×

ชุมนุม ‘ราษฎรประสงค์ ยกเลิก 112’ ชู 10 ปัญหาที่ต้องแก้กฎหมาย ประชาชนทยอยร่วมต่อเนื่อง

โดย THE STANDARD TEAM
31.10.2021
  • LOADING...
ราษฎรประสงค์ ยกเลิก 112

วันนี้ (31 ตุลาคม) กลุ่มราษฎรและเครือข่ายได้นัดหมายชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ภายใต้หัวข้อ ‘ราษฎรประสงค์ ยกเลิก 112’ โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมตั้งแต่ช่วงก่อนเวลานัดหมาย #ม็อบ31ตุลา64 ซึ่งวันนี้ผู้จัดงานได้แจ้งว่าจะมีการจัดกิจกรรมตั้งแต่เวลา 16.00-21.00 น. 

 

สำหรับบรรยากาศภายในพื้นที่มีกลุ่มต่างๆ เข้าร่วม อาทิ โครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน หรือ iLaw ที่มีการตั้งโต๊ะให้ประชาชนร่วมลงชื่อในการเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะเดียวกันมีการเปิดปราศรัยบนเวที ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องแก้กฎหมายมาตราดังกล่าว อาทิ เมนู-สุพิชฌาย์ ชัยลอม เยาวชนซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นต้น

 

ขณะที่ สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่มราษฎร เปิดเผยว่า ลูกแม่ถือว่าเป็นผู้ต้องหามาตรา 112 ที่ถูกคดีเป็นอันดับหนึ่ง การที่คนคนหนึ่งแสดงความคิดเห็น หรือ Free Speech ไม่ควรถูกปิดกั้น เป็นการแสดงความเห็นโดยสันติวิธี การลงโทษเด็กด้วยวิธีการแบบนี้ก็เหมือนการกดเด็ก แล้วใครจะกล้าแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาประเทศอีก

 

ขณะที่บนเวทียังมีการชี้ให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 10 ข้อ ดังนี้

 

  1. มาตรา 112 ใครแจ้งความก็ได้ เนื่องจากอยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเป็นผู้กล่าวโทษในคดีได้ และนำไปสู่การฟ้องกลั่นแกล้งกัน

 

  1. มาตรา 112 มีอัตราโทษสูง เนื่องจากกำหนดอัตราโทษจำคุกไว้ที่ 3-15 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษเดียวกับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา และมีโทษสูงสุดสูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาหลายเท่า

 

  1. มาตรา 112 ไม่มีชอบเขตชัดเจน เนื่องจากได้รวมทั้งการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย เข้ามาเป็นความผิดในมาตราเดียวกัน ทำให้ยากต่อการตีความขอบเขต

 

  1. มาตรา 112 ไม่คุ้มครองการติชมโดยสุจริต เนื่องจากไม่มีการคุ้มครองการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการติซมสุจริต หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งโดยหลักแล้วต้องได้รับการคุ้มครอง

 

  1. มาตรา 112 มีการบังคับใช้อย่างความกว้างขวาง เนื่องจากมาตรามีบทบัญญัติที่ไม่ได้ให้ขอบเขตที่ชัดเจน ทำให้เกิดการตีความบังคับใช้อย่างกว้างขวาง

 

  1. มาตรา 112 ทำให้เจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติ เนื่องจากอยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ ทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่กล้าปกป้องสิทธิผู้ต้องหา เช่น การให้สิทธิในการประกันตัว

 

  1. มาตรา 112 ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้ เนื่องจากจำเลยคดีมาตรา 112 จำนวนมากจะไม่ได้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาแล้ว การแสวงหาพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยมักเป็นไปได้ยาก และนำไปสู่ภาวะจำยอมรับสารภาพ

 

  1. มาตรา 112 มีโทษหนักเบาตามสถานการณ์การเมือง เนื่องจากเป็น ‘คดีนโยบาย’ ที่แปรผันตามผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งชัดต่อหลักการปกครองด้วยกฎหมาย หรือหลักนิติธรรม

 

  1. มาตรา 112 สร้างผลกระทบต่อสังคม เนื่องจากปัญหาของตัวบทและการบังคับใช้ได้นำไปสู่บรรยากาศการแห่งความกลัวในการใช้เสรีภาพในการแสดงออก

 

  1. มาตรา 112 สร้างผลกระทบต่อสถาบันฯ เนื่องจากปัญหาของตัวบทและการบังคับใช้ จึงส่งผลให้การวิพากษ์วิจารณ์หรือการติชมโดยสุจริตต่อสถาบันฯ ทำไม่ได้ หรือตรวจสอบไม่ได้

 

“ภาคประชาชนในนามกลุ่มราษฎร จึงมีความประสงค์ในการเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์และขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกมาตรา 112 เพื่อสร้างบรรทัดฐานสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยสากล โดยทางกลุ่มราษฎรจะใช้สิทธิตามรัฐรรมนูญ ทำกิจกรรมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หรือการลงลายมือชื่อของสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อสภา” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ

 

ราษฎรประสงค์ ยกเลิก 112 ราษฎรประสงค์ ยกเลิก 112 าษฎรประสงค์ ยกเลิก 112 ราษฎรประสงค์ ยกเลิก 112 ราษฎรประสงค์ ยกเลิก 112 ราษฎรประสงค์ ยกเลิก 112

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising