×

วรรณวิภา อภิปรายซัด ‘ประยุทธ์’ บริหารล้มเหลว ค่าแรงถูก-ข้าวของแพงกระฉูดทั่วประเทศ แนะยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
17.02.2022
  • LOADING...
วรรณวิภา ไม้สน

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) วรรณวิภา ไม้สนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในประเด็นการบริหารวิกฤตเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ส่งผลให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น สวนกระแสกับค่าแรงของผู้ใช้แรงงานที่แทบไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยนับตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจมา 

 

“ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่โควิดระบาดระลอกแรกต้นปี 2563 จนถึงระลอกที่ 5 ในต้นปีนี้ หลายธุรกิจต้องปิดกิจการทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวร รวมถึงธุรกิจภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดตามมาตรการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจกลางคืน ร้านนวด ร้านบริการต่างๆ สถานการณ์นี้ทำให้มีคนตกงานเพิ่มมากขึ้น คนที่เคยเป็นแรงงานในระบบ เคยมีเงินเดือนใช้ทุกเดือน เคยมีสวัสดิการทั้งจากประกันสังคมและเจ้าของบริษัท ค่าแรงจะเฉลี่ยอยู่ที่ 12,000 บาทต่อเดือน กลับต้องหลุดออกจากระบบกลายเป็นคนที่ว่างงาน ต้องหันไปทำอาชีพอิสระที่ไม่มั่นคง อีกทั้งยังได้ค่าแรงน้อย สวัสดิการก็ไม่มี ในปี 2564 ที่ผ่านมา แรงงานอิสระมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 8,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น หากดูตามจำนวนผู้ประกันตนในมาตรา 33 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563-2564 จะเห็นได้ว่าแรงงานในระบบอย่างน้อย 600,000 คน ต้องออกจากระบบประกันสังคมและยังไม่สามารถกลับเข้าในระบบได้ แต่ท่านกลับบริหารงานโดยไม่ดูบริบทในประเทศ แล้วยังอ้างตัวเลขอัตราว่างงานว่ามีอยู่ 1-2%” 

 

วรรณวิภากล่าวต่อไปว่า ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขที่หลอกตัวเอง เพราะใช้นิยามการว่างงานว่า หากมีงานทำแค่ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไปก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีงานทำแล้ว ดังนั้นแม้แต่คนที่รับจ้างทำงานเกษตรสัปดาห์ละวันก็ถือว่าไม่เป็นผู้ที่ตกงาน หลักเกณฑ์นี้อาจใช้ในหลายประเทศทั่วโลก แต่ไม่ใช่ใช้เพียงดัชนีชี้วัดเดียวแล้วบอกเป็นนกแก้วนกขุนทองดังที่ พล.อ. ประยุทธ์ชี้แจงช่วงเช้าว่า ตัวเลขคนว่างงานน้อย รัฐบาลบริหารไม่บกพร่อง

 

“การยกมาเช่นนี้ทำให้ไม่เห็นภาวะที่แท้จริง หากคิดจากผู้ที่ทำงานต่ำกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน จำนวน 2,600,000 คน หรือคนที่ทำงานไม่ต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ที่ต้องการทำงานเพิ่มอีก 800,000 คน รวมแล้วมีแรงงานไทยที่ไม่มีความมั่นคงทางรายได้และไร้สวัสดิการอีกกว่า 4 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% ของแรงงานทั้งหมด”

 

วรรณวิภากล่าวต่อไปว่า สิ่งที่พวกเขาสูญเสียไม่ใช่แค่งานเท่านั้น แต่เขาต้องสูญเสียสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปด้วย ท่านจะรู้สึกอย่างไร หากท่านเคยอยู่ในฐานะผู้นำเป็นความหวัง เป็นที่พึ่งให้ครอบครัว แต่วันดีคืนดีต้องตกงานไร้ความมั่นคง หางานทำอย่างยากลำบาก ยิ่งหากตกงานในวัยชราแล้วไม่ต้องพูดถึง บางคนอาจจะต้องกลับไปตั้งต้นใช้ชีวิตที่บ้านเกิดกลายเป็นภาระครอบครัว เรื่องแบบนี้ทำให้หลายคนตกอยู่ในภาวะโรคซึมเศร้า 

 

“การตกงาน การไร้รัฐสวัสดิการ ก็คือหายนะของประชาชน แต่ความเลวร้ายไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ยังถูกซ้ำเติมจากวิกฤตราคาสินค้าที่สูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา สินค้าทยอยราคาขึ้นอย่างชัดเจน โดยรัฐบาลจะอ้างเป็นเรื่องกะทันหันไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ เพราะเรามีสัญญาณเตือนทางเศรษฐกิจมากมายตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว ไม่ว่าราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้น หรือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลต่อราคาสินค้าที่จะถีบตัวสูงขึ้น เท่ากับว่าเรามีเวลาเตรียมตัวหลายเดือนเพื่อหามาตรการรองรับค่าครองชีพ ทั้งการลดต้นทุน การผลิตของภาคเอกชน และการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน แต่เมื่อย้อนกลับไปดูมาตรการของรัฐบาลในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาพบว่า รัฐบาลใช้โครงการเฉพาะหน้าที่เน้นแจกเงิน แจกส่วนลดมาโดยตลอด ไม่มีประโยชน์ในระยะยาว รวมถึงมาตรการของนายกรัฐมนตรีที่เป็นตลกร้าย เช่น การให้ทหารปลูกผักชีช่วยประชาชน แนะนำให้เลี้ยงไก่ 2 ตัว เพื่อเก็บไข่ไว้กิน ล่าสุดหมูตาย หมูแพง ให้สร้างหมูขึ้นมาใหม่ ไม่รู้ว่าต้องการสื่ออะไร แต่คนฟังเขาไม่ตลกด้วย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่แพงขึ้น แพงขึ้น โดยเฉพาะคนจนที่ต้องจ่ายแพงกว่าเสมอ” วรรณวิภากล่าว

