดต่างๆ ของนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำประเทศ ที่เรียกว่า ‘คนพูดไม่จำ คนฟังไม่ลืม’
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของคำถามตามญัตติมาตรา 152 ต่อนายกรัฐมนตรีว่า เมื่อใดท่านจะทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้เมื่อปี 2562 และหากเหตุการณ์ของ NATO กำลังปะทุขึ้นในเร็ววันนี้ แต่ราคาน้ำมันและพลังงาน ข้าวโพด และข้าวสาลีที่เพิ่มสูงขึ้น นายกรัฐมนตรีคิดว่าราคาน้ำมันดีเซลของประเทศไทยจะขึ้นไปที่เท่าใด และจะใช้มาตรการใดในการดูแลราคาพลังงาน
“ถ้านายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำที่ปรับตัวได้ไวทันสมัยทันโลก คิดการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์ งบประมาณที่ผ่านมาจะไม่ออกมาหน้าตาเป็นเช่นนี้ ทุกวันนี้เรากำลังเผชิญกับโรคระบาดไม่ใช่สงคราม ดังนั้นเราต้องสร้างหมอไม่ใช่สร้างทหาร เราต้องซื้อเครื่องมือการแพทย์ ไม่ต้องการซื้อเครื่องมืออาวุธ 2 ปีที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีใช้ภาษีของประชาชนไปแล้วกว่า 7.5 ล้านล้านบาท”
พิธากล่าวอีกว่า อยากให้ท่านลองนึกถึงความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย เช่น จังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดหนองบัวลำภู ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแพทย์ 1 คน ดูแลประชากร 548 คน ที่บึงกาฬ แพทย์ 1 คนดูแลประชากร 6,303 คน ห่างกับ กทม. 11 เท่าเตียงต่อประชากรที่ กทม. 1 เตียง ดูแลคนไข้ 183 คน ที่หนองบัวลำภู 1 เตียง ดูแลคนไข้ 737 คน ห่างกับ กทม. 6 เท่า
จึงเป็นที่มาของคำถามที่สองคือ นายกรัฐมนตรีมีความคิดเห็นใดเกี่ยวกับบล็อกเชน จึงอยากจะฟังวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีว่าบล็อกเชนกับการบริหารบ้านเมืองมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร และท่านคิดว่าจะใช้อย่างไร
“ถ้า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำที่กล้าหาญ ท่านต้องกล้าชนกับอำนาจมืด ต้องกล้าชนกับปัญหายาเสพติดที่มีอยู่ในประเทศ”
คำถามที่สามคือ ในเอกสารที่ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ให้การเมื่อขอลี้ภัยกับประเทศออสเตรเลียเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ที่ 80,000 ชีวิตต่อปี และเฟื่องฟูมากที่สุดในยุคของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ. ประยุทธ์จันทร์โอชา จึงอยากจะขอฟังคำตอบจากนายกรัฐมนตรี ในการชี้แจงถึงข้อซักถามของ รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อของ พรรคก้าวไกล ว่านายกรัฐมนตรีมีความคิดเห็นเรื่องการค้ามนุษย์ภายในประเทศไทยอย่างไร และนายกรัฐมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ตามคำให้การของ พล.ต.ต. ปวีณ
ท้ายที่สุด พิธาได้ฝากวาระ 100 วันไปยังรัฐบาลในเรื่องแรกว่า จะต้องนำประเทศไทยกลับสู่สถานการณ์ปัจจุบันให้ได้ และจะต้องลดค่าใช้จ่ายเฉพาะหน้าของประชาชน และต้องทำให้ประชาชนเข้าถึง ATK ได้อย่างง่าย และการฉีดวัคซีนถึงเวลาแล้วที่จะต้องเข้าไปดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้สูงอายุที่จะต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ถึงบ้าน และต้องใช้เทคโนโลยีนำหน้าโควิด โดยใช้ลมหายใจตรวจจับโควิดที่รัฐบาลสิงคโปร์และเนเธอร์แลนด์ทำแล้ว หากรัฐบาลทำได้จะสามารถพลิกวิกฤตให้ทุเลาลง และจะสามารถเปลี่ยนจากเชิงรับไปเป็นเชิงรุกได้