สรุปการเคลื่อนไหวของ 10 สกุลเงินเอเชียในปี 2024 พบว่า ‘วอนเกาหลีใต้’ คว้าตำแหน่งสกุลเงินที่อ่อนค่าที่สุดในเอเชีย ส่วนในอีกด้านหนึ่งพบว่า ‘ริงกิตมาเลเซีย’ คือสกุลเงินที่แข็งค่าเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย ขณะที่ ‘เงินบาท’ ในสิ้นปี 2024 เคลื่อนไหวแทบจะใกล้เคียงหรือแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงต้นปี ที่ระดับ 34 บาทกว่าๆ ต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะเผชิญกับความผันผวนอย่างมากก็ตาม
แรงกดดันทางการเมืองในประเทศที่รุนแรงขึ้นในช่วงปลายปีนับเป็นปัจจัยกดดันให้ ‘วอนเกาหลีใต้’ อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 15 ปี ในช่วงเดือนธันวาคม โดยหลุด 1,486 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางแรงเทขายหุ้นเกาหลีใต้ของนักลงทุนสถาบันและต่างชาติ
ขณะที่ ‘ริงกิตมาเลเซีย’ กลายเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในภูมิภาคเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยน้ำหนักส่วนใหญ่อยู่ที่การคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในปี 2025 ท่ามกลางความต้องการสินค้าส่งออกและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของมาเลเซีย
บาท ‘ขึ้นรถไฟเหาะ’ ผันผวนหนักในปี 2024
แม้ว่า ‘เงินบาท’ ในสิ้นปี 2024 เคลื่อนไหวแทบจะใกล้เคียงหรือแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงต้นปี ตามข้อมูลจาก investing.com แสดงให้เห็นว่า ในวันที่ 1 มกราคม 2024 บาทอยู่ที่ระดับราว 34.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดปีที่ 34.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2024 นับว่าแข็งค่าขึ้น 0.98% ในช่วงเวลาดังกล่าว
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้บาทปิดปีกลับมาแข็งค่าเป็นผลมาจากอานิสงส์ของราคาทองคำในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นทำนิวไฮหลายครั้งระหว่างปี 2567 ช่วยประคองให้เงินบาทอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาเงินบาทเผชิญกับความผันผวนอย่างมาก ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยแสดงให้เห็นว่าเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในปี 2024 อยู่ที่ 32.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าสุดอยู่ที่ 37.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยความต่างห่างกันถึง 5.03 บาท สูงกว่าช่วงห่างในปี 2023 ที่ 4.67 บาท สะท้อนความผันผวนของการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่มากขึ้น
กราฟการเคลื่อนไหวของบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2024
SCB FM คาด กรอบปลายปีอยู่ที่ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
SCB FM มองว่าเงินบาทอาจยังอ่อนค่าต่อในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 แต่กลับมาแข็งค่าในช่วงครึ่งปีหลังจากหลายปัจจัย โดยมองกรอบปลายปีอยู่ที่ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจัยดันบาท ‘อ่อนค่า’ ต่อในครึ่งแรกปี 2025 โดยอาจแตะ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
- US Exceptionalism: เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่าเศรษฐกิจหลักอื่นๆ โดยเฉพาะยุโรป ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐจะยังแข็งค่า และเงินยูโรอาจยังอ่อนค่าต่อได้
- Trade Protectionism: ความเป็นไปได้ที่การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะกดดันเงินภูมิภาคต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงินหยวน ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจใช้ Executive Orders เพื่อขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าได้เร็ว
- Economic Fundamental: พื้นฐานเศรษฐกิจไทยและคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน ยังอาจอ่อนแอ
ปัจจัยดันบาท ‘แข็งค่า’ ในครึ่งหลังปี 2025
- การลดดอกเบี้ยของ Fed ทำให้ Treasury Yields และดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐปรับลดลงได้
- รัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น จากการลดภาษีและการใช้จ่ายที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอาจอ่อนค่าได้
- การไหลกลับของเงินทุนเคลื่อนย้ายสู่ตลาดเกิดใหม่ (EM) รวมถึงตลาดเชียและไทย
- ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มลดลงในปี 2025 ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยอาจสูงขึ้น
- ราคาทองคำอาจปรับสูงขึ้น สนับสนุนเงินบาทแข็ง
ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล