×

‘Asia Young Designer Awards 2020 (AYDA)’ เวทีค้นหานักออกแบบรุ่นใหม่ ที่เชื่อว่าหลายปัญหาแก้ได้ด้วย ‘การออกแบบ’ ในรูปแบบ ‘Human-Centred Design’ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
18.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • โครงการ Asia Young Designer Awards (AYDA) โดย นิปปอนเพนต์ จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 เพื่อจุดประกายให้นักศึกษาสถาปัตยกรรม (Architecture) และการออกแบบตกแต่งภายใน (Interior Design) เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลงานการออกแบบที่สามารถสร้างประโยชน์แก่สังคมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน
  • โจทย์ปีนี้ AYDA ชวนนักออกแบบรุ่นใหม่สร้างสรรค์งานออกแบบโดยคำนึงถึงมนุษย์ ผ่านการสร้างกระบวนการคิด สังเกตพฤติกรรม และเรียนรู้ในรายละเอียดอย่างใกล้ชิดร่วมกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างสรรค์งานออกแบบโดยใช้ประโยชน์จากดิจิทัลและเทคโนโลยี เพื่อวางรากฐานงานออกแบบที่ตอบสนองความต้องการ และแก้ไขปัญหาให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภายใต้หัวข้อ ‘FORWARD: Human-Centred Design’ 
  • ผู้ชนะจะได้เดินทางเข้าร่วมกิจกรรม Asia Young Designer Summit ในประเทศพันธมิตร เพื่อแข่งขันในระดับนานาชาติร่วมกับผู้ชนะจากอีกหลากหลายประเทศ เพื่อลุ้นคว้ารางวัลใหญ่ เข้าร่วมหลักสูตรพิเศษ Design Discovery Program ที่ Harvard’s Graduate School of Design สหรัฐอเมริกา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

แนวคิดเรื่องการออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก โดยสร้างกระบวนการคิด เรียนรู้ร่วมกับผู้ใช้งานอย่างใกล้ชิด เพื่อหาวิธีการนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง หรือที่เรียกว่า Human Centred Design นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่พอที่จะสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้คน ทว่าสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ กำลังทำให้ Human Centred Design ถูกนำกลับมาพูดถึงอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะในวงการออกแบบหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง ที่เริ่มตั้งคำถามว่า…วิถีการออกแบบ Human Centred Design ที่ดีนั้นจะสามารถ Forword ไปสู่ความยั่งยืนของทุกสรรพสิ่งรอบตัวได้หรือไม่? และนี่คือสิ่งที่ นิปปอนเพนต์ มุ่งมั่นพิสูจน์ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ว่า การออกแบบที่ดีย่อมสร้างประโยชน์แก่สังคมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน ผ่านการประกวดในโครงการ Asia Young Designer Awards 2020 (AYDA) ภายใต้หัวข้อ FORWARD: Human-Centred Design

 

นับตั้งแต่ปี 2551 นิปปอนเพนต์ จัดตั้งโครงการ  Asia Young Designer Awards (AYDA) เพื่อจุดประกายให้นักศึกษาสถาปัตยกรรม (Architecture) และการออกแบบตกแต่งภายใน (Interior Design) เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลงานการออกแบบ ที่สามารถสร้างประโยชน์แก่สังคมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน กระตุ้นจิตสำนึกในเรื่องการออกแบบที่คำนึงถึงผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมผ่านหัวข้อการประกวดที่แตกต่างกันในทุกปี 

 

ณรงค์ฤทธิ์ มาลัยนวล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

 

โจทย์ในปีนี้ ‘FORWARD: Human-Centred Design’ ตอกย้ำถึงแนวคิดของนิปปอนเพนต์ที่ต้องการผลักดันให้นักออกแบบรุ่นใหม่สร้างสรรค์งานออกแบบโดยคำนึงถึงมนุษย์ซึ่งคือผู้ใช้งานเป็นหลัก ณรงค์ฤทธิ์ มาลัยนวล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ยังบอกด้วยว่า เป้าหมายใหญ่ของนิปปอนเพนต์คือ ‘การยกระดับชีวิตผู้คนให้ดีขึ้น’

“ตั้งแต่ปีแรกๆ AYDA จะสอดแทรกเรื่องของ Sustainability Design มาโดยตลอด แต่ในปีนี้เราให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น เนื่องด้วยสถานการณ์ต่างๆ ของโลกที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่ปัญหาฝุ่น PM2.5 หรือการมาถึงของสังคมผู้สูงอายุ กระทั่งเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เราต้องหยิบเรื่อง Human Centric มาพูดกันอย่างจริงจัง

 

“เราเชื่ออย่างยิ่งว่า Human Centred Design จะช่วยให้สังคมและความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น ด้วยวิธีคิดของนักออกแบบที่นำหลากหลายปัจจัยมาพิจารณาประกอบกับบริบทหรือผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ โจทย์ปีนี้จึงทำหน้าที่เป็นแนวทางให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ในการก้าวเข้าสู่วงการออกแบบในอนาคต และยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN (SDGs) 4 ข้อ ได้แก่ เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ เป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน เป้าหมายที่ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน และเป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”  

 

อู๋-ภฤศธร สกุลไทย Design Director, PIA Interior Co., Ltd.


อู๋-ภฤศธร สกุลไทย Design Director, PIA Interior Co., Ltd. หนึ่งในกรรมการสาขาออกแบบตกแต่งภายใน กล่าวถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของปีนี้ว่า Asia Young Designer Awards 2020 (AYDA) เป็นอีกหนึ่งเวทีที่รวมไอเดียสดใหม่จากนักออกแบบรุ่นใหม่มากมาย ในฐานะที่ตัวเองคลุกคลีอยู่ในวงการนี้มานาน การได้เห็นไอเดียสดใหม่ มุมมองใหม่ๆ ของเด็กรุ่นใหม่ ภายใต้โจทย์ที่ท้าทายนั้นนับว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก “เป็นเรื่องดีนะที่เราจะได้เห็นว่าเด็กสมัยนี้กำลังคิดอะไรอยู่ มีไอเดียแบบไหน และโลกไปถึงไหนกันแล้ว เพราะพวกเขาคือ User ตัวจริง พวกเขารู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ และอะไรจะตอบโจทย์อนาคตและสังคมในแบบที่เขาอยากให้เป็น” 


ภฤศธร ยังพูดถึงโจทย์ปีนี้ FORWARD: Human-Centred Design ว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และอดตื่นเต้นไม่ได้ที่จะได้เห็นไอเดียสดใหม่ของเด็กรุ่นใหม่ “ผมชอบนะ เพราะเราไม่ได้พูดถึงแค่สิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้พูดถึง Object แต่กำลังพูดถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้นั่นคือ จิตใจมนุษย์ ความน่าสนใจคือผลงานมันสามารถออกแบบเป็นสเกลไหนก็ได้ หรือเป็นโปรดักต์ที่จับต้องไม่ได้ก็ได้ ในมุมของอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ก็สามารถออกแบบเมืองได้ สมมติออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งในบ้าน แต่พอมันไปตั้งใต้ทางด่วน มันก็อาจจะมี Context ในการใช้งานต่างกัน กลายเป็นเรื่องของสังคมและชุมชนมากขึ้น

“Human Centred Design คือการเล่นกับสเกลมนุษย์ สำหรับผมถือว่าโจทย์ปีนี้ไม่ง่าย เพราะมันมองได้หลายมิติ เป็นอะไรก็ได้ แต่การประกวดแบบนี้และการตั้งโจทย์แบบนี้ ผมคิดว่ามันส่งผลดีต่อวงการออกแบบแน่นอน ที่แน่ๆ คือการประกวดและโจทย์จะช่วยสร้างนักออกแบบที่มีคุณภาพ ผมมองว่านักออกแบบคือผลิตภัณฑ์ส่งออกระดับประเทศ เราต้องทำให้ทุกคนรู้ว่านักออกแบบไทยเจ๋ง

“อีกประเด็นคือโจทย์ในครั้งนี้มัน Good Timing นะ เพราะช่วงวิกฤตโควิด-19 เราได้อยู่กับตัวเองเยอะ เป็นช่วงที่ดีในการโยนปัญหาทุกอย่างมาแล้วสังคายนาประเทศไทยร่วมกัน เรากำลังจะต้องฟังเสียงของเด็กรุ่นใหม่ เพื่อเรียนรู้มุมมองจากเขา เขามองเห็นปัญหาอะไร และเขาอยากแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไร”  

 

จูน-ขวัญชนก หาญอุดมลาภ

 

เสียงของเด็กรุ่นใหม่อย่าง จูน-ขวัญชนก หาญอุดมลาภ นักศึกษาสาขาออกแบบตกแต่งภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของรางวัล Gold Winner 2019 สาขา Interior Design และผู้ชนะรางวัล Best Sustainable Design จากการแข่งขันระดับนานาชาติ Asia Young Designer Summit ด้วยผลงาน ทุ่งทวี ก็เชื่อว่าโจทย์ในปีนี้เป็นอะไรที่ท้าทายผู้สมัครอย่างมาก แต่ก็จะได้รับประสบการณ์ที่ดีด้วยเช่นกัน “จูนมองเรื่องของ Human Centred Design ในเชิงทดลอง เชิงสังเกตการณ์ นักออกแบบที่ดีจะต้องสังเกตพฤติกรรมมนุษย์ให้มากและลึก เรียนรู้บริบทการใช้งานของมนุษย์ ความรู้สึก ลงลึกไปว่าเพศนี้ วัยนี้อะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ มันอาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ ตั้งแต่อุปกรณ์ในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ แอปพลิเคชัน ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงผังเมืองเลยก็ได้ เป็นการขยับเล็กๆ แต่กระทบในวงกว้าง และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่”

แม้ว่ากรอบของ Human Centred Design จะสามารถตีความได้หลายมิติ แต่สิ่งที่นิปปอนเพนต์และคณะกรรมการอยากเห็นก็มีดีเทลที่น่าสนใจต่างกันในสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสถาปัตยกรรม (Architecture) ที่ไม่เพียงแต่ต้องออกแบบสถาปัตยกรรมที่เสนอโซลูชัน ตอบโจทย์ผู้คน สังคม และสภาพแวดล้อมที่สะท้อนความเป็นจริงในปัจจุบัน แต่ยังต้องแฝงไปด้วยนวัตกรรมที่ดึงดูดผู้คนให้มาใช้งาน และไม่ลืมที่จะสร้างอนาคตที่ดีแก่สังคม

 

ทางฝั่งของการออกแบบตกแต่งภายใน (Interior Design) ก็ต้องนำเสนอการออกแบบพื้นที่ภายในที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน มีนวัตกรรมใหม่ๆ มาเพิ่มคุณภาพชีวิต และต้องมีความสวยงามเข้ามาสร้างบรรยากาศเพิ่มความสุขให้กับผู้ใช้งานด้วย

 

 

ณรงค์ฤทธิ์ เสริมว่า นิปปอนเพนต์อยากเห็นไอเดียใหม่ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และช่วยยกระดับของการใช้ชีวิต และต้องเป็นไอเดียที่ต่างชาติเห็นแล้วต้องว้าว! ในการแข่งขันระดับนานาชาติ “เราอยากให้เด็กไทยได้รางวัลระดับเอเชีย สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย” 

เป็นธรรมเนียมสำหรับผู้ชนะการประกวดภายในประเทศ ที่จะได้เดินทางเข้าร่วมกิจกรรม Asia Young Designer Summit ในประเทศพันธมิตร เพื่อเปิดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แม้ในปีนี้การแข่งขันระดับนานาชาติต้องเปลี่ยนรูปแบบเพื่อตอบรับกับวิกฤตที่เกิดขึ้น แต่ จูน ขวัญชนก ก็ยังได้รับประสบการณ์ในการแข่งขันกับเพื่อนนานาชาติมากมายผ่านทางออนไลน์ พร้อมเผยถึงประสบการณ์อันมีค่าในฐานะรุ่นพี่เวที AYDA ว่า “การประกวดทำให้เรามองเห็นงานเพื่อนรุ่นเดียวกัน และมองย้อนกลับมาวิเคราะห์ตัวเองว่า จุดอ่อนของเราคืออะไร จุดแข็งคืออะไร ตอนนี้เราคิดอะไรอยู่ และคนอื่นกำลังคิดอะไรอยู่ เขาอยู่ไกลกว่าเราขนาดไหน ความกว้างทางความคิดของเขาไปถึงไหนแล้ว จะได้รู้ว่าต้องอัปเดตอะไรในชีวิตบ้าง และสิ่งที่หาจากที่ไหนไม่ได้จริงๆ คือ คอมเมนต์และการโค้ชชิ่งแบบใกล้ชิดมากๆ จากคณะกรรมการและนิปปอนเพนต์ ที่ช่วยให้เราพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น”  

 

รูปแบบการแข่งขันปีนี้ยังเหมือนเดิม โดยกรรมการจะคัดเลือกผลงานทั้งหมดให้เหลือเพียง 20 ผลงาน เพื่อค้นหาผู้ชนะตัวจริงในระดับประเทศ หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการโค้ชชิ่งแบบเข้มข้นจากคณะกรรมการและนิปปอนเพนต์ เพื่อเตรียมความพร้อมลงสนามแข่งในรอบการประกวดระดับนานาชาติ Asia Young Designer Summit ร่วมกับผู้ชนะจากอีกหลากหลายประเทศ โดยการประกวดระดับนานาชาติดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือของนิปปอนเพนต์แต่ละประเทศทั่วเอเชีย จนกลายเป็นเวทีการประกวดออกแบบระดับนานาชาติ ที่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศทั่วเอเชีย 

 

นอกจากนั้น ผู้ชนะในระดับเอเชียยังจะได้รับโอกาสเข้าร่วมหลักสูตรพิเศษ Design Discovery Program ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก Harvard’s Graduate School of Design ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 6 สัปดาห์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (มูลค่ากว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวมค่าเดินทาง ค่าอาหาร และที่พัก) อีกด้วย

 

 


โอกาสดีขนาดนี้ นักออกแบบรุ่นใหม่ที่สนใจอยากชิมลางเวทีนักออกแบบ Asia Young Designer Awards ดูบ้าง จูน ขวัญชนก ในฐานะรุ่นพี่ เจ้าของรางวัล Gold Winner 2019 ก็อยากฝากถึงรุ่นน้องว่า “ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม มองหาจุดเด่นให้เจอ และพรีเซนต์ออกมาให้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องพรีเซนต์งาน ต้องเตรียมตัวให้ดีเพราะเวลามีจำกัด จับจุดให้ได้ว่าคณะกรรมการอยากได้ยินอะไรในงานของเรา และพรีเซนต์ให้เขาเห็น”

 

อู๋ ภฤศธร คณะกรรมการสาขาออกแบบตกแต่งภายใน ก็อยากฝากถึงผู้สมัครว่า “ให้ศึกษาข้อมูลความรู้รอบตัวในหลากหลายมิติ ไม่ใช่แค่ศึกษาแต่ในวงการออกแบบ เพราะจริงๆ แล้วการออกแบบคือการหาโซลูชัน ยิ่งรู้กว้าง ยิ่งมีโอกาสเยอะ พรีเซนเทชันเองก็มีส่วนสำคัญ ปีนี้อาจต้องเตรียมตัวกันหนักหน่อย เพราะหากสถานการณ์เปลี่ยนไป ต้องปรับรูปแบบการนำเสนอให้พร้อมทั้งบนเวทีจริงและออนไลน์ หากเจอปัญหาจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร ถ้าต้องพรีเซนต์ออนไลน์เกิดติดขัดทางเทคนิคต้องทำอย่างไร หรือแม้แต่วิธีการพรีเซนต์เองก็ต้องน่าสนใจมากขึ้นด้วยเช่นกัน”

 

ในขณะที่ ณรงค์ฤทธิ์ ฝากถึงว่าที่นักออกแบบมือดีให้ดึงความช่างสังเกตในตัวออกมา และมองให้ไกลมากขึ้นจากคนรอบตัวไปสู่ปัญหาที่จะเกิดในอนาคต เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ที่จะก้าวไปเป็นนักออกแบบเต็มตัว ตระหนักรู้ และคำนึงถึงคนและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ กลายเป็นอีกหนึ่งพลังการเปลี่ยนแปลงและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยผ่านการประกวด Asia Young Designer Awards ต่อไป

 

นักออกแบบรุ่นใหม่ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.asiayoungdesignerawards-th.com
หรือติดตามรายละเอียดที่ Facebook: Asia Young Designer Awards Thailand
สมัครและส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2563 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising