ประเด็นเกี่ยวกับภาษีการขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax (FTT) ที่รัฐบาลมีแผนจะเรียกเก็บตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2566 ทำให้เกิดความกังวลว่าจะกระทบต่อปริมาณและมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า หากรัฐเก็บภาษีขายหุ้นในปี 2565 จะทำให้ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบ 5 ด้าน ได้แก่
- ภาระค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นสูงขึ้นถึง 64% ของค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันธุรกิจโบรกเกอร์มีค่าธรรมเนียมเฉลี่ย 0.086% หากมีการเก็บภาษีขายหุ้น 0.11% (ซึ่งเป็นอัตราการเรียกเก็บภาษีที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2534 แต่ก่อนค่าธรรมเนียมสูงกว่าปัจจุบันมาก) จะทำให้นักลงทุนมีภาระค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นถึง 64%
- ช่วงระยะเวลาในการขึ้นภาษีเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ตามกลไกช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นกดดันระดับ P/E ในการซื้อขายจะถูกลดทอนอยู่แล้ว หากขึ้นภาษีตอกย้ำให้สภาพคล่องในระบบลดลงอีก
- ช่วงระยะเวลาในการเก็บภาษีปีหน้าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วงภาวะถดถอย (Recession) หากมีการขึ้นภาษีเวลานี้ ทำให้เสน่ห์ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยลงไป
- นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้รับภาระค่าธรรมเนียมสูงกว่านักลงทุนในประเทศ เนื่องจาก ต่างชาติซื้อขายหุ้นไทย 8.40 ล้านล้านบาทในปีนี้ แต่มีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทย รวมทั้งส่วนของ NVDR เพียง 28.2% คิดเป็นมูลค่าตลาด 5.58 ล้านล้านบาท แสดงว่ามีอัตราหมุนเวียนในการซื้อขายสูงถึง 150% ต่างกับนักลงทุนไทยทั้งหมดซื้อขายหุ้นไทยต่อปีสูงกว่าต่างชาติเล็กน้อย 9.12 ล้านล้านบาท แต่มีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยสูงถึง 71.8% หรือ 14.2 ล้านล้านบาท
- สถิติในปี 2554-2565 (12 ปี) ชี้ให้เห็นว่าผลตอบแทนเฉลี่ยตลาดหุ้นไทยมักไม่ดีในช่วงที่สภาพคล่องซื้อขายต่ำ สะท้อนได้จากข้อมูล Histogram Turnover ของ SET เทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ยรายวัน พบว่า เวลาที่มูลค่าซื้อขายสูงกว่า +1SD ตลาดหุ้นมีโอกาสให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 18.3% แต่ถ้ามูลค่าซื้อขายอยู่ในระดับปกติ (ช่วง -1SD ถึง +1SD) ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะลดหลั่นลงมาเหลือ 5.6% ต่อปี แต่เวลาที่มูลค่าซื้อขายต่ำกว่า -1SD (Turnover 59.7% ต่อปี) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ -2.9%
ด้าน ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เรื่องของ Transaction Tax คงต้องรอดูความชัดเจนอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลอีกครั้งว่า ท้ายที่สุดจะเริ่มเก็บเมื่อใด และในอัตราเท่าใด
“ผมไม่คิดว่าเรื่อง Transaction Tax จะเป็นประเด็นในช่วงนี้ การลดลงของมูลค่าการซื้อขายไม่คิดว่าเป็นผลจากเรื่องภาษี เพราะยังไม่ได้เริ่มเก็บ ตอนนี้ Sentiment ทั้งในและต่างประเทศยังไม่ได้กลับมาปกติ และยังเป็นช่วงที่ใกล้จะถึงวันหยุดยาว”
ภากรกล่าวต่อว่า สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เสนอความเห็นต่อภาครัฐเกี่ยวกับกรณีการเก็บภาษีขายหุ้น แบ่งเป็น 3 แนวทาง ได้แก่
- อัตราการเก็บภาษีต้องเป็นอัตราที่เหมาะสมกับสถานการณ์
- การจัดเก็บต้องไม่ก่อให้เกิดการเก็บภาษีซ้ำซ้อน
- มีระยะเวลาให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวในส่วนของระบบในการดำเนินเรื่องดังกล่าว เพื่อให้การจัดเก็บภาษีและส่งให้ภาครัฐมีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด
สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อหุ้นไทยในปีหน้าคงต้องประเมินอีกครั้ง เพราะภาษีขายหุ้นเป็นแค่หนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดหุ้น แต่หากในปีหน้าสภาพเศรษฐกิจฟื้นตัว ดอกเบี้ยเริ่มลดลงจากการที่เงินเฟ้อที่ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมีมากขึ้น จะช่วยให้ผลกระทบจากเรื่องภาษีลดลง
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เปิดกลยุทธ์ลงทุนเดือนธันวาคม ‘เอเซีย พลัส’ แนะลุยหุ้น Domestic Consumption ดักทางเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีกว่าเศรษฐกิจโลก
- เอเซีย พลัส หวั่นจีน-สหรัฐฯ ล่มแผนเจรจาการค้า ระบุกระทบ GDP ไทย และอาจดึง SET ลง 10%
- ‘เอเซีย พลัส’ จับมือ FWD ยกระดับบริการด้านการลงทุนควบประกันชีวิต หวังเจาะลูกค้ากลุ่มเวลท์เพิ่ม