ภาพการลงทุนทั่วโลกในเดือนที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า Global Pandemic COVID-19 หรือ การระบาดทั่วโลกอันเนื่องมาจากโควิดยังคงเป็นปัจจัยหลักทั่วโลก ตลาดหุ้นโลกในเดือนกรกฎาคมแกว่งตัวผันผวนแต่ยังมีทิศทางปรับตัวขึ้น โดย MSCI World Index ปรับตัวขึ้น 2.41% ตั้งแต่ต้นเดือนถึงปัจจุบัน (MTD) (ปิดที่ 3,089.818 จุด ณ วันที่ 29 กรกฎาคม) โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังคลายล็อกดาวน์และทยอยเปิดประเทศ แม้ยังคงมีการระบาดของโควิด แต่วัคซีนที่มีอยู่ยังสามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คงประมาณการเติบโตเศรษฐกิจโลกปีนี้ที่ 6.0% และปรับประมาณการเติบโตปีหน้าขึ้นเป็น 4.9% จาก 4.4% บนมุมมองเชิงบวกต่อแผนกระตุ้นด้านการคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ปัจจัยเกี่ยวกับโควิดให้ผลกระทบที่แตกต่างกันในแต่ละซีกโลก ดูได้จาก MSCI USA และ MSCI AC Europe ปรับตัวขึ้น 2.86% MTD และ 2.40% MTD ตามลำดับ ซึ่งได้ผลบวกจากการคลายล็อกดาวน์และทยอยเปิดประเทศ สวนทางกับ MSCI AC Asia ex Japan ที่ปรับตัวลง -6.71% MTD เนื่องจากการฉีดวัคซีนในเอเชียยังล่าช้า และเผชิญการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ทำให้หลายประเทศต้องกลับมาล็อกดาวน์แน่นขึ้นเพื่อไม่ให้ระบบสาธารณสุขล่ม เรื่อง Fed ก็เป็นไปตามคาด คือยังไม่ส่งสัญญาณเรื่องการปรับลด QE หรือเรื่องดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในการประชุมรอบเดือนกรกฎาคม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปีปรับตัวลง 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) เป็น 1.25% เพราะตลาดมองเงินเฟ้อชะลอตัวในครึ่งหลังปี 2021
ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) ยังทรงตัว MoM ในกรอบ 91-93 จุด ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องอีก 2.8%MoM เป็น 32.90 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่การฉีดวัคซีนของไทย (อย่างน้อย 1 เข็ม) อยู่ที่ 13.2 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 18.5% ของประชากร (ข้อมูล ณ 28 กรกฎาคม 2564) ทั้งนี้เนื่องจากวัคซีนหลักของไทยคือ Sinovac, Sinopharm และ AstraZeneca ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิด้อยกว่ากลุ่มวัคซีน mRNA ทำให้สัดส่วนการฉีดรวมอาจต้องสูงถึงระดับ 50-60% ถึงจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่จะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงหลังจากฉีดวัคซีนไป 30% ของจำนวนประชากร
ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในเดือนหน้าได้แก่ ประเด็น Fed เพื่อดูท่าทีเกี่ยวกับการปรับขนาดมาตร QE ในการประชุมที่ Jackson Hole ช่วงวันที่ 26-28 สิงหาคม หรือการประชุม FOMC ครั้งถัดไปช่วงวันที่ 21-22 กันยายน ก่อนประกาศผลการประชุมอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ผมคาดว่าจะยังคงนโยบายแบบเดิมไปก่อน แต่อาจจะมีพูดถึงปี 2022 บ้าง
ถัดมาคือเรื่องนโยบายของรัฐบาลจีนในการลดการผูกขาดของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่และคุ้มครองผู้บริโภคจากการถูกเอาเปรียบอีก 6 เดือนต่อจากนี้ ดูจากตัวเลขเศรษฐกิจและสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ในจีน ก็มีความเป็นไปได้ที่จีนอาจมีการผ่อนคลายมาตรการในด้านอื่นๆ เพื่อประคับประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจ
สำหรับประเด็นเรื่องทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยที่หลายผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในกลุ่มของพลังงาน ยังมีทิศทางการฟื้นตัวจาก Pent Up Demand หรือ Restocking จากการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และในเรื่องของภาวะคลาดแคลนในสินแร่บางประเภทเนื่องจากผลิตไม่ทัน ได้แก่ ถ่านหิน สินแร่เหล็ก ค่าระวางเรือ และราคาน้ำมัน เป็นต้น สุดท้ายคงไม่พ้นเรื่องความคืบหน้าของตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิต หลังการล็อกดาวน์เข้มขึ้น การ Roll-Out Vaccine เร่งตัวขึ้น และผมคาดหวังว่าจะมีการทยอยคลายล็อกดาวน์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังตัวเลขการฉีดวัคซีนสะสมมากกว่า 50% แต่มีความเสี่ยงที่ต่างจังหวัดอาจมีการล็อกดาวน์เข้มขึ้น เพราะจำนวนผู้ป่วยโควิดเร่งตัวขึ้น
จากปัจจัยทั้งหมด ผมยังให้มุมมองเชิงบวกต่อภาพการลงทุนในประเทศไทย เพราะมองว่าไทยน่าจะสามารถคลายล็อกดาวน์ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หลังตัวเลขผู้ป่วยหนักเริ่มลดลง อันเนื่องมาจากการได้รับวัคซีนเข็มแรกเกิน 50% ของประชากร
ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลน่าจะยังคงอยู่ในแนวโน้มทรงตัวไม่ปรับเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ต้องจับตามองผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินให้ดี เพราะการปรับประมาณการ GDP ปีนี้เหลือประมาณ 1% ทำให้นักวิเคราะห์บางกลุ่มคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ แต่ผมเองคิดว่ายังไม่น่าจะคิดกันไปถึงขนาดนั้น เพราะอัตราดอกเบี้ยฐานของเราก็ต่ำมาก และสภาวการณ์แบบนี้นโยบายการคลังน่าจะให้ผลที่ดีกว่านโยบายการเงิน รวมๆ แล้วการปรับพอร์ตรอบนี้ก็ยังคงอยู่ในโหมด Conservative อยู่ โดยมีการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ 30% ตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ลงทุนในตราสารทุน 45% แบ่งเป็น ไทย เอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ ในสัดส่วนเท่าๆ กัน Property Fund และ REIT 10%