 

วรรณวิภากล่าวอีกว่า พวกเขาเหล่านั้นไม่มีบ้านหลวงอยู่ฟรีจึงต้องไปหาห้องเช่าถูกๆ ต้องเสียค่าน้ำค่าไฟคนละเรตราคากับไฟตามบ้านที่แพงกว่า แทบไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการใดของรัฐบาลที่ออกมาช่วยลดค่าน้ำค่าไฟช่วงโควิด ค่าแรงก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบันอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 336 บาท แต่ราคาอาหารตามสั่ง 50-60 บาท เมื่อเทียบกับในปี 2556 ที่ค่าแรง 300 บาท แต่อาหารตามสั่งไม่เกิน 30 บาท จะเห็นได้ว่าค่าครองชีพวิ่งแซงค่าแรงขั้นต่ำไปมาก จนอยู่ในระดับที่แทบจะเสมอตัว และต้องติดลบหากรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ 

 

ขณะนี้มีกลุ่มแรงงานที่ต้องการทวงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำจากรัฐบาลตามที่หาเสียง เนื่องจากตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เพิ่มค่าแรง 300 บาท จน พล.อ. ประยุทธ์ยึดอำนาจ มาจนถึงทุกวันนี้ค่าแรงถูกปรับขึ้นแบบเล็กน้อยมาก ล่าสุดปลายเดือนมกราคม สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงกับพี่น้องประชาชนว่า มีการปรับแน่นอน แต่ตัวเท่าไรยังไม่สามารถตอบได้ ซึ่งไม่รู้ว่าประชาชนจะต้องอดทนอีกนานแค่ไหน ท่ามวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ 

 

“จึงขอถามไปยัง สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่าเหตุใดจึงศึกษาถึงเรื่องค่าแรงช้านัก เพราะพรรคท่านก็ได้เสนอเอาไว้ และรัฐมนตรีเคยพูดเอาไว้ว่าการปรับขึ้นค่าแรง 492 บาทเป็นไปไม่ได้ เพราะสูงเกินไป กลัวว่าโรงงานจะปิดลง แต่รัฐบาลชุดนี้เคยมีนโยบายเกี่ยวกับค่าแรงที่หาเสียงเลือกตั้งไว้ในปี 2562 อย่าง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท เงินเดือนอาชีวะ 18,000 บาท ผ่านมา 3 ปี จนรัฐบาลใกล้หมดวาระ หรือจะยุบสภาเมื่อไรไม่รู้ ก็ยังไม่เคยเห็นสิ่งที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนในตอนหาเสียงสำเร็จแม้แต่ข้อเดียว หรือนี่เป็นเพียงสัญาเพียงลมปาก ลมลมแล้งๆ ที่เอาไว้หลอกประชาชนเท่านั้น จึงขอเสนอข้อเสนอรัฐบาลให้ขึ้นค่าแรงเพิ่มให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและสถานการณ์ปัจจุบัน และต้องปรับขึ้นค่าแรงตามที่ให้สัญญากับประชาชน หลังจากนั้นควรมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยพรรคก้าวไกลกำลังจะยื่นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพื่อผลักดันการเพิ่มค่าแรงและลดชั่วโมงในการทำงาน เพิ่มวันลาคลอด วันหยุดประจำสัปดาห์ และการไม่เลือกปฏิบัติในทุกมิติในสมัยประชุมนี้” วรรณวิภากล่าว

 

วรรณวิภายังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการรับอนุสัญญา ILO แปลกใจที่รัฐบาลไม่ยอมรับข้อที่ 87 และ 98 ทั้งที่เป็นหลักพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้แรงงานทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ เรื่องนี้ทำได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว นอกจากนี้รัฐต้องจัดสวัสดิการในการดูแลประชาชนให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพิ่มเงินเลี้ยงดูบุตรและบำนาญเพื่อให้มีสวัสดิการที่มั่นคง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตนมาพูดเรื่องนี้ แต่เคยพูดตั้งแต่วันแรกที่รัฐบาลแถลงนโยบายที่หอประชุมทีโอที จากวันนั้นจนถึงวันนี้มีอะไรที่พวกท่านทำตามคำพูดบ้าง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปจนทำไม่ได้ หากรัฐบาลจริงใจและคิดที่จะทำจริงๆ ไม่ใช่เอะอะก็อ้างปัญหาต่างๆ มากมาย 

 

“เราอยู่ในยุคมืดบอดที่ประชาชนต้องดิ้นรนเอารอดด้วยตัวเองมานาน จะหวังพึ่งรัฐบาลในแต่ละเรื่องต้องรออย่างไร้จุดหมาย อยู่มาจนจะยุบสภาอยู่แล้วก็ไม่เห็นว่ารัฐบาลจะทำตามนโยบายที่ได้เคยหาเสียงไว้ได้เลยสักเพียงข้อเดียว รัฐบาลไร้เสถียรภาพ แต่ประชาชนไร้อนาคต จะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ก็ต้องมาลุ้นกันยิ่งกว่าหวย หวยยังมีเจ้าแม่มาเดาทางให้ แต่รัฐบาลในวันนี้เราไม่สามารถเดาอะไรได้เลย หากท่านคิดว่าทำเต็มที่แล้วยังได้แค่นี้ก็ควรหยุดเพียงเท่านี้ เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถเข้ามาบริหารประเทศ หากจะอยู่กันเช่นนี้ควรจะพิจารณาตนเอง ไม่ไหวอย่าฝืน ยุบสภาและคืนอำนาจให้ประชาชน” วรรณวิภากล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising