ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้ (27 มกราคม) โดยหลักแล้วเคลื่อนไหวไปในแดนลบ นำโดยดัชนี KOSPI เกาหลีใต้ -2.75%, ดัชนี Nikkei 225 ญี่ปุ่น -2.5%, ดัชนี Hang Seng ฮ่องกง -2.2%, ดัชนี China A50 จีน -0.6%, ดัชนี Taiwan Weighted ไต้หวัน -0.1% ส่วนตลาดหุ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ดัชนี PSEi Composite ฟิลิปปินส์ -0.3%, ดัชนี IDX Composite อินโดนีเซีย +0.3% ขณะที่ดัชนี SET ของไทย เปิดตลาดร่วงลงไปแตะระดับ 1,630 จุด ลดลงราว 13 จุด หรือ -0.8%
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า จากการแถลงหลังการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ระบุว่า เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นยังคงสูงกว่าเป้าหมายระยะยาวของ Fed ขณะที่ปัญหาซัพพลายเชนจะยังคงลากยาวต่อไปมากกว่าที่ประเมินกันไว้ก่อนหน้านี้
David Chao นักลงยุทธ์ฝั่งเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) ของ Invesco กล่าวว่า การแถลงข่าวครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาเป็นแบบตึงตัว
อย่างไรก็ตาม ประธาน Fed ไม่ได้ระบุแน่ชัดถึงขนาดและความถี่ของการขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงการลดขนาดงบดุล ซึ่งเป็นเหมือนการซื้อเวลาสำหรับการพิจารณาสถานการณ์ต่อไปอีกเล็กน้อย โดยเฉพาะการพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ซึ่งมีโอกาสจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ Fed ใช้นโยบายตึงตัวมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส มองว่า ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) วานนี้ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.25% เช่นเดิม ตามที่ตลาดคาด และได้ส่งสัญญาณถึงการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต คือ
- การปรับลดวงเงิน QE (QE Tapering) เน้นย้ำแผนเดิมว่าจะลดวงเงิน QE เดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้มาตรการ QE สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2022
- การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ตอกย้ำมุมมองของตลาดว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2022 ทว่า Fed ไม่ได้ระบุชัดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกี่ครั้งในปีนี้ แต่ถ้าอิงจากผลสำรวจของ Bloomberg พบว่าตลาดการเงินคาด Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำนวน 4 ครั้งในการประชุมเดือนมีนาคม, มิถุนายน, กันยายน และธันวาคม 2022 อย่างไรก็ตาม บางส่วนในตลาดเริ่มคาดการณ์กันว่า Fed อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้ง
- การปรับลดขนาดงบดุล (Balance Sheet Reduction) Fed ยังเน้นย้ำว่าจะเกิดขึ้นภายหลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกของปี 2022 แต่กลับยังไม่ระบุเวลาชัดเจนนัก แม้บางส่วนในตลาดมองว่าจะเป็นช่วงกลางปีนี้
โดยรวมแล้วสัญญาณของ Fed ยังเน้นไปในทิศทางนโยบายการเงินตึงตัว ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ปรับขึ้น โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเป็น 1.873% ทดสอบจุดสูงสุดในรอบ 2 ปี ขณะที่ Dollar Index แข็งค่า 0.56% สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปิดในแดนลบหลังทราบผลประชุม Fed
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